xs
xsm
sm
md
lg

ปิดม.อีสาน มีผล31ต.ค.นี้ "อัษฎางค์"ดิ้นสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“สุชาติ”เซ็นคำสั่งปิด ม.อีสาน มีผล 31 ต.ค.นี้ เตรียมหาที่เรียนใหม่ให้นักศึกษากว่า 8,500 คน ป.ตรี ไม่น่ามีปัญหา แต่ ป.โท ยังเคว้าง "อัษฎางค์"จ่อฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) แล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.2555 ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการควบคุม มอส. ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) แล้ว

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) ในฐานะคณะกรรมการควบคุม มอส. กล่าวว่า เหตุผลที่เสนอให้การเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.2555 เป็นต้นไป เพื่อให้นักศึกษาที่ใกล้จบในเทอมนี้ มีเวลาเรียนจนครบ และสภามหาวิทยาลัย มีเวลาอนุมัติผู้จบการศึกษา

ปัจจุบันมีนักศึกษาที่ยังไม่จบการศึกษา และได้มายืนยันตัวตนตามที่สำนักทะเบียนและประมวลผลแจ้งจำนวน 8,565 คน แบ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ประมาณ 2,000 กว่าคน ที่เหลือเป็นนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานักศึกษาเหล่านี้ จะต้องมาดูรายละเอียด โดยนักศึกษา ป.ตรี ที่ยังเรียนไม่ครบ ก็จะให้ไปเรียนให้จบในหลักสูตรเดิมที่เรียน แต่ต้องย้ายไปเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น ที่ทางคณะกรรมการควบคุมฯ ได้ประสานไว้แล้วหลายแห่ง

สำหรับนักศึกษา ป.โท ต้องมาแยกรายละเอียด ซึ่งอาจจะกำลังทำวิทยานิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ หรือรอสอบประมวลความรู้ อาจต้องมีการโอนย้ายอาจารย์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานไปยังมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอื่น พร้อมๆ กับนักศึกษา จนสำเร็จการศึกษา โดยให้รับเงินเดือนและค่าจ้างจากทรัพย์สินของ มอส. หรือกลุ่มนักศึกษา ป.โท ที่ต้องเรียนบางรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่งมีจำนวนน้อย อาจจัดการเรียนการสอนแบบ block course เพื่อให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาก่อนระยะเวลาสูงสุดที่กฎหมายกำหนด โดยใช้เงินของ มอส.จัดสอนเป็นกรณีพิเศษ

รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อนักศึกษาต้องย้ายไปเรียนที่อื่น ซึ่งขณะนี้ มอส. ยังพอมีทรัพย์สินเหลืออยู่ คณะกรรมการควบคุมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารทำแผน บริหารจัดการ ซึ่งหากเงินที่เหลืออยู่ไม่พอดำเนินการก็จำเป็นต้องจำหน่ายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่เหลืออยู่เพื่อนำมาบริหารจัดการให้เพียงพอ และคืนส่วนที่เหลือทั้งหมดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง ส่วนนักศึกษาที่ไม่ประสงค์จะศึกษาต่อ ก็จะมีการคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาที่นักศึกษาจ่ายเข้าระบบการเงินของสำนักการเงินและบัญชีที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน จะจัดให้มีสำนักงานชั่วคราวเพื่อดูแลทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย นักศึกษา อาจารย์ และผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบภายใต้กำกับดูแลของ สกอ.

“หากผู้รับใบอนุญาตฯ เห็นว่า คำสั่งเพิกถอนดังกล่าวไม่เป็นธรรม ก็สามารถฟ้องศาลปกครองได้ตามสิทธิ ซึ่งศาลปกครองคงต้องพิจารณาตามเหตุผล โดยที่ผ่านมาทางคณะกรรมการควบคุมฯ เอง ก็พยายามแล้ว แต่เมื่อมาถึงที่สุด ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มาก และคิดว่าหากปล่อยทิ้งไว้ นักศึกษาจะได้รับการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ โดยหลังจากเพิกถอนแล้ว ถ้าผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งจะพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น และเปิดทำการเรียนการสอนใหม่ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นว่า หากยังจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพตามที่กำหนด ก็ขอให้เร่งพัฒนา ปรับปรุงการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาในระยะยาวได้” รศ.นพ.กำจร กล่าว

วันเดียวกัน เวลาประมาณ 11.00 น. นายอัษฎางค์ แสวงการ อดีตอธิการบดี มอส. พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังกระทรวงศึกษาฯ เพื่อแถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยนายอัษฎารค์กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง มอส. ขอยืนยันว่า ที่ผ่านมา ได้ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการควบคุมฯ ตามที่ร้องขออย่างเต็มที่แล้ว และได้พยายามขอคืนมหาวิทยาลัยกลับมาบริหารจัดการเอง ซึ่งตนมั่นใจว่า สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือน และยืนยันด้วยว่า ตนไม่เคยข่มขู่ หรือคุกคามการทำงานของคณะกรรมการควบคุมฯ ตามที่มีข้อกล่าวหาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับทราบคำสั่งเพิกถอนการควบคุมมหาวิทยาลัย รวมถึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงนามคำสั่ง หากได้รับคำสั่ง ตนจะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองทันที เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

“ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมฯ เพื่อลงมติเพิกถอนใบอนุญาตมหาวิทยาลัย ในวันที่ 18 ก.ย. ผมและผู้รับใบอนุญาตได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมฯ แล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าผู้รับใบอนุญาตยินดีจัดสรรเงินให้แก่มหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดก็มาทราบข่าวผ่านสื่อว่า คณะกรรมการควบคุมฯ ได้มีมติดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ ผมจะเข้าให้ข้อมูลกรณีที่เกิดขึ้นแก่คณะกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย” นายอัษฎางค์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น