ศูนย์ข่าวภูมิภาค - ในหลวงทรงห่วงผู้ประสบอุทกภัยในจ.สุโขทัย ทรงพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือจำนวน 1,500 ครัวเรือน ขณะที่ตัวเมืองสุโขทัยเข้าสู่วิกฤต น้ำยมทะลักท่วมไม่หยุด ย่านกลางเมืองสูงกว่า 1 เมตร สถานที่ราชการจมบาดาล สั่งปิดเรียน เร่งขนบิ๊กแบ็กอุดรอยรั่วคันดินริมน้ำยมเต็มที่ แต่ยังไม่เป็นผล "ชาวกรุงเก่า" ครวญปีนี้มาเร็วกว่าวิกฤต 54 "ชาวลพบุรี" ผวาประตูน้ำบางโฉมศรีพัง กทม.แนะรัฐบาลยึดพระราชดำรัสในหลวงเร่งผันน้ำเหนือออก "ปู" ยกมือไหว้ขอโทษชาวท่าอิฐ ทวงเงินช่วยเหลือน้ำท่วม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดหน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่ออกไปช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในท้องที่ จ.สุโขทัย ตามที่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2555 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย เทศบาลตำบลสุโขทัยธานี ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลกระทบให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบให้ นายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ประจำจังหวัดสุโขทัย เดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ จำนวน 1,500 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าสิ่งของพระราชทานทั้งสิ้น 760,849.55 บาท ซึ่งกำหนดการมอบสิ่งของพระราชทานในวันนี้(11 ก.ย.) ณ ศาลาการเปรียญวัดราชธานี เขตอำเภอเมือง 500 ครอบครัว ณ ลานเอนกประสงค์ อยู่ตรงข้ามร้านอาหารไม้กลางกรุง 500 ครอบครัว และบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัย 500 ครอบครัว
***วิกฤตหนักสุโขทัยจมบาดาล
รายงานข่าวจากจังหวัดสุโขทัยแจ้งว่า ตั้งแต่คืนที่ผ่านมา (9 ก.ย.) หลังกระแสน้ำยมได้กัดเซาะใต้พนังกั้นน้ำบริเวณตลาดสดริมแม่น้ำยมจนเป็นโพรงขนาดใหญ่ ทำให้มวลน้ำจำนวนมากไหลทะลักเข้าท่วมตลาดสดเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย สร้างความเสียหายแก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และห้างร้านในตลาดสดจำนวนมาก คาดเบื้องต้นเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำ ยังได้แผ่ขยายวงกว้างเข้าท่วมในพื้นที่ทั้ง 7 ชุมชนของเขตเทศบาลด้วย ขณะที่หลายหน่วยงานในจังหวัดได้ช่วยกันเร่งกู้สถานการณ์วิกฤตในพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน โดยนำบิ๊กแบ็คไปอุดกั้นบริเวณที่ถูกน้ำยมกัดเซาะ แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ส่วนห้างร้านต่างๆ ในตลาดเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ก็ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร และถนนหลายสายในตัวเมืองต้องกลายเป็นอัมพาต ขณะที่โรงเรียนที่อยู่ในเขตเทศบาลจำนวน 5 แห่ง คือ โรงเรียนอุดมดรุณี โรงเรียนวัดไทยชุมพล โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ โรงเรียนกวางตง และโรงเรียนสายธรรม ได้สั่งหยุดการเรียนชั่วคราวแล้ว
สำหรับที่ชุมชนวิเชียรจำนงค์ ชุมชนราชธานี ชุมชนประชาร่วมใจ ชุมชนคลองตาเพชร ชุมชนพระแม่ย่า และชุมชนตาลเดี่ยว ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะน้ำยมที่ไหลบ่าเข้าไปท่วมมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา
นอกจากนี้ สถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง เช่น ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย สำนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย ที่ว่าการอำเภอเมืองสุโขทัย และสำนักงานเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ก็ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม.แล้วเช่นกัน
