xs
xsm
sm
md
lg

ด่วน! “สุชาติ” เซ็นคำสั่งปิด ม.อีสาน แล้ว “อัษฎางค์” โร่ฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุชาติ” เซ็นคำสั่งปิด ม.อีสาน ตามข้อเสนอ กกอ.และ คกก.ควบคุมฯ ด้าน “อัษฎางค์” โร่ชี้แจงผ่านสื่อ ยันให้ความร่วมมือมาตลอด จ่อฟ้องศาลปกครอง ขอมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ขณะที่ “กำจร” ชี้ เป็นสิทธิผู้รับใบอนุญาตสามารถฟ้องได้ เผย คำสั่งมีผล 31 ต.ค.เป็นต้นไป เพื่อให้ นศ.มีเวลาเรียนครบ และสภาฯอนุมัติจบได้ ระบุ มี นศ.ที่ต้องดูแลจากนี้กว่า 8 พันคน สำหรับ ป.ตรี ที่ยังเรียนไม่จบ ให้ย้ายไปเรียนสาขาเดิมในมหา’ลัยที่ประสานให้ ส่วน ป.โท ขอเวลาจัดกลุ่มแยกอีกครั้ง ย้ำ มอส.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น หากไม่เพียงพอจะขายทรัพย์สินบางส่วนมาบริหารจัดการ และส่งที่เหลือทั้งหมดคืนผู้รับใบอนุญาตฯ

วันนี้ (19 ก.ย.) ที่กระทรรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) แล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งการลงนามในคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการควบคุม มอส.ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)แล้ว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) ในฐานะคณะกรรมการควบคุม มอส.กล่าวว่า เหตุที่เสนอให้การเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไปนั้น เพื่อให้นักศึกษาที่ใกล้จบในเทอมนี้มีเวลาเรียนจนครบ และสภามหาวิทยาลัย มีเวลาอนุมัติผู้จบการศึกษา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีนักศึกษาที่ยังไม่จบการศึกษา และได้มายืนยันตัวตนตามที่สำนักทะเบียนและประมวลผลแจ้งจำนวน 8,565 คน แบ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ประมาณ 2,000 กว่าคน ที่เหลือเป็นนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานักศึกษาเหล่านี้ จะต้องมาดูรายละเอียด ซึ่งสำหรับนักศึกษา ป.ตรี คนไหนที่ยังเรียนไม่ครบก็จะให้ไปเรียนให้จบ ในหลักสูตรเดิมที่เรียน แต่ต้องย้ายไปเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น ที่ทางคณะกรรมการควบคุมฯได้ประสานไว้แล้ว หลายแห่ง

“สำหรับนักศึกษา ป.โท ต้องมาแยกรายละเอียด ว่า เรียนไปถึงไหนแล้ว โดยในกลุ่มที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ หรือรอสอบประมวลความรู้ อาจต้องมีการโอนย้ายอาจารย์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานไปยังมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอื่น พร้อมๆ กับนักศึกษา เพื่อให้ดูแลนักศึกษาในด้านการทำวิทยานิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระอย่างต่อเนื่อง จนสำเร็จการศึกษา โดยให้รับเงินเดือนและค่าจ้างจากทรัพย์สินของ มอส.หรือกลุ่มนักศึกษา ป.โท ที่ต้องเรียนบางรายวิชาเพิ่มเติมซึ่งมีจำนวนน้อยอาจจัดการเรียนการสอนแบบ block course เพื่อให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาก่อนระยะเวลาสูงสุดที่กฎหมายกำหนด โดยใช้เงินของ มอส.จัดสอนเป็นกรณีพิเศษ” รองเลขาธิการ กกอ.กล่าว

รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อนักศึกษาต้องย้ายไปเรียนที่อื่นนั้น ซึ่งขณะนี้ มอส.ยังพอมีทรัพย์สินเหลืออยู่ คณะกรรมการควบคุมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหาร ไปทำแผน บริหารจัดการ ซึ่งหากเงินที่เหลืออยู่ไม่พอดำเนินการก็จำเป็นต้องจำหน่ายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่เหลืออยู่เพื่อนำมาบริหารจัดการให้เพียงพอ และคืนส่วนที่เหลือทั้งหมดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง ส่วนนักศึกษาที่ไม่ประสงค์จะศึกษาต่อนั้น ก็จะมีการคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาที่นักศึกษาจ่ายเข้าระบบการเงินของสำนักการเงินและบัญชีที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน จะจัดให้มีสำนักงานชั่วคราวเพื่อดูแลทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย นักศึกษา อาจารย์ และผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบภายใต้กำกับดูแลของ สกอ.

หากผู้รับใบอนุญาตฯ เห็นว่า คำสั่งเพิกถอนดังกล่าวไม่เป็นธรรม ก็สามารถฟ้องศาลปกครองได้ ตามสิทธิ ซึ่งศาลปกครองก็คงต้องพิจารณาตามเหตุผล โดยที่ผ่านมาทางคณะกรรมการควบคุมฯเองก็พยายาม ช่วยเหลือมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงที่สุดแล้วก็มาไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มาก และคิดว่าหากปล่อยทิ้งไว้นักศึกษาก็จะได้รับการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ โดยหลังจากเพิกถอนแล้ว ถ้าผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งจะพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น และเปิดทำการเรียนการสอนใหม่ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญซึ่งกรณีของ มอส.ถือเป็ทเรียนสำคัญ ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นว่า หากยังจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพตามที่กำหนด ก็ขอให้เร่งพัฒนา ปรับปรุงการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดปัญหาในระยะยาวได้” รศ.นพ.กำจร กล่าว

ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 11.00 น. นายอัษฎางค์ แสวงการ อดีตอธิการบดี มอส.พร้อมคณะได้เดินทางมายังกระทรวงศึกษาฯ เพื่อแถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน ว่า ตนในฐานะตัวแทนผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง มอส.ขอใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงต่อสื่อมวลชนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมา ได้ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการควบคุมฯ ตามที่ร้องขออย่างเต็มที่แล้ว และได้พยายามขอคืนมหาวิทยาลัยกลับมาบริหารจัดการเอง ซึ่งตนมั่นใจว่า สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือน และยืนยันด้วยว่า ตนไม่เคยข่มขู่ หรือคุกคามการทำงานของคณะกรรมการควบคุมฯ ตามที่มีข้อกล่าวหาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับทราบคำสั่งเพิกถอนการควบคุมมหาวิทยาลัย รวมถึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงนามคำสั่ง หากได้รับคำสั่งตนจะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองทันทีเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

“ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมฯ เพื่อลงมติเพิกถอนใบอนุญาตมหาวิทยาลัย ในวันที่ 18 กันยายน 2555 ผมและผู้รับใบอนุญาตได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมฯ แล้ว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2555 ซึ่งก็ได้มีข้อสรุปร่วมกันแล้วว่าผู้รับใบอนุญาตยินดีจัดสรรเงินให้แก่มหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดก็มาทราบข่าวผ่านสื่อ ว่า คณะกรรมการควบคุมฯ ได้มีมติดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ผมจะเข้าให้ข้อมูลกรณีที่เกิดขึ้นแก่คณะกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย” นายอัษฎางค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น