รมว.คลัง ลั่น “ประชานิยม” ไม่ทำ ศก.พัง เพราะเม็ดเงินช่วยหมุนเวียนการบริโภค และทำให้ ปชช. มีรายได้เพิ่ม เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายไม่เหมือนกับการแจกเช็คฟรี 2 พันที่เป็นการให้เงินเปล่า โดยไม่มีกลับมาหมุนเวียนในระบบ ศก. ขณะที่ “นิด้าโพล” ชี้ ปชช. พอใจนโยบาย 30 บาท
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมของทางรัฐบาลนั้น ในส่วนของการริเริ่มกองทุนต่างๆ ทั้งกองทุนเอสเอ็มแอล และกองทุนตั้งตัวนั้น ไม่ได้มีผลกระทบทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย แต่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีมากขึ้น จากการมีรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชน ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับการดำเนินนโยบายแจกเช็ค 2,000 บาท ที่เป็นการให้เงินเปล่า โดยไม่มีกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีนี้ยังคงตั้งเป้าไว้ที่ 1.98 ล้านล้านบาท พร้อมยืนยันว่า การเก็บภาษีสุราและยาสูบเพิ่มเติมนั้นไม่ได้เป็นการหารายได้เพิ่มของทางรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีได้ลดลง เนื่องจากการเก็บภาษีดังกล่าวนั้น มีรายได้เพิ่มเพียงปีละ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน (นิด้าโพล) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความพึงพอใจของประชาชนต่อผลการดำเนินงาน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล” จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,203 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อ 3 นโยบายของรัฐบาล ในรอบ 1 ปี อยู่ในระดับมาก ได้แก่
อันดับ 1 การประกันสุขภาพ “30 บาท รักษาทุกโรค” โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.77 อันดับ 2 การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.60 อันดับ 3 “มหัศจรรย์ไทยแลนด์” และการประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.51
สำหรับนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจในระดับน้อย ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประชาชน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.41 และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.31 สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อยู่ระดับปานกลาง เช่น พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกร รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี และลดภาษีรถยนต์คันแรก ส่วนการเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุแบบขั้นบันได และการขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท ประชาชนมีระดับความพึงพอใจมาก
ขณะการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประชาชนพึงพอใจในระดับปานกลาง ได้แก่ เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดละ 100 ล้านบาท และการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน