xs
xsm
sm
md
lg

กำนันผู้ใหญ่บ้านยุคใหม่ : ในมุมมอง PR

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

10 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน” โดยปีนี้กระทรวงมหาดไทย ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น หนึ่งในนั้น คือ การประกาศเชิดชูเกียรติ และมอบรางวัลกำนันยอดเยี่ยมจำนวน 146 คน และผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมจำนวน 142 คน ที่มีผลงานดีเด่นทั่วประเทศ (ข่าวจาก นสพ.ส่วนกลางฉบับหนึ่ง)

ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ท่านที่ได้รับรางวัลปีนี้

กำนันผู้ใหญ่บ้าน ถือว่ามีบทบาทและความสำคัญต่อบ้านเมือง เป็นกลไกรัฐบาลใกล้ชิดชาวบ้าน พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านมากที่สุด ดูแล รับรู้ทุกข์สุข เป็นเพื่อนบ้าน เป็นญาติมิตร

ใครทำอะไร ที่ไหน กระทั่งลูกบ้าน ลูกใครหลานใคร ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักหมด งานหลวงงานราษฎร์ไปร่วม ทักทาย พูดคุย ถามไถ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล

มิเพียงเป็นหน้าที่ของชาวมหาดไทย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แต่เป็นอะไรที่ผูกพันของสังคมไทย โดยเฉพาะต่างจังหวัด ชนบท

กำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงถือเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจยิ่ง!

จึงมีคำถามชวนคิด ว่า ราชการได้พิถีพิถันใช้จุดแข็งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบ้านเมืองหรือไม่ ประการใด? ไม่แน่ใจ? เป็นการบริหารงานภายในกระทรวงฯ

ต้องยอมรับว่า ที่เป็นปัญหาต่อการบริหารงานรัฐบาลในภาพใหญ่ ก็มาจากภาพย่อยๆ จุดย่อยๆ อย่างตำบลหมู่บ้านนี้เอง ไม่ว่าประท้วง ปิดถนน เอาสับปะรดมาทิ้ง เอามะพร้าวมาบุกทำเนียบฯ ฯลฯ

ไม่พิถีพิถันใช้จุดแข็งนี้ ไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้น จะเป็นจุดอ่อน และเสียโอกาส กำนันผู้ใหญ่บ้านถือเป็นพลังสำคัญ กระบวนทัพขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะนโยบาย “สร้างสุข สลายทุกข์” ของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สร้างสุข สลายทุกข์ได้ ประท้วง ปิดถนนก็ไม่มี

วันนี้บริบทสังคมประเทศเปลี่ยนแปลง ชนบทก็เปลี่ยนไป ทั้งผู้คน สิ่งแวดล้อม วิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยม กระแสวัฒนธรรมใหม่ นวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยี ฯลฯไหลเข้าสู่ตำบลหมู่บ้านทันสมัยมากขึ้น ขณะที่มีปัญหาความต้องการใหม่ๆ ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้น เชื่อมโยงซับซ้อนขึ้น ส่งผลถึงการประกอบอาชีพ รายได้ การทำมาหากินที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ แข่งขัน เพื่อปากท้องเศรษฐกิจต่างจากอดีตที่ผ่านมา

ความเจริญของบ้านเมืองหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นเช่นนี้เอง เป็นหลักธรรมชาติ ไปห้ามไม่ได้ ถึงห้ามก็เอา “ไม่อยู่” เมื่อเป็นเช่นนั้น จะบริหารการเปลี่ยนแปลงตำบลหมู่บ้านอย่างไร เป็นโอกาสและความท้าทายไม่น้อย

รัฐบาลควรที่จะหันมาหนุนนำ เสริมสร้างความเข้มแข็ง ศักยภาพของชุมชนชนบท โดยเฉพาะบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านยุคใหม่ อย่างไร หรือไม่? เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้อง สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้าน ชาวชนบทในยุคใหม่

กำนันผู้ใหญ่บ้านมีความสุขในการทำงาน ลูกบ้านมีความสุขในการดำเนินชีวิต

มิเช่นนั้น อาจไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในตำบลหมู่บ้าน ก็เป็นไปได้ เช่น ปัญหายาเสพติด โรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจน ความเดือดร้อน ขาดแคลนสาธารณูปโภค ทำมาหากินฝืดเคือง พืชผลราคาตกต่ำ รวมถึงอุบัติภัยธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น

ไม่ทันปัญหา เท่ากับตั้งรับ ดักปัญหาได้ เท่ากับเชิงรุก

กำนันผู้ใหญ่บ้านน่าจะมีบทบาทในการ “สร้างสุข สลายทุกข์” ให้ราษฎรในหมู่บ้านตำบลอย่างไร ถึงจะสนองนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่มุ่งเน้น “สร้างสุข สลายทุกข์” อย่างเป็นผล

ในมุมการประชาสัมพันธ์ หรือพีอาร์ (PR) ที่ให้ยึดประชาชน เป็นตัวตั้ง องค์กรตำบลหมู่บ้านมีเป้าหมายงาน เพื่อให้ราษฎรชุมชนชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีรายได้ เป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง มองว่า บทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านยุคใหม่ที่รัฐบาลควรจะส่งเสริม 2 ด้าน กล่าวคือ

ด้านการบริหารจัดการ ควรส่งเสริมกำนันผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทผู้นำองค์กร มีวิสัยทัศน์ในการหนุนนำ นำพาองค์กรตำบลหมู่บ้านไปสู่ความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า ชี้แนะได้ ชี้นำเป็น เป็นนักคิด นักแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออก ให้อิสระในการทำงาน มีอำนาจตัดสินใจ รัฐไม่ควรตีกรอบความคิด แต่ควรให้คิดนอกกรอบในการทำงาน เพราะจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นความสำเร็จใหม่ๆ หากคิดอย่างเดิม ก็ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ไม่เกิดมูลค่าเพิ่มให้ตำบลหมู่บ้าน

สามารถให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ “สร้างสุข สลายทุกข์” แก่รัฐบาลได้

ขณะที่รุกสร้างงานพัฒนาใหม่ๆ แตกไลน์และต่อยอดงานโครงการต่างๆ แปลงโจทย์ความต้องการของชาวบ้านเป็นโครงการใหม่ๆ มองข้ามช็อต ทันการณ์ เห็นเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาตำบลหมู่บ้านที่ควรจะเป็น เห็นอะไรก่อนคนอื่น เช่น เห็น “สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง” ในตำบลหมู่บ้านมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เห็นช่องทางประกอบอาชีพ หรือสร้างรายได้ใหม่ๆ เห็นทางน้ำตรงไหนที่จะป้องกันอุทกภัยได้ เป็นต้น

เห็นก่อนคนอื่นเห็น ก็ได้เปรียบ ในทางธุรกิจ เห็นก่อน คิดได้ก่อน ก็ประสบความสำเร็จ(รวย)ก่อน จากนั้นนำสิ่งที่เห็นหรือไอเดียที่ปิ๊ง ไปสู่การขับเคลื่อนปฏิบัติให้เป็นจริง (ไม่ขอกล่าวในที่นี้ ถึงตรงนี้ง่ายแล้ว ที่ยากคือตรงที