xs
xsm
sm
md
lg

สั่งประหาร ตร.สามเสน ค้ายาบ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-ศาลอาญาตัดสินประหารชีวิตอดีตดาบตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.สามเสน ครอบครองและจำหน่ายยาบ้า หลังถูกจับกุมที่บ้านลาด จ.เพชรบุรี เมื่อต้นปี 54 พร้อมสั่งอายัดทรัพย์ “เสี่ยโอฬาร” เจ้าของสวนส้มเชียงรายค้ายาตามคำสั่งศาลชั้นต้น ด้าน ปปง. ตามยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดเรือนจำนครศรีธรรมราชวงเงินกว่า 350 ล้านบาท เผยยังมีอีกเป็นพันล้านที่ต้องตามยึด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อย.1972/2554 ที่อัยการฝ่ายคดียาเสพติด 2 เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.ไพโรจน์ วงศรีแก้ว อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.สามเสน เป็นจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปลอมและใช้เอกสาราชการปลอม

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2554 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บช.ปส.1 ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง จ.เพชรบุรี ตั้งด่านที่ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และได้ตรวจค้นรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ทะเบียน ภษ 8140 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยขับมาเพื่อนำยาเสพติดไปส่งที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยพบยาบ้าจำนวน 120,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ที่เบาะนั่งด้านหลังที่ถูกดัดแปลงให้มีช่องลับซุกซ่อนยาเสพติด จำเลยอ้างว่ามีผู้ว่าจ้างจำนวน 200,000 บาท ให้ขับรถไปส่งของที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยไม่ทราบว่ามียาบ้าซุกซ่อนอยู่ และไม่ทราบว่าเป็นรถที่ใช้เป็นทะเบียนปลอม

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีตำรวจ 2 นาย เป็นผู้จับกุม เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บช.ปส.1 ได้รับแจ้งจากสายสืบว่าจะมีการดัดแปลงรถรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เพื่อซุกซ่อนยาบ้า ขนส่งไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงเวลาดังกล่าวตลอดพบรถเก๋งดังกล่าวจอดอยู่ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในซอยบางกรวย-ไทรน้อย 15/1 กระทั่งพบจำเลยเป็นผู้ขับรถต้องสงสัยจึงขับรถติดตาม และแจ้งตำรวจทางหลวง จ.เพชรบุรี ตั้งด่านตรวจค้นและจับกุมได้พร้อมของกลาง

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่ทราบว่ามียาเสพติดอยู่ในรถ แต่จากคำให้การของจำเลยที่ระบุว่า ได้รับการว่าจ้างถึง 200,000 บาท เพื่อให้ขับรถนั้น ถือว่าค่าจ้างจำนวนที่สูงมาก ประกอบกับจำเลยเคยรับราชการตำรวจ ย่อมต้องสงสัยว่าจะต้องมีการขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย เมื่อของกลางยาเสพติดมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงต้องสันนิษฐานว่าจำเลยมียาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมนั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะลงโทษจำเลย

พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว และให้ริบของกลาง ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

***ศาลสั่งยึดทรัพย์เสี่ยโอฬาร

นอกจากนี้ ศาลอาญายังได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องมาตรการริบทรัพย์คดียาเสพติด หมายเลขดำที่ อม.172/2550 ที่อัยการฝ่ายคดียาเสพติด 1 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องขอให้อายัดทรัพย์สิน 79 รายการ ของนางวรนุช หรือติ๋ม ธีราทรง อายุ 54 ปี, น.ส.วราภรณ์ หรือเอ๋ ธีราทรง อายุ 37 ปี และนายอเนก หรือโอฬาร สุดิรัตน์ อายุ 54 ปี หรือเสี่ยโอฬาร เจ้าของสวนส้มใน จ.เชียงราย จำเลยที่ 1-3 คดีหมายเลขดำ ย.565/2548 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพื่อจำหน่าย ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามของผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 27, 29 และ 31

ทั้งนี้ ทรัพย์สิน 79 รายการ เช่น เงินสดจำนวน 6,203,419 บาท ธนบัตรสหรัฐอเมริกา 1,786 ดอลลาร์ ธนบัตรที่ระลึก สร้อยทองคำรูปพรรณ และรถยนต์อีกหลายรายการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอเนก หรือเสี่ยโอฬาร ที่ถูกอัยการยื่นฟ้องเมื่อปี 2548 คดีค้ายาเสพติดกว่า 1,350,000 เม็ด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาศาลฎีกา โดยก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์ พิพากษาลดโทษให้จำคุก 50 ปี นายอเนก จำเลยที่ 3 และปรับเงิน 5 ล้านบาท จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ซึ่งนายอเนกให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนางอรนุช ภรรยา และ น.ส.วราภรณ์ บุตรสาวจำเลยที่ 1-2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งระหว่างนี้ทั้งสองได้ยื่นประกันตัวออกมาแล้ว

***ปปง.ตามยึดเงินเครือข่ายค้ายา

วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงข่าวเรื่องการปราบปราบของปปง. ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบเครือข่ายยาเสพติดในเรือนจำนครศรีธรรมราชพบว่าเป็นเครือข่ายใหญ่ กระจายหลายพื้นที่ หลายจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งปปง. ได้นำเส้นทางการเงินของผู้ต้องหารายเดียวมาตรวจสอบ พบว่า มีเงินถึง 33 ล้านบาท มีการทำธุรกรรมทางการเงิน 1,244 ครั้ง เมื่อขยายผลพบมีตัวการใหญ่ 5 กลุ่ม เป็นนักโทษในเรือนจำนครศรีธรรมราช มีการโอนออกจากรายใหญ่ไปรายย่อยมากครั้ง ทำให้เห็นว่ามูลค่าและปริมาณยาเสพติดมีเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ ปปง. รู้ความเคลื่อนไหวและมีรายชื่อหมดแล้ว ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ คงไม่มีใครใช้ชื่อบัญชีตัวเอง แต่มั่นใจว่า ปปง.ตรวจสอบได้

“เครือข่ายนี้ที่เดียวมีมูลค่าถึง 350 ล้านบาท ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโอนหรือรับโอนเงินจากยาเสพติดทุกบัญชี ทุกคนจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงิน โดยปปง. ยังมีการตรวจสอบพบเครือข่ายในเรือนจำอีกหลายแห่ง เช่น ที่ระยอง คลองไผ่เขาบิน บางขวาง และบางขวาง คลองเปรม หลายแห่งเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง เบื้องต้นพบมูลค่ากว่าพันล้านบาท” พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น