ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กลายเป็นว่าข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3”คาดว่าจะลากยาวไปจนถึงปลายเดือนกันยายนนี้ เพราะติดศึกอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.นี้
แถมอาจจะลากยาวหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่พรรคประประชาธิปัตย์ จองกฐินเอาไว้ ราวๆ กันยายน-ตุลาคมปีนี้เช่นกัน
การปรับครม.จึงแขวนเอาไว้ก่อน เหมือนที่คนอยู่ไกล ประกาศให้แขวนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเอาไว้ในสภาฯ
วันก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯสั่งให้ส่งการบ้าน “ผลงานรัฐบาล” แต่ 2 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มาส่งการบ้านล่าช้าไป 1 คืน แต่ก็คาบเส้น แว่วว่ากำหนดวันแถลงผลงงานรัฐบาล ราวๆกลางเดือนกันยายนแล้ว!
ขณะที่คนขับเคลื่อนงาน “ครม.ปู2”ก็จะเป็นหน้าเก่าๆไปอีก 1-2 เดือน!
แต่ใน 1-2 เดือนนี้ คนขันเคลื่อนงานระดับปฏิบัติจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะข้าราชการประจำ “ผู้บริหารระดับสูง” ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ทั้งระดับ ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง เลขาธิการ รองเลขาธิการ อธิบดี อำนวยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ นับดูคร่าวแล้วมีประมาณ 100 คนซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการ
เป็น ระดับปลัดกระทรวง เกษียณ 8 คน คือ สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม จีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ระดับรองปลัดกระทรวง เกษียณ 24 คน ระดับผู้ตรวจ 21 คน ระดับอธิบดี 26 คน ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัด และระดับเอกอัครราชทูต 13 ตำแหน่ง
เป็นที่น่าจับตาว่า กระบวนการขันเคลื่อนโยบายและงบประมาณของปี 2556 จะต้องมีข้าราชการประจำระดับผู้บริหารมาขับเคลื่อนให้ดังนั้นการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการในปี 2555 สายตาของข้าราชการระดับบิ๊ก จะหนีไม่พ้นต้องมุ่งหน้าไปหา“พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะโดยสายตรง หรือจะโดยอ้อมผ่านคนใกล้ชิด ก็ขึ้นอยู่กับวิทยายุทธของผู้นั้น คงจะสมใจในการจัดวางคนของตัวเองเข้ามากุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
แม้ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ตาม
ล่าสุดกับข่าวเงิน 30 ล้านบาทแลกกับตำแหน่ง “เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” หรือ สคบ. แต่ก็มีการปฏิเสธดังๆมาจาก คนกำกับดูแล “สคบ” ในฐานะประานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) อย่าง “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล”รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าไม่จริง แต่สัปดาห์ต่อมา ชื่อของ “จิระชัย มูลทองโร่ย” ก็ผงาด แซงหน้า “นพปฎล เมฆเมฆา” ที่เป็นแคนดิเด เป็นเลขาธิการสคบ.คนใหม่ทั้นที
ขณะที่ก่อนหน้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ ปลัดกระทรวงคนใหม่ ไปตกที่ “นายชวลิต ชูขจร” รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ขึ้นเป็นปลัดกระทรวง แทน น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์
แต่ที่น่าจับตาตามข่าว มุ่งไปที่ตำแหน่งใหญ่ กระแสข้ามห้วยหลุดลอดออกมา “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี”เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีชื่อจ่อนั่ง “ปลัดกระทรวงคมนาคม” หรือ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย”
หรือ “วิเชียร ชวลิต” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่มีข่าวว่าจะได้ไปนั่ง “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” แซงหน้า “ประชา เตรัตน์” รองปลัดมหาดไทยคนปัจจุบัน เปิดทางคืนตำแหน่ง “ปลัด พม.” ให้กับ “นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา”ที่นั่งเป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ”ในทำเนียบรัฐบาล มากว่า 3 เดือน เพื่อยุติศึกเกาเหลาในพรรคเพื่อไทย
หรือชื่อของ “สุรชัย ศรีสารคาม” ที่มีชื่อข้ามห้วย เก้าอี้ปลัดกระทรวงนั่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แม้ “สุรชัย” จะเพิ่งได้นั่ง “ผู้ว่านครนายก” เมื่อวันที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาก็ตาม
มีชื่อ “นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ “นายวีระ โรจน์พจนรัตน์” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ร่วมวงชิงชัยเก้าอี้กระทรวงเกรดเอ
หรือ กระทรวงสาธารณสุข มีชื่อ 2 แคนดิเดต อย่าง “นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์” อธิบดีกรมควบคุมโรค และ “พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ” อธิบดีกรมการแพทย์
ส่วนทางด้านการศึกษา “กระทรวงศึกษาธิการ” นอกจากครูอาจารย์กว่า 2 หมื่นคน ที่พร้อมจะเข้าหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่มีผลออกจากราชการวันที่ 1 ตุลาคมนี้โดยข้าราชการสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินก้อน 8-15 เท่าของเงินเดือน รวมเงินประจำตำแหน่ง
ยังมีรายชื่อ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษียณอายุราชการกว่า 10 คน เช่น นายนิวัตร นาคะเวช รองปลัดนางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ฯลฯ
หรือ ข้าราชการระดับสูงของกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้บริหารระดับสูงถึง 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานคร 1 ตำแหน่ง คือนาย เจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร 3 ตำแหน่ง ได้แก่ นายทวีศักดิ์ เดชเดโช นายสมภพ ระงับทุกข์ และนางเพียงใจ วิศรุตรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร 2 ตำแหน่ง ได้แก่ นางเปรมวดี ทรัพย์บุญมี และนางอัญชลี จันทกุลจิตร
โดยผู้ที่เข้าข่ายจะเข้ามานั่ง “ปลัดกทม.คนใหม่” มีชื่อผู้ที่เข้าเกณฑ์พิจารณา 2 คน ได้แก่ “นางนินนาท ชลิตานนท์” รองปลัด กทม. ที่รับผิดชอบงานด้านบริหาร ซึ่งมีอาวุโสลำดับ 1 และเคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งปลัด กทม. มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน
คนที่ 2 ที่เข้าข่าย “นายจุมพล สำเภาพล” รองปลัด กทม.ที่รับผิดชอบงาน ด้านช่างหรือโยธา ทั้งนี้ นายจุมพลเพิ่งขึ้นเป็นรองปลัดฯเมื่อปีกลายที่ผ่านมา
ดังตัวอย่างข้างต้นทั้งหมดนี้ รัฐบาลไหน ๆก็ต้องการวางรากฐานมือไม้ที่ไว้ใจเข้ามาตอบสนองนโยบาย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลตัวเองอย่างยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดังนั้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาการโยกย้ายและเปลี่ยนตำแหน่ง จะถูกใจหรือไม่ ก็ยังมีช่องทางในการกล่าวโทษกับผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะ ผ่าน “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)”
ช่องทางอีกหนึ่ง แม้จะถูกแขวนมานานเช่นกัน “สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)” เคยเสนอผ่าน”คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน”มาหลายครั้งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับวิธีการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม การซื้อขายเก้าอี้ด้วยการตัดตอนอำนาจการเมืองไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง
มีการเสนอปรับแก้หลักเกณฑ์ หรือวิธีการในการคัดสรรผู้บริหารระดับกลางและสูง โดยเฉพาะระดับปลัดกระทรวงที่เดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีประจำกระทรวงเท่านั้นเป็นผู้เสนอชื่อ แต่ข้อเสนอใหม่ คือ สร้างกระบวนการคัดสรรจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในกฎ ก.พ. เรื่องการโอนย้าย มาตรา 63 ของระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมา 1 ชุดต่อ 1 กระทรวง ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลจากภายนอก คัดเลือกว่าที่ปลัดกระทรวงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามหลักเกณฑ์การคัดสรรด้วยการเปิดรับสมัครจากภายในและนอกกระทรวง โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวคัดให้เหลือ 3 รายชื่อ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเพียง 1 ชื่อ
สำหรับระดับอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด กลไกการสรรหาคล้ายคลึงกัน คือ จะมีกรรมการทั้งจากภายในและภายนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสรรหา
กล่าวโดยสรุป คือ เพื่อตัดตอนการใช้อำนาจแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการประจำ แนวคิดดังกล่าวนำเสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่เข้ามาสู่อำนาจใหม่ๆ
เป็นแนวทางการป้องกัน ปัญหาการคัดสรรผู้บริหารระดับกลางและสูง ที่จะไปวิ่งเต้น วิ่งจ่าย กับนักการเมือง หรือนายหัวนายใหญ่.