**ขนบิ๊กแบ็คอุดคันดินริมยม
รายงานข่าวจากจังหวัดสุโขทัยด้วยว่า ตลอดทั้งวันวานนี้ หลายหน่วยงานได้ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ที่ถูกน้ำท่วมบ้านเรือน รวมทั้งบริษัท ร้านค้า จนเสียหายย่อยยับ เพราะไม่สามารถขนของหนีน้ำได้ทัน ขณะที่ระดับน้ำยังคงท่วมสูงต่อเนื่อง โดยจุดวิกฤตที่สุดอยู่ที่บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงจำเป็นต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย
นายพิเชฐ ไทยกล้า นายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี กล่าวว่า ตอนนี้ทางเทศบาลฯรวมทั้ง อบจ.สุโขทัย และแขวงการทางต่างได้เร่งนำบิ๊กแบ็คเข้าไปอุดตรงบริเวณที่น้ำทะลักเข้ามาให้ได้ ซึ่งหากคุมสถานการณ์ตรงนี้ได้ก็จะเร่งสูบน้ำที่ท่วมตัวเมืองให้ระบายออกไปโดยเร็ว
ด้านเจ้าหน้าที่จากจังหวัดทหารบกพิษณุโลก รวมทั้ง ตชด.สุโขทัย ป้องกันจังหวัดฯ นักศึกษาวิทยาลัยพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย และอีกหลายหน่วยงาน ต่างได้เร่งเข้าไปช่วยขนย้ายทรัพย์สินของประชาชน นำมาไว้ยังที่ปลอดภัย พร้อมได้มีการจัดรถรับส่ง และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่วัดราชธานี
นางนิสารัตน์ คลี่ใบ อายุ 50 ปี แม่ค้าตลาดสดเทศบาลฯ เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ มาเร็วมากจนเตรียมตัวไม่ทัน พอมีการประกาศแจ้งเตือนภัย ก็มองเห็นน้ำทะลักเข้ามาแล้วและเพียง 1 ชั่วโมง น้ำก็ท่วมเต็มตลาดสด ส่วนของโชห่วยในร้านของตัวเองก็จมน้ำเสียหายหมดกว่า 200,000 บาท
**ชาวกรุงเก่าโอดน้ำมาเร็วกว่าปี 54
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกประกาศเตือนพื้นที่ 6 อำเภอริมแม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อ.บางบาล ผักไห่ เสนา พระนครศรีอยุธยา บางไทร และบางปะอิน ให้เก็บสิ่งของที่อยู่ใต้ถุนบ้านขึ้นที่สูง เนื่องจากได้รับรายงานจากชลประทานว่าได้มีการระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นจากเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณมากขึ้น จึงต้องเร่งระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปริมาณน้ำขณะนี้ยังไม่กระทบมากนัก แต่อาจจะทำให้น้ำล้นตลิ่งในอำเภอที่กล่าวมาแล้ว
ด้านชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำที่ในพื้นที่ ต.บางหลวง อ.บางบาล หลังจากระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นกว่า 50 ซม.ในคืนเดียวส่งผลให้แม่น้ำน้อยสูงขึ้นตาม และทะลักเข้าคลองบางหลวง อ.บางบาล ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ต.บางหลวง อ.บางบาล อย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเก็บข้าวของได้ทัน กล่าวว่า ตนไม่เคยเห็นน้ำท่วมรวดเร็วอย่างนี้มาก่อน ปี 54 ที่ผ่านมา แม้น้ำจะมาก แต่ก็ขยับตัวขึ้นที่ละเล็กละน้อยเท่านั้น แต่มาปีนี้คืนเดียวขึ้นสูงกว่า 50 ซม.ทำให้ชาวบ้านเตรียมตัวไม่ทัน ข้าวของจมน้ำเสียหายเป็นจำนวนมาก
นายธงชัย ฉันธใบดิษฐ์ อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 11 หมู่ 8 ต.บางหัก อ.บางบาล เปิดเผยว่า แม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้วิกฤตหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา ไหลทะลักเข้าท่วมคลองบางหลวง ระดับน้ำขึ้นสูงเร็วมากไม่เคยมีปรากฏการณ์มาก่อน ชั่วโมงละ 10 ซม.ตั้งแต่เมื่อคืนทะลักเข้าท่วมถนนเส้นเข้าออกหมู่บ้าน จนรถเล็กไม่สามารถวิ่งเข้าออกได้เป็นบางช่วง ส่วนกล้วยหอม กล้วยไข่ นับร้อยไร่ที่ปลูกไว้กฌจมน้ำแล้ว
สำหรับภาพรวมทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า มี 3 อำเภอที่ถูกน้ำท่วมแล้วระดับน้ำอยู่ที่ 50-70 ซม.มี อ.ผักไห่ เสนา และ อ.บางบาล
**กรมศิลปากรตั้งบังเกอร์ป้องวัดไชยฯ
ขณะที่วัดไชยวัฒนาราม อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา โบราณสถานสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้นเหลืออีกเพียงไม่ถึง 1 เมตร ระดับน้ำก็จะเสมอตลิ่งวัดไชยแล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เตรียมการยกแนวเขื่อนน๊อคดาวขึ้น เพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมวัดไชย
นายสหภูมิ ภูมิฐิติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ระดับน้ำขณะนี้ยังต่ำกว่าพื้นวัดไชยวัฒนารามประมาณ 1 เมตรเศษ แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงได้ทำการตั้งบังเกอร์ เชื่อว่าสามารถป้องกันได้อย่างแน่นอน โดยในปีที่ผ่านมาน้ำทะลักเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นแนวคันป้องกัน ปีนี้ใช้ดินถมเป็นกำแพง และมีการเสริมฐานล่างโบราณสถาน ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วง
**"โผงเผง"เมืองอ่างท่วมแล้ว30หลัง
ด้านสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งริมคลองโผงเผง คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ที่ 6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ได้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 30 ครอบครัว ต้องเร่งขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงอย่างเร่งด่วน หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 30 หลังคาเรือน สูงเฉลี่ยที่ 60-80 ซม. ทั้งนี้ ในพื้นที่นี้น้ำเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.หลังเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่องที่ 2,000 ลบ/ม.ต่อวินาที ส่งผลระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยระดับน้ำอยู่ที่ 6.46 เมตร/รทก.จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อเขตอำเภอเมืองอ่างทองแล้ว
**ชาวลพบุรีผวาประตูน้ำบางโฉมศรีพัง
ด้านชาวบ้านในเขตท้องน้ำบางขาม อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ต่างหวาดหวั่นว่าจะเกิดน้ำท่วมอย่างปีที่ผ่านมา โดยนายอานุภาพ วงษ์สิทธิชัย นายก อบต.มหาสอน อ.บ้านหมี่ กล่าวว่า ปีนี้ยังหวั่นว่าน้ำจะท่วมอีก แต่คงไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา จากน้ำท่วมจนน้ำลดปัจจุบันชาวบ้านยังไม่ฟื้นตัว บ้านเรือนยังซ่อมไม่เสร็จ การประกอบอาชีพของราษฎรยังไม่เข้าที่ หากท่วมอีกหมดเนื้อหมดตัวตามๆกัน
นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ตัวแทนเครืองข่าย อปท.ลพบุรี กล่าวว่า น้ำท่วมปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างมาก มองเห็นความคืบหน้าการซ่อมประตูน้ำบางโฉมศรีบางส่วน หากจะถามว่ามั่นใจหรือไม่ ตนบอกได้เลยว่ากังวลมาก ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลเร่งทำประตูน้ำรับน้ำที่จะมาให้เสร็จ ส่วนอีกเรื่องฝากรัฐบาลนอกจากบางโฉมศรีแล้ว เลยขึ้นไปทางเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เป็นจุดผันน้ำเข้าถนนที่ตำบลตลุก ยาวกว่า 10 ก.ม.เป็นรอยแตก ยังไม่มีการซ่อมหวั่นน้ำมาพังจะทะลักเข้าบ้านหมี่
นายไพบูลย์ ทินมณี ผอ.ส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค กล่าวถึงน้ำในคลององชัยนาท-ป่าสักว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองชัยนานทา-ป่าสัก106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำในคลองชัยนาท -ป่าสัก ยังอยู่ในระดับที่ปกติแม้ว่าฝนจะตกลงมา ทางโครงการ ได้วางแผนการผันน้ำร่วมกับโครงการส่งน้ำโคกกะเทียม ส่วนทางบางโฉมศรี หากมีน้ำมา ทางช่องแค คงลำบากต้องหาทางแก้ไข
นายนพพร ชัยพิชิต ผอ.สำนักชลประทานที่ 10 กล่าวถึงเรื่องการซ่อมคันกั้นน้ำที่ประตูน้ำบางโฉมศรี อินทร์บุรีที่พังว่า ได้ทำการซ่อมฟื้นฟูความเสียหาย จากที่พังในปีที่ผ่านมาเสร็จแล้ว และบางช่องมีการฝังชีพพายลงไปในดินเพื่อป้องกันการพังเมื่อมีกระแสน้ำมาแรงเป็นการป้องกันคอสะพานที่เคยขาด ปีนี้คาดว่าน้ำไม่เข้ามาท่วมอีกแน่ โดยเฉพาะคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทำการซ่อมแซมเสร็จแล้ว
ส่วนที่ทำไซฟ่อนที่ประตูน้ำบางโฉมศรีนั้นเป็นการทำไซฟ่อนลอดคลองชัยนาท - อยุธยางานเสร็จไปแล้วประมาณ 25 % งานก่อสร้างไซฟ่อน เป็นการก่อสร้างของสำนักงานก่อสร้าง 9 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สำหรับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ธิสามารถเก็บได้อีกกว่า 60 กว่า % และปีนี้คาดว่าน้ำในเขื่อนภูมิพล จะสามรถเก็บกักไว้ได้ถึง 70 กว่า %
**"ธีระชน"แนะยึดพระราชดำรัสเร่งผันน้ำ
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอยากให้รัฐบาลเร่งผันน้ำเข้าฟลัดเวย์ทางด้านตะวันออกตั้งแต่คลอง 8-13 และต้องเร่งสูบน้ำบริเวณชายทะเลให้แห้ง เพื่อที่จะได้ดึงน้ำจากคลอง 8-13 ออกทะเล ซึ่งหากดำเนินการได้ดังนี้จะทำให้น้ำไม่ท่วมสมุทรปราการ กทม. ปทุมธานี เพราะน้ำจะส่งต่อกันจนออกทะเลที่สมุทราปราการ และที่สำคัญน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่อยุธยา
"อยากให้ยึดตามแนวทางพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับสั่งให้ผันน้ำเข้าฟลัดเวย์ทางด้านตะวันออก อย่าผันน้ำผ่านคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ คลองบางนา คลองสำโรง เพราะไม่ควรรับน้ำจากอยุธยา เนื่องจากจะทำให้น้ำท่วมพระนคร และระบบระบายน้ำของกทม.รับเฉพาะน้ำฝนเท่านั้น ซึ่งในคืนวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำฝนถึง 145 มิลลิเมตร คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำฝนทั้งปีกทม.ก็สามารถบริหารจัดการได้ แต่น้ำเหนือนั้นกทม.ไม่ควรรับ ที่รับเมื่อปีที่แล้วเพราะเกิดวิกฤติกทม.จีงยอมให้น้ำผ่านได้"
**"ปู"รับปากชาวท่าอิฐเงินเยียวยาครบ
วานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ไปเป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานเทศบาลนครนนทบุรีหลังใหม่ ณ ที่ทำการเทศบาลนนทบุรี โดยช่วงเวลา 08.00 น.ได้มีกลุ่มชาวบ้านจาก ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด กว่า 10 หมู่บ้านเข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯ เพื่อเรียกร้องเงินเยียวยา ซ่อมบ้านเรือนหลังประสบอุทกภัยปี 54 อย่างไรก็ตาม นายฉลอง เรี่ยวแรง ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เข้าเจรจาในเบื้องต้น พร้อมประสานให้นายกฯ เดินทางเข้าพบกับกลุ่มชาวบ้านดังกล่าว
โดยก่อนเดินทางกลับมาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบฯ นายกฯ ได้เดินไปพบกับกลุ่มชาวบ้านที่ยืนรอบริเวณด้านหน้าอาคารเทศบาล เพื่อรับข้อร้องเรียนด้วยตนเอง นำโดยนายประสาน หวั่นกระมา กล่าวกับนายกฯว่า กลุ่มชาวบ้านที่มาเป็นพวกที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่มีใครนำมา จึงอยากถามนายกฯว่า เงินเยียวยาซ่อมบ้านพวกเราจะได้กันหรือไม่ และอยากให้นายกฯรับปากว่าจะได้เงินเมื่อไหร่ เพราะถูกหลอกมาหลายครั้งแล้ว
ขณะที่นายกฯ ได้รับฟังปัญหาแล้วจึงยกมือไหว้และกล่าวขอโทษกลุ่มชาวบ้านที่รัฐบาลดูแลเยียวยาประชาชนไม่ทั่วถึง ซึ่งอาจจะมีการตกหล่นเรื่องข้อมูล แต่ตอนนี้เราได้รับเรื่องทั้งหมดแล้ว ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงทุกคนที่ยื่นเรื่องกับทางจังหวัด และจังหวัดรับเรื่องแล้วจะได้รับเงินทั้งหมด โดยรับปากว่าจะเร่งให้เร็วที่สุด และจะมอบหมายให้ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ เป็นผู้ประสานกับผู้ว่าฯ ในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา.