xs
xsm
sm
md
lg

3.5 แสนล้านบาท ตัวอย่างของความเป็นรัฐบาลกระดุมฉิ่ง!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ฝนตกหนักตามฤดูกาลเพราะร่องมรสุมพาดผ่านยังไม่ได้มีพายุลูกใหญ่ๆ มาน้ำก็นองไปทั่ว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือจำนวนเงินที่รัฐบาลชุดนี้ใช้ไปเพื่อป้องกันอุทกภัย

ส่วนใหญ่จะพูดกันที่ตัวเลข 1.2 + 3.5 แสนล้านบาท

ตัวเลขแรกมาจากยอดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ที่รัฐบาลตั้งไว้เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 1.2 แสนล้านบาท ตัวเลขหลังมาจากยอดเงินนอกงบประมาณในพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งสังคมเข้าใจว่าจะเป็นการจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมถาวร

จริงๆ แล้วไม่ใช่

รัฐบาลใช้เงินไปเพียง 1.2 แสนล้านบาทในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในส่วนของ 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 บอกว่าเป็นเหตุวิกฤตและจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตราเป็นพระราชกำหนดนั้น ปัจจุบันใช้เงินไปเพียง 900 ล้านบาท หรือจะพูดว่าทั้งก้อนโตๆ ยอดรวม 3.5 แสนล้านบาทแทบจะยังไม่ได้ใช้เลยก็ได้

นี่แสดงให้เห็นว่าหากปีนี้น้ำไม่ท่วมใหญ่ ก็แปลว่าแก้ปัญหาด้วยงบประมาณปกติเพียงไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาทเท่านั้น

หรือหักค่าเบี้ยใบ้รายทางและงบซ่อมสร้างตามปกติก็คงใช้จริงๆ ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท


ผมเคยพูดไว้แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ฉวยโอกาสเอาเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ที่คนไทยทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกมาเหตุรวบรัดออกกฎหมายของฝ่ายบริหารให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวนมหาศาลเท่ากับที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยทำในโครงการไทยเข้มแข็ง คือ 4 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นพระราชกำหนด 2 ฉบับ ฉบับหนึ่ง 5 หมื่นล้านบาทสำหรับกองทุนประกันภัย อีกฉบับที่เป็นฉบับหลัก 3.5 แสนล้านบาท

เพื่อให้มันดูวิกฤตและเร่งด่วนสมตามเงื่อนไขมาตรา 184 ทั้งวรรคแรกและวรรคสอง รัฐบาลก็กำหนดระยะเวลาของการกู้เงินก้อนโต 3.5 แสนล้านบาทไว้ว่าให้กู้ได้เฉพาะภายในระยะเวลาก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2556 เท่านั้น

แต่รัฐบาลก็ไม่ได้หลอกไปเสียทั้งหมดนะ เขาบอกไว้ตั้งแต่ในชื่อพระราชกำหนดแล้วว่าไม่ใช่เพื่อเอามาป้องกันน้ำท่วมถาวรอย่างเดียว แต่เพื่อสร้างอนาคตของประเทศด้วย

“พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555”

สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ ต่างหากที่ไปเชื่อรัฐบาลว่ามันเป็น “...กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” ตามเงื่อนไขในมาตรา 184 วรรคสอง

เชื่อเพราะรัฐบาลบอกว่าจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ต่างชาติ

เรื่องสร้างอนาคตประเทศไม่มีใครไม่เห็นด้วยหรอก แต่ที่ผมคัดค้านมาตลอดคือเรื่องวิธีการใช้เงิน การสร้างอนาคตประเทศประเภทลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานมันสามารถทำได้ด้วยเงินงบประมาณในระบบงบประมาณตามปกติ จะกู้ก็กู้ในงบประมาณ เพราะจะได้ช่วยกันตรวจสอบ ประการสำคัญคือการใช้เงินมหาศาล 3.5 แสนล้านบาทนั้นไม่มีทางทำได้เร่งด่วนหรอก มันต้องใช้เป็นช่วงๆ ตามขั้นตอนของงานก่อสร้าง เหมือนเวลาคุณสร้างบ้านเองสมมติว่าราคา 3 ล้านบาทมันก็ไม่ได้จ่ายงวดเดียวตั้งแต่วันแรก แต่ทยอยจ่ายงวดงานตั้งแต่ขั้นออกแบบ ลงเสาเข็ม ฐานราก โครงสร้าง ฯลฯ และถ้าคุณต้องกู้เงินทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ไม่มีแบงก์ที่ไหนจะให้คุณกู้ทั้งยอดมาเก็บไว้ทยอยจ่ายเอง แต่ก็จะปล่อยเงินเป็นงวดๆ ตามงวดงาน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองที่จะจ่ายดอกเบี้ยเฉพาะยอดเงินที่ใช้จ่ายไปจริงเท่านั้น ยกเว้นว่าจะไปซื้อบ้านจัดสรรพร้อมอยู่ที่เขาสร้างเสร็จแล้วขายเท่านั้น

แต่สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่มีที่สร้างสำเร็จรูปขายนะครับ!

การออกพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทจึงเป็นเรื่องที่สังคมพึงศึกษาเป็นบทเรียน และทบทวนเพื่อให้รู้เท่าทันรัฐบาล คำว่าสังคม ณ ที่นี้ผมหมายรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจตามมาตรา 184 ออกกฎหมายของฝ่ายบริหารโดยไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภาตามปกติด้วย

เข้าใจอยู่ว่ารัฐบาลชุดนี้กระหายจะลงทุนก้อนใหญ่มาก ตั้งแต่เมื่อเข้ามาใหม่ๆ ก่อนมหาอุทกภัยก็แสดงวิสัยทัศน์บรรเจิดเรื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ วนเวียนฉวัดเฉวียนอยู่กับทุนสำรองระหว่างประเทศ ต่อไปถึงเรื่องเงินคงคลัง ชะงักไปเพราะเหตุมหาอุทกภัยอยู่หลายเดือนก็กลับมาอีกพร้อมๆ กับการแก้ปัญหามหาอุทกภัยที่คนทั้งประเทศหวาดผวา ที่สุดก็เอามาผนวกอยู่ในพระราชกำหนดฉบับ 3.5 แสนล้านบาทนี้ และยังเป็นผลพวงของพระราชกำหนดโอนภาระการจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วย โดยไปเก็บค่าธรรมเนียมแบงก์รัฐ 0.47 % ของยอดเงินฝากแล้วก็บอกว่าจะตั้งกองทุนพัฒนาประเทศ

รัฐบาลท่านจะ “เอาอยู่” เรื่องน้ำท่วมหรือเปล่าไม่รู้

รู้แต่ว่าท่าน “เอาทุกท่า” ที่จะหาเงินนอกประมาณมาลงทุนก้อนโตในนามของการสร้างอนาคตประเทศ


แต่มันเป็นการเอาทุกท่าแบบหลบๆ เลี่ยงๆ เนียนๆ แต่แล้วก็จะสร้างปัญหาตามมาให้ต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบหลบๆ เลี่ยงๆ เนียนๆ อีก

มันก็ทำนองติดกระดุมเม็ดแรกผิดเม็ดต่อๆ มาแม้เหมือนจะถูกมันก็ผิดอยู่ดี

เป็น “รัฐบาลกระดุมฉิ่ง” นั่นแหละ!

อย่างกรณีพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 มันไม่มีทางได้ใช้ทันหรอก เพราะทีโออาร์ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอายังไง จะได้ผู้รับเหมาเมื่อไร แล้วในทีโออาร์ที่ให้ประกวดแนวคิดด้วยจะใช้เวลาอีกกี่เดือน ยังขั้นตอนตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญของการทำโครงการขนาดใหญ่อีกพะเรอเกวียนล่ะ รวมๆ กันแล้วระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือนไม่มีทางทำทันแน่ ไอ้ที่พูดว่าจะสร้างเขื่อนที่โน่นที่นี่ตามสูตรสำเร็จน่ะ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังมีมาตรา 67 วรรคสองผมยังมองไม่เห็นว่าจะทำได้เร็วยังไง อย่าว่าจะเร็วเลย จะทำได้หรือไม่ยังไม่รู้

คำถามคือรัฐบาลจะกู้เงินมากอดไว้เฉยๆ ก่อนให้ครบ 3.5 แสนล้านบาทภายในกำหนดอย่างนั้นหรือ?

หรือจะออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดขยายระยะเวลาการกู้เงินออกไปจากภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 สัก 1 – 2 ปี

หรือจะออกเป็นพระราชกำหนดอีกครั้ง??

หรือว่าจะทำเนียนๆ ไม่พูดไม่จา กู้มานอนกอดไว้ก่อนทั้งก้อนตามกำหนดเวลา ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วยังไม่ได้ใช้ก็จะต้องอยู่ในบัญีเงินคงคลัง

พอบัญชีเงินคงคลังโป่งสูงขึ้นอีกเพราะเงินกู้ยอดนี้ ก็เร่งขยายผลแนวคิดที่เริ่มปูพื้นมาพักใหญ่แล้วว่าจำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 เพื่อให้สามารถโยกเงินคงคลังที่เก็บไว้ในธนาคารแห่งประเทศไทยโดยไม่ได้ดอกเบี้ยเลยไปฝากไว้ในสถาบันการเงินอื่นหรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทน

ซึ่งผลพลอยได้ก็จะเป็นการชดเชยกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่เสียไป

ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว!!


นี่แหละครับ “รัฐบาลกระดุมฉิ่ง” ที่บริหารจัดการเงินภาษีอาการของพวกเราอยู่!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น