รายงานการเมือง
สำลักน้ำสีอำพันพ่นควันทิ้งกันแทบไม่ทัน สำหรับรรดาสิงห์อมควัน และพลพรรคคอทองแดงทั้งหลาย หลังจากรู้ผลคณะรัฐมตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ
โดยมติดังกล่าวส่งผลในส่วนของสุราขาวอัตราเก็บปัจจุบันตามมูลค่า 50% และตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 120 บาทต่อลิตร จะปรับขึ้นเป็น 150 บาทต่อลิตร สุราผสมที่เก็บตามมูลค่า 50% และตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 300 บาทต่อลิตร จะปรับขึ้นเป็น 350 บาทต่อลิตร และสุราบรั่นดี ในส่วนการเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์มีการเก็บ 400 บาทต่อลิตร เต็มเพดานที่กำหนด แต่ในส่วนของมูลค่ามีการเก็บ 48% ให้เพิ่มเป็น 50% เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด
ด้านภาษีบุหรี่ปัจจุบันเก็บตามมูลค่า 85% แต่ไม่มีการเก็บตามปริมาณ ต่อไปก็จะเก็บตามปริมาณ 1 บาทต่อมวน โดยหลังจากนี้การคิดภาษีบุหรี่ กรมสรรพสามิตต้องนำทั้งมูลค่าและปริมาณมาคำนวณภาษี หากอะไรสูงกว่ากันให้เก็บภาษีในส่วนนั้น เพื่อแก้ปัญหาที่ผู้ประกอบการสำแดงมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งการขึ้นภาษีครั้งนี้บุหรี่ทุกซองต้องเสียภาษีสรรพสามิตอย่างน้อยซองละ 20 บาท
ปัจจุบันบุหรี่ทุกยี่ห้อมีการเสียภาษีตามมูลค่าอยู่แล้ว แต่มักสำแดงราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ดังนั้นหากเปลี่ยนมาคำนวณตามปริมาณต่อมวนเปรียบเทียบจะทำให้บุหรี่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกซองละ 6-8 บาท
เบ็ดเสร็จการปรับขึ้น “ภาษีบาป” ในครั้งนี้จะทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้เก็บเข้าคลังเพิ่มขึ้นอีกปีละ 12,500 ล้านบาททีเดียว
มติดังกล่าวเรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวจากบรรดาพวกนักวิชาการ เอ็นจีโอ และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่ต่อต้านต่างเรื่องพวกนี้กันมาตลอด ที่สำคัญ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ได้ภาพลักษณ์เรื่องการเอาใจใส่สังคมไปแบบเต็มๆ คำ จะมีก็แต่เหล่าผู้ได้รับผลกระทบอย่างคอบุหรี่และคอเหล้าเท่านั้นที่เอะอะโวยวาย
แต่ด้านบวกก็ยังเยอะกว่าด้านลบอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม หากมองแบบผิวเผินและรับฟังจากวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่อ้างถึงสาเหตุที่งัดมาตรการนี้ขึ้นมาใช้ หลายคนต่างก็เข้าใจเป็นไปในทางเดียวว่า รัฐบาลทำตามแผนรณรงค์ให้มีการลด ละ เลิกสิ่งเสพติดของมึนเมาที่มีการดำเนินการในช่วงก่อนหน้านี้
กระนั้น หากลองจับจุดมองถึงเบื้องลึกเบื้องหลังมติดังกล่าวก็จะพบดีว่าการรีด “ภาษีบาป” เที่ยวนี้ของ “ครม.นารีปู” มีอะไรอยู่ในกอไผ่อีกพรึ่บ
โดยเฉพาะอาการ “ถังแตก” ที่เกิดจากนโยบายน้ำมือของรัฐบาลเอง
หนักๆก็มาจากการงดเก็บภาษีสรรพสามิต ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งโดยปกติก่อนรัฐบาลจะเริ่มทำนโยบายนี้ การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 5 บาท/ลิตร แต่นโยบายดังกล่าวกำหนดให้มีการเก็บภาษีในส่วนนี้แค่เพียง 0.005 บาท/ลิตร เท่านั้น
เข้าใจง่ายๆ ก็คือ แทบจะไม่ได้เก็บเลย ส่งผลให้ในแต่ละเดือนมีเงินหายจากจุดนี้ไปประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนับรวมเงินที่หายไปจากตรงนี้ตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นนโยบายในเดือนม.ค.55 ปรากฎว่ารายได้จากหายวับไปถึง 72,000 ล้านบาทแล้ว ที่สำคัญยังไม่มีใครการันตีได้ว่ารัฐบาลจะมีการขยายเวลาเพิ่มออกไปอีกรอบหรือไม่
อีกตัวการสำคัญคือ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจาก “นโยบายรถคันแรก” ของรัฐบาล ที่มีการคืนเงินภาษีเท่ากับที่จ่ายจริงในการซื้อรถยนต์คันแรก แต่จะคืนได้ไม่เกิน 100,000 บาท และภาครัฐจะคืนภาษีได้เมื่อครอบครองรถยนต์ไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีนั้น ตามเป้าหมายของเดิมที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะมีรถร่วมโครงการประมาณ 500,000 คัน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงไปตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 เฉพาะในส่วนนี้ไว้ประมาณถึง 30,000 ล้านบาทเพื่อมารองรับในโครงการที่ไม่มีทีท่าจะประสบความสำเร็จตัวนี้
อย่างไรก็ดี ต่อมารัฐบาลได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าโรงงานผลิตรถยนต์ไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ทันตามความต้องการเนื่องจากได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวอีกจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ รัฐบาลมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีตัวเลขสั่งจองเพิ่มขึ้นอีกถึง 100,000-150,000 คันทีเดียว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จะต้องคืนภาษีตรงนี้ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
นอกจากภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลต้องละลายน้ำไปกับสองนโยบายข้างต้นแล้ว ในส่วนของรายได้จากภาษีนิติบุคคลก็ลดลงอย่างฮวบฮาบไม่แตกต่างกัน อันมีผลมาจากนโยบายอุ้มคนรวย “ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล” ที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วให้ในปี 2555 ต้องลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือแค่ 23% เท่านั้น นัยหนึ่งก็เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพจ่ายเงินค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตามนโยบายของรัฐบาล
ซึ่งเงินรายได้จากตรงนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากผลประกอบการและผลกำไรจากบรรดาห้างร้านบริษัทต่างๆ ที่ถือว่าเป็นรายได้สำคัญอย่างหนึ่ง กระนั้นก็ยังถูกมองว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์กับเหล่าบรรดานายทุนทั้งหลายอยู่ดี
ขณะที่รายได้อื่นๆ ที่รัฐบาลนำไปเผาผลาญกับนโยบายประชานิยม อาทิ โครงการรับจำนำข้าว จำนำสำปะหลัง พักหนี้ดี กองทุนสตรีฯ กองทุนตั้งตัวได้ เงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท และอีกไม่รู้กี่สารพัดโครงการก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้วงเงินที่สูงทั้งสิ้น
เมื่อรายจ่ายมีมากกว่ารายรับ และนับวันก็ยิ่งจะหมดลงเรื่อยๆ “ทักษิณส่วนหน้า” ก็จำเป็นต้องชำเลืองมองหาช่องทางที่จะหารายได้ตรงนี้มาเพิ่ม
ที่คิดการใหญ่จัด “กองโจร” เตรียมหาทางเข้า “ปล้นคลังหลวง” หรือบัญชีเงินสำรองของประเทศ แต่ยังไม่อาจเข้าครอบงำ “แบงก์ชาติ” ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งนักวิชาการ-ภาคประชาชนที่ตั้งป้อมดักคอเป้าหมายของรัฐบาล ทำให้ “แผนชั่ว” ยังไม่สำเร็จ
ผลสุดท้ายก็เลยลงเอยที่วิธีการรีด “ภาษีบาป” ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมองว่า น่าจะเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟกต์และได้รับผลกระทบทั้งจากภาคสังคมและฝ่ายการเมืองน้อยที่สุด โดยเฉพาะซีกฝ่ายค้านที่แทบจะมืดบอดในการหาช่องมาโจมตี
เรียกว่า สวมบทคนบาปในคราบนักบุญ แถเอาตัวรอดกันไปก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะหาทางสว่างเรียกรายได้เงินมาได้ถึง 12,500 ล้านบาทจากการขึ้นภาษีบุหรี่และเหล้าได้ กระนั้นเงินก้อนดังกล่าวก็ยังถือว่าน้อยนิดหากเทียบกับปริมาณรายจ่ายที่สูญไปกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล
งานนี้ก็เลยว่ากันว่า กระทรวงการคลัง เตรียมจะเล็งเป้าควานหารายได้จากส่วนอื่นมาช่วยอีก อาทิ ภาษีเกมออนไลน์ ตลอดจนหวยออนไลน์ที่เตรียมจะรีเทิร์นขึ้นจากหลุมในปลายปีนี้
ตามจังหวะ ก็เลยยังต้องดิ้นต้องรนกันต่อไป เพราะอาการ “ถังแตก” มักเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ
ไม่ใช่ปลายเหตุอย่างที่ “ครม.ยิ่งลักษณ์” ไล่ตามซ่อมกันอยู่