xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.กทม.ปชป.บุกทำเนียบ จี้จ่ายเยียวยาท่วม - มท.1 รับลูกเงินขั้นต่ำ ย้ำให้เกิน 2 หมื่นไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“กรณ์” นำทีม ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์บุกทำเนียบพบ “ยงยุทธ” จี้จ่ายเยียวยาท่วม แนะให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.กำหนดเงินขั้นต่ำ - มท.1 รับข้อเสนอ แต่ยันให้สูงกว่า 2 หมื่นไม่ได้ เชื่อเคลียร์คนกรุงได้ แต่ไม่ฟันธงหมดม็อบ อ้างบ้านติดกันได้ไม่เท่าเพราะเสียหายต่างกัน จ่อเปิดลงทะเบียนรอบสุดท้าย “แทนคุณ” ทวงสัญญาจ่ายดอนเมืองคนหลังบิ๊กแบ็กหลังละ 5 หมื่น


วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. คณะ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชน กทม.ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ในการให้อำนาจแก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อกำหนดอัตราขั้นต่ำในการจ่ายเงินเยียวยา รวมไปถึงการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายในส่วนเครื่องอุปโภคต่างๆเช่นเดียวกับประชาชนในจังหวัดอื่นๆ โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือกันราว 15 นาที

ทั้งนี้ ระหว่างการหารือ นายยงยุทธกล่าวว่า แนวทางการจ่ายเงินเยียวยาในทางกฎหมายระบุเพียงว่า บ้านเสียหายบางส่วนจ่ายจริงไม่เกิด 20,000 บาท ซึ่งการกำหนดอัตราขั้นต่ำก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรจะกำหนดขั้นสูงที่ 20,000 บาท เพราะเป็นไปไม่ได้ และประชาชนจะลุกฮือทั่วประเทศ โดยการกำหนดขั้นต่ำไว้นั้นก็มีความเป็นไปได้เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีหลักปฏิบัติ

ด้าน นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ขณะนี้มีปัญหาหนักใจ ที่เมื่อพ้นกำหนดการขยายระยะเวลารับเรื่องร้องเรียน 6 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งสุดท้ายก็เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 55 ที่มีผู้มายื่นเรื่องกว่า 22,000 ราย ทั้งที่หมดสิทธิ์ในการยื่นไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ใจดำ ซึ่งตนก็เห็นว่าพื้นที่ที่เป็นปัญหามีอยู่ 3 จังหวัด คือ กทม. ปทุมธานี และนนทบุรี

ขณะที่ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง กทม.กล่าวเสริมว่า ในส่วนของความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่หลังแนวบิ๊กแบ็ก ที่เป็นพื้นที่รับน้ำและมีการท่วมขังนานนั้น ได้ร้องเรียนมาว่าทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เคยรับปากในช่วงที่น้ำท่วมหนักว่า จะชดเชยเป็นกรณีพิเศษในอัตรา 40,000-50,000 บาทต่อครัวเรือน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย

จากนั้น นายยงยุทธให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า ยืนยันว่ารัฐบาลใส่ใจต่อความรู้สึกของคน กทม. เนื่องจากที่ผ่านมาคน กทม.อาจเกิดความรู้สึกว่ามีความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาล และ กทม.ที่มีการให้ข้อมูลแตกต่างกัน ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน และถูกมองเป็นเรื่องการเมือง เมื่อคณะ ส.ส.กทม.ได้มาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาถือเป็นเรื่องที่ดี มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ด้วย และเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจให้แก่คน กทม.ได้มากขึ้น ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาจะมีการลงรายละเอียดกันต่อไป แต่คงไม่ใช่การจ่ายค่าเยียวยา 20,000 บาทให้แก่ทุกครัวเรือน เพราะไม่สามารถทำได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อเท็จจริง เบื้องต้นจะเป็นการกำหนดอัตราขั้นต่ำในการจ่ายเงินเยียวยาที่ประมาณ 10,000 บาทจากอัตราสูงสุด 20,000 บาทมากกว่า

นายยงยุทธกล่าวด้วยว่า ข้อเรียกร้องของคณะนายกรณ์ คือ การขอให้ กทม.เป็นผู้ตัดสินใจจ่ายเงินเยียวยาในส่วนของความเสียหายของบ้านเรือนในอัตราขั้นต่ำ ซึ่งในความเป็นจริงกรรมการของ กทม.สามารถทำเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว อีกส่วนคือการเยียวยาในส่วนของสิ่งของ เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้สอยในบ้านที่เสียหาย ก็จะกำหนดกรอบในอัตราขั้นต่ำ เพื่อที่ทาง กทม.จะได้ทำงานต่อไปได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้ข้อสรุปแล้วจะไม่มีเหตุการณ์การปิดถนนของชาวบ้านอีกแล้วหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า คงไม่สามารถยืนยันได้ แต่ก็ได้มอบหมายให้นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิบูลย์ สงวนพงษ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ประสานงานในเรื่องความไม่เข้าใจต่างๆ เพื่อให้ผู้แทน กทม.สามารถิดต่อผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยได้ตลอดเวลา ในส่วนของการจ่ายเงินไม่เท่าเทียมกันในหลายกรณี อาทิ บ้านที่หลังติดกันได้รับเงินไม่เท่ากันนั้น ก็ต้องดูในข้อเท็จจริงด้วยว่า แม้บ้านอยู่ติดกัน แต่ความเสียหายและลักษณะแตกต่างกัน ก็ย่อมได้ค่าเยียวยาที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องดูเป็นรายกรณีไป

เมื่อถามถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาในส่วนของความเสียหายในปี 2554 นายยงยุทธกล่าวว่า จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้งเป็นรอบสุดท้าย เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ไม่เคยยื่นเรื่องเลย เพราะต้องยอมรับว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดความเสียหายในวงกว้าง จำนวนผู้เสียหายก็มีมาก สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยยื่นก็ขอให้ส่งเรื่องเข้ามา ส่วนจะได้รับการชดเชยเยียวยาจำนวนเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง คาดว่าจะกำหนดระยะเวลา 5 วัน แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ เป็นเพียงหลักการที่พูดคุยกันแล้วยอมรับกันได้

ด้าน นายกรณ์ได้กล่าวขอบคุณนายยงยุทธที่มารับเรื่องด้วยตนเอง และเปิดเผยว่า เป็นบรรยากาศในการร่วมกันแก้ปัญหาที่ดี สิ่งที่กลุ่ม ส.ส.กทม พรรคประชาธิปัตย์มานำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา โดยขอให้ทางรัฐบาลให้สิทธิ์แก่ผู้ว่าฯ กทม.อย่างชัดเจนที่จะกำหนดจำนวนเงินเยียวยาขั้นต่ำได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการถกเถียงกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับ กทม.ว่ามีอำนาจหรือไม่ รวมไปถึงในส่วนของการรับรองความเสียหาย ที่ถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าลงนามรับรอง เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานมากแล้ว ร่องรอยความเสียหายก็หายไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้การชดเชยเป็นธรรมจึงควรมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำโดยให้อำนาจแก่ทาง กทม. ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาความลักลั่นไม่เท่าเทียมกันต่างๆ ที่สำคัญยังเป็นการแก้ไขปัญหาความกดดันที่มีมายังรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ยังได้ขอสิทธิให้แก่คน กทม.ให้ได้เหมือนกับประชาชนในต่างจังหวัด ในเรื่องความเสียหายของเครื่องอุปโภคต่างๆ ที่จะได้รับประมาณ 5,000 บาทต่อครัวเรือน เช่นเดียวกับการขยายเวลาให้แก่ประชาชนมาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม เชื่อว่าทั้งหมดจะคลี่คลายความกังวลใจของประชาชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น