xs
xsm
sm
md
lg

เหตุปัจจัยสำคัญยิ่งยวดสู่ธรรมาธิปไตยแก้ไขเหตุวิกฤตชาติ

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ผู้มีคุณธรรมทั้งหลายต่างสนใจการเมืองธรรมาธิปไตย มาเถิดเราจะแนะนำทางการเข้าสู่ธรรมาธิปไตย ด้วยปัญญาอันสำคัญยิ่ง ดังนี้

การรู้เข้าใจในกฎไตรลักษณ์เป็นอุปกรณ์สำคัญประการแรก ที่นำผู้ศึกษาปฏิบัติให้รู้ชัดต่อสภาวธรรมในมิติต่างๆ เช่น อริยสัจ 4, ขันธ์ 5, สติปัฏฐาน 4 (กายเวทนาจิตธรรม), สังขตธรรม (ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง), อิทัปปัจจยตา, ปฏิจจสมุปบาท, ธรรมนิยามตา, ธรรมฐิติ, สุญญตา, อตัมมยตา, อสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง, นิพพาน), และตถตา

กล่าวคือเมื่อมีสัมมาทิฐิปัญญาความเห็นถูกเรียกว่ามี “ธรรมทัศน์” หรือมี ญาณทัสนวิสุทธิ จะเป็นปัจจัยให้มีความคิดถูก, พูดถูก, ทำถูก, ประกอบอาชีพถูก, ความเพียรถูก, สติถูก, สมาธิถูก, ญาณถูก, และวิมุตติชอบ อย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา นั่นเอง

ดังกล่าวนี้ จะเป็นปัจจัยให้มีปัญญาอันยิ่ง เห็นการดำรงอยู่ของกฎธรรมชาติบนความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะอสังขตธรรม (ซึ่งมีลักษณะแผ่กระจาย โอบอุ้มคุ้มครองส่วนที่สำพันธ์เกี่ยพันกันทั้งหมด) กับสภาวะสังขตธรรม (ซึ่งมีลักษณะแตกต่างหลากหลายวิวัฒนาการเข้าหาศูนย์กลาง หรือขึ้นต่อสภาวะอสังขตธรรม) ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่กระจายกับวิวัฒนาการเข้าสู่ศูนย์กลาง ก่อให้เกิดดุลยภาพ ซึ่งมีลักษณะพระธรรมจักร ดังรูป

เมื่อมองภาพรวมโดยรอบในทุกมิติ แท้จริงเป็นความสัมพันธ์ของกฎธรรมชาติระหว่างสภาวะอสังขตธรรม (บรมธรรม, นิพพาน) ที่มีลักษณะแผ่รัศมีกระจายออกไปทุกทิศทุกทางในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด กับสภาวะสังขตธรรม ที่มีลักษณะวิวัฒนาการเข้าหาองค์เอกภาพหรือขึ้นต่อสภาวะอสังขตธรรมอันเป็นองค์เอกภาพ จึงมีลักษณะพระธรรมจักร หรือลักษณะเอกภาพของความแตกต่างหลากหลายของสรรพสิ่ง และมีข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างแผ่รัศมีกระจาย กับลักษณะวิวัฒนาการเข้าหาหรือขึ้นต่อองค์เอกภาพนั้น เป็นปัจจัยให้กฎธรรมชาติดำรงอยู่อย่างดุลยภาพนับล้านล้านปีมาแล้ว นั่นเอง

ภาพองค์รวมดังกล่าวนี้อธิบายการวิวัฒนาการทางนามธรรมหรือวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้ที่โยงใยเป็นเครือข่ายสัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดนับแต่สิ่งมีชีวิตเล็กสุด จนกระทั่งมนุษย์บรรลุถึงบรมธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตยจะก่อให้เกิดปัญญา ความรู้แจ้งเป็นจริงแห่งธรรมในนัยต่างๆ มากมายเป็นลำดับไปดังนี้

1. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่าภาพรวมกระบวนการของนามรูปนับแต่การประชุมธาตุทั้ง 6 (ธาตุดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศธาตุ, และวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้) รวมตัวกันด้วยเหตุปัจจัยที่พอเหมาะก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตเริ่มขึ้นแล้วได้วิวัฒนาการจากสัตว์เซลล์เดียวในเบื้องต้น เป็นสัตว์เดรัจฉานและค่อยๆ วิวัฒนาการเป็นมนุษย์ จนกว่าจะบรรลุถึงนิพพาน หรือบรมธรรม ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดได้ 3 มิติ 5 ลักษณะ คือ

มิติที่ 1 สัมพันธภาพระหว่างองค์เอกภาพของความแตกต่างหลากหลาย

มิติที่ 2 องค์เอกภาพมีลักษณะแผ่รัศมีกระจาย ฝ่ายแตกต่างหลากหลายมีลักษณะวิวัฒนาการเข้าสู่หรือขึ้นต่อองค์เอกภาพ

มิติที่ 3 ด้วยปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดดุลยภาพ

2. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า สิ่งมีชีวิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะวิวัฒนาการใน 2ลักษณะคือวิวัฒนาการลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและก้าวกระโดดเมื่อถึงจุดอิ่มตัวในภพนั้นๆ ก็จะก้าวไปสู่ภพใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าสูงกว่าทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (ภวหรือภพแปลว่าความเป็น, ความมี การดำรงอยู่ (Being, existence) ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องวิถีอัตวิสัยและการแก้ปัญหาทางอัตวิสัย

3. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า วิถีของสรรพสัตว์ทั้งหลายและจุดหมาย หรือศูนย์กลางของสรรพสัตว์ทั้งหลายคือบรมธรรม (ธรรมาธิปไตย), หรือนิพพาน

4. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่าจุดหมายหรือศูนย์กลางของสรรพสิ่ง คือ บรมธรรมและมรรคา (หนทาง, ทางที่ไป) ของสรรพสัตว์ทั้งหลายคือการวิวัฒนาการ 2 ลักษณะ คือ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และก้าวกระโดด และสำหรับมรรคาของมนุษยชาติ คือ มรรคมีองค์ 8 และการละสังโยชน์ 10 ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องจุดมุ่งหมายและมรรควิธี หรือ หลักการและวิธีการ

5. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า สภาวะบรมธรรมแผ่กระจายโอบอุ้มนับแต่สัตว์เล็กที่สุดจนถึงมนุษย์ (อุปมา ดุจดังฝาชีครอบอาหาร) และการรวมศูนย์ของสรรพสัตว์ทั้งหลายเพื่อจะไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดอันเป็นหนึ่งเดียว คือ บรมธรรม

6. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า วิถีอัตวิสัยของสรรพสัตว์ขึ้นตรงต่อบรมธรรมโดยได้วิวัฒนาการจากล่างขึ้นสู่บน หรือจากต่ำขึ้นไปสูง (อุปมาเหมือนเดินขึ้นบันได) และสภาวธรรมแผ่รัศมีกระจายจากบนลงสู่ล่าง (อุปมาเหมือนเดินลงบันได) แผ่ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องการจัดความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหาทางอัตวิสัยและภาวะวิสัย หรือการคิดแก้ปัญหาส่วนตัว กับการคิดแก้ปัญหาส่วนรวม

7. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพ (บรมธรรม, อสังขตธรรมหรือสภาวธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) และด้านความแตกต่างหลากหลาย (ธาตุต่างๆ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายหรือด้านสังขตธรรมหรือสภาวะธรรมที่ปรุงแต่ง) ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องเอกภาพของความแตกต่างหลากหลาย

8. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า สภาพดุลยภาพระหว่างอสังขตธรรม (มีลักษณะแผ่รัศมีกระจายออกไปทุกทิศทุกทาง) กับสังขตธรรม (มีลักษณะวิวัฒนาการเข้าสู่ศูนย์กลางหรือองค์เอกภาพ) จะเห็นได้ว่าแผ่รัศมีกระจายกับวิวัฒนาการเข้าหาศูนย์กลาง เป็นปัจจัยให้เกิดดุลยภาพกัน ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องดุลยภาพ

9. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า ความเสมอภาคทางโอกาสของสรรพสัตว์ในแต่ละภพหรือสัตว์ทุกชนิดมีความเสมอภาคทางโอกาสที่พัฒนาเพื่อความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปในภพภูมิแห่งสัตว์นั้นๆ ตามกำลังความมุ่งมั่นและความเพียรแห่งสัตว์นั้นๆ (อุปมาคนจบป. 6 (การศึกษาเบื้องต้น) ก็มีโอกาสที่จะศึกษา, มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติพุทธวิปัสสนาภาวนา จนสามารถบรรลุธรรมได้เฉกเช่นคนจบปริญญาตรี, โท, เอก) หรืออุปมาได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของทุกคน, ใครจะเดินก็มุ่งไปกรุงเทพฯ, วิ่งก็มุ่งไปกรุงเทพฯ, ขี่จักรยานก็มุ่งไปกรุงเทพฯ, ขี่มอเตอร์ไซค์, รถยนต์, รถไฟ, เครื่องบินก็มุ่งไปกรุงเทพฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพหรือความสามารถของแต่ละบุคคล โดยที่ไม่มีการปิดกั้นหรือมีข้อห้ามด้วยความแตกต่างใดๆ ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคทางโอกาสของปวงชน

10. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า ลักษณะภราดรภาพของสรรพสัตว์ต่างๆ ในแต่ละภพภูมิไม่มีชนชั้นวรรณะถึงแม้จะมีความแตกต่างของธาตุรู้จะสูงบ้าง ต่ำบ้างก็ตาม แล้วทำไมมนุษย์บางเหล่าจึงมีชนชั้นหรือวรรณะก็เพราะว่ามนุษย์มีภาษาสมมติเป็นสื่อกลางนี่เอง ทั้งมียศ ตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบจึงทำให้มีชนชั้น หรือยศ-ตำแหน่งต่ำ- สูงตามสมมติบัญญัติ หรือโลกบัญญัติแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นตามโลกบัญญัติดังกล่าว แต่ในทางปรมัตถธรรม จะเป็นไปอย่างภราดรภาพ, มีความเสมอภาคทางโอกาสเสมอกัน ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องเสรีภาพ, ความเสมอภาคทางโอกาส, และภราดรภาพของประชาชนในทางการเมืองการปกครองและสังคมทุกระดับ

11. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า กฎแห่งกรรมหรือกฎอิทัปปัจจยตากำลังขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมิได้ว่างเว้นทั้งวิถีจากบนลงสู่ล่าง (จากบรมธรรมสู่สัตว์เล็กที่สุด) และจากล่างขึ้นสู่บน (จากสัตว์เล็กที่สุด เป็นสัตว์เดรัจฉานสู่มนุษย์สู่พระนิพพาน ทั้งลักษณะถอยหลัง (เพราะทำบาปอกุศล) และลักษณะก้าวหน้า (เพราะทำบุญกุศล) วิวัฒนาการทางจิตลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (Evolution) และวิวัฒนาการลักษณะก้าวกระโดด (Revolution,Leap) มุ่งสู่จุดหมายสูงสุดคือบรมธรรมหรือนิพพานอันเป็นสุดยอดแห่งปัญญา สุดยอดความดี, สุดยอดความสุขทางใจ และความสิ้นทุกข์ทางใจ (นิพพานังปะระมังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง) และรวมทั้งความเป็นไปทางภาวะวิสัยทั้งหมดล้วนแล้วเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น)

ดังกล่าวนี้ เราสามารถเปรียบเทียบกฎอิทัปปัจจยตากับฟันเฟืองต่างๆ ในเครื่องยนต์กลไก ทำงานสัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดอันเป็นกฎของความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย ถ้าเหตุดีผลก็จะดีตามไปด้วยพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ข้อนี้นำไปเป็นหลักคิดเรื่องหลักนิติธรรม และเรื่องจัดความสัมพันธ์ว่าอะไรเป็นปฐมภูมิและอะไรเป็นทุติยภูมิ หรืออะไรเป็นเหตุและอะไรเป็นผล และเรื่องสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด

12. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งชัดว่า กฎธรรมชาติทั้งองค์รวมคือ บรมธรรมหรืออสังขตธรรมนั้น มีลักษณะแผ่รัศมีธรรมานุภาพ หรือแผ่ธาตุรู้ ครอบงำสัตว์เล็กที่สุดและขณะเดียวกันสรรพสัตว์ต่างๆ ก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้มีธาตุรู้เพิ่มปริมาณมากขึ้นๆตามลำดับ ตามกำลังวิวัฒนาการในกระบวนการของสัตว์เดรัจฉานในภพนั้นๆ จนถึงมนุษย์ และมนุษย์สามารถวิวัฒนาการทางจิตให้สูงขึ้นด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา รู้แจ้ง ตถตาและไวพจน์ดังได้กล่าวในเบื้องต้น กระทั่งสามารถละสังโยชน์ 10 ได้หมดสิ้น ได้รู้แจ้งสัจธรรมสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงเข้าถึงบรมธรรม, หรือนิพพาน อันเป็นอมตธรรมโดยมีพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เป็นต้น

จึงเป็นที่มาของธรรมาธิปไตยบุคคล, ธรรมาธิปไตยในกฎธรรมชาติที่มีอยู่เดิม และนำมาประยุกต์เป็นธรรมาธิปไตยทางการเมืองการปกครองใหม่ของโลก และทุกหน่วยของสังคมโดยรอบ นี่คือความสุดยอดแห่งภูมิปัญญาไทย “พบธรรมาธิปไตยภายใน แล้วออกไปสร้างธรรมาธิปไตยแห่งรัฐ และโลกเพื่อสันติสุขสันติภาพของมนุษยชาติอย่างแท้จริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น