ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในรอบ 1 ปีที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศได้นำนโยบายประชานิยมมาเอาใจประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อรักษาฐานคะแนนสียงอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใช้งบประมาณ 7,700 ล้านบาท กองทุนตั้งตัวได้ 5,000 ล้านบาท กองทุนพัฒนาหมู่บ้านละชุมชน SML 30,000 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้าน 80,000 ล้านบาท กองทุนสุขภาพภาครัฐ 107,000 ล้านบาท รับจำนำผลผลิตทางการเกษตร 260,000 ล้านบาท พักชำระหนี้ 3 ปี 13,500 ล้านบาท บ้านหลังแรก 20,000 ล้านบาท รถคันแรก 9,000 ล้านบาท บัตรสินเชื่อเกษตรกร 1,600 ล้านบาท และประกันภัยพืชผลเกษตรกร 600 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นสูงถึง 534,400 ล้านบาท
แน่นอนว่าการใช้งบประมาณที่สูงถึงกว่า 5.34 แสนล้านบาทนี้จะต้องกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 ทั้ง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร โฟกัสไปทีละกรมโดยเริ่มที่กรมสรรพากรจากนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30%เหลือ 23% ในปี 2555 และจะลดลงเหลืออีก 20% ในปี 2556 ทำให้รายได้จากกรมสรรพากรลดลงไปสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท โดยระบุถึงความจำเป็นในการแข่งขันและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ขณะที่กรมศุลกากรยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่บทบาทของกรมศุลกากรในการจัดเก็บรายได้ก็ลดลงตามไปด้วย หน้าที่ของกรมศุลกากรจึงโฟกัสไปที่การอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการทั้งผู้นำเข้าส่งออกมากกว่า
แหล่งรายได้หลักของรัฐบาลที่ปฏิเสธไม่ได้ที่โครงสร้างภาษีในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไปคือ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ที่จัดเก็บภาษีจากสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีสินค้าทำลายสิ่งแวดล้อมและภาษีจากสินค้าบาปที่ไม่หากมีการประกาศปรับขึ้นภาษีประเภทนี้เมื่อไรจะมีแรงต้านจากสังคมเกิดขึ้นน้อยที่สุด ขณะเดียวกันกลับจะมีแรงสนับสนุนให้จัดเก็บภาษีจากสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่และสุราตามที่กระทรวงการคลังเสนอและได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47(1) แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2510 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 41 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในช่องรายการและช่องอัตราภาษีในรายการ 2.1 และ 2.2 ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
2.1 ชนิดสุราขาว อัตราภาษี ตามมูลค่า 50% ตามปริมาณ 150 บาท ต่อลิตรแห่งอแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
2.2 ชนิดสุราผสม อัตราภาษีตามมูลค่า 50% ตามปริมาณ 350 บาท ต่อลิตรแห่งอแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในช่องรายการและช่องอัตราภาษีในรายการ 2.4(1) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“2.4 ชนิดสุราพิเศษ (1) ประเภทบรั่นดี ชนิดสุราผสม อัตราภาษีตามมูลค่า 50%ตามปริมาณ 400 บาท ต่อลิตรแห่งอแอลกอฮอล์บริสุทธิ์”
ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมสรรพสามิตโดยตรงรีบออกมาชี้แจงว่าการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเหล้าและบุหรี่ในครั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ได้ทำเพื่อทดแทนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ขยายเวลาจัดเก็บในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตรออกไปอีก 1 เดือน แต่มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ เพื่อลดแรงกดดันจากสหภาพยุโรปที่เห็นว่า ไทยยังปกป้องผู้ประกอบการในประเทศมากเกินไปจากการคิดอัตราภาษีที่แตกต่างกันมากระหว่างเหล้าขาวในประเทศกับวอดกาที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยังป้องกันการสำแดงราคาต่ำจากบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้บุหรี่ต่างประเทศทะลักเข้ามามากขึ้น หากไม่ได้จัดเก็บในเชิงปริมาณที่ 1 บาทต่อมวน ก็จะยิ่งทำให้บุหรี่ราคาถูกทะลักเข้ามากมากขึ้น
“การขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่จะทำให้สรรพสามิตมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ก็คงไม่สามารถทดแทนภาษีดีเซลได้ เพราะแค่ยืดเวลาออกไป 1 เดือนของดีเซล ก็ทำให้รายได้หายไปแล้ว 9 พันล้านบาท เพียงแต่เราทำ เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่มี เพราะปัจจุบันสัดส่วนบุหรี่ต่างประเทศมีประมาณ 20% หากไม่นำเรื่องมวนมาเกี่ยวข้อง สัดส่วนที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
ส่วนนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุว่ากรมสรรพสามิตไมได้เพียงเพิ่มอัตราภาษีเหล้าและบุหรี่เท่านั้น แต่ยังมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมจำหน่ายด้วย เพราะเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่เก่ามาก ไมได้เพิ่มมาเป็นเวลา 34 ปีแล้ว โดยกรณีที่เป็นบุหรี่ จำหน่ายไม่เกิน 1 พันมวนเพิ่มจาก 20 เป็น 40 บาท จำหน่ายไม่เกิน 2 หมื่นมวนเพิ่มจาก 250 บาทเป็น 500 บาทและ ที่จำหน่ายไม่จำกัดจำนวนจาก 500 บาทเป็น 1 พันบาท ส่วนค่าธรรมเนียมสุรากลั่น จากปีละ 1 พันบาทเป็น 2 พันบาท สุราแช่พื้นเมืองจาก 100 บาทเป็น 500 บาทและสุราแช่กลั่นชุมชนจาก 100 บาทเป็น 1 พันบาท ทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นปีละ 50 ล้านบาท
“การปรับเพิ่มอัตราภาษีเหล้าและบุหรี่จะทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นภาษีสุรา 3 พันล้านบาทและภาษีบุหรี่ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากมาตรการรถยนต์คันแรก เพราะมาตรการดังกล่าวไมได้ทำให้กรมสูญเสียรายได้ และไม่ใช่ทดแทนภาษีดีเซลที่ยังขยายเวลาออกไป 1 เดือนด้วย ซึ่งมาตรการภาษีดีเซลก็เพื่อลดภาระให้กับประชาชน เพื่อเพิ่มการบริโภคและการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เป็นเม็ดเงินภาษีกลับมาแทนด้วย เพียงแต่เป็นการแก้ไขความไม่เป็นธรรมในส่วนของบุหรี่ราคาถูก เพราะไม่ว่าบุหรี่จะถูกหรือแพง เรามองว่าทำลายสุขภาพเหมือนกัน จึงควรเก็บในส่วน 1 บาทต่อมวนด้วย เพราะไม่เคยจัดเก็บมาก่อน จะให้บุหรี่ราคาถูกมีราคาเพิ่มขึ้น เพื่อลดการบริโภคลง”นายเบญจาแจกแจง
สำหรับการจัดเก็บภาษีเบียร์และไวน์นั้นที่ผ่านมาได้จัดเก็บเต็มเพดานแล้วทั้งเบียร์และไวน์ หากจะมีการจัดเก็บเพิ่มเติมจะต้องการเสนอแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต เพื่อขยายเพดานเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา และเชื่อว่า การเพิ่มภาษีเหล้าและสุรา จะทำให้คนหันมาดื่มเบียร์และไวน์มากขึ้น เพราะเป็นคนละตลาดอยู่แล้ว
นอกจากนี้กรมสรรพสามิตจะนำเสนอเรื่องโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ปรับปรุงใหม่ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ โดยหลักการยังเป็นการจัดเก็บจากระดับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร(กม.) ระดับ 100-150 กรัมต่อกม. และ 150-200 กม.ก็จะคิดในอัตราภาษีที่แตกต่างกัน โดยจะไม่ใช้ตัวเทคโนโลยีมาเป็นกำหนดอัตราภาษี เพราะที่ผ่านมามีการใช้พลังงานไม่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการ
“เราต้องการใช้ภาษีสรรพสามิตมาจัดเก็บภาษีรถยนต์ ก็เพื่อสนับสนุนการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างที่ผ่านมาการให้ภาษีจูงใจกับผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง อี-20 จากเดิมใช้อี-10 แล้ว เพื่อประหยัดพลังงาน แต่ปรากฏว่า แม้จะใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอี-20 แต่คนก็ยังหันไปใช้อี-10 เหมือนเดิม จึงไม่ต้องกับสิ่งที่เราต้องการ และบางครั้งผู้ผลิตรถยนต์ก็มาถกเถียงเรื่องเทคโนโลยีกันเองว่าอะไรที่ประหยัดพลังงานมากกว่ากัน จึงไม่อยากให้เกิดปัญหาเรื่องเทคโนโลยีอีก แต่เราจะยังคงอัตรารถยนต์อีโคคาร์ไว้ก่อนตามสัญญาที่ทางกระทวงพลังงานมีไว้กับผู้ประกอบการ และกว่าที่โครงสร้างภาษีรถยนต์จะเต็มรูปแบบก็ต้องเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการด้วย”นางเบญจากล่าว
ทั้งนี้การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่และยาสูบเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ติดตามผู้ประกอบการและตัวแทนจำหน่าย พบยังไม่มีการกักตุนสินค้า เพียงแต่เห็นแนวโน้มการสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญบ้างในส่วนของบุหรี่ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะต้องติดตามและทำควบคู่กับการปราบปรามการผลิตเหล้าเถื่อนต่อไป เพราะจากการปรับภาษีขึ้นจะทำให้ต้นทุนของเหล้าขาวเพิ่มขึ้นขวดละประมาณ 5-7 บาท ทำให้มีการมองว่า อาจจะมีการลักลอบการผลิตเหล้าเถื่อนมากขึ้นได้ ขณะที่ต้นทุนเหล้าผสมเพิ่มขึ้นขวดละ 8-12 บาท และบรั่นดี 3-12 บาทขึ้นกับประเภทของบรั่นดีด้วย
ต้องจับตากันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าผลพวงจากนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลถมเงินลงไปแล้วปีเดียวกว่า 5 แสนล้านบาท จะทำให้รัฐบาลต้องดิ้นรนหาเงินจากทางใดอีก เนื่องจากการกู้เงินของรัฐบาลมีข้อจำกัดและเงื่อนไขหลายประการที่ทำได้ไม่สะดวกนัก ดังนั้นการขึ้นภาษีจึงเป็นเรื่องที่ง่ายและภาษีบาปยิ่งเป็นสิ่งที่แทบจะเรียกได้ว่าไร้แรงต่อต้านจากสังคมที่รัฐบาลจะนำมาอ้างในการหาความชอบธรรมในการรีดภาษีเพิ่มขึ้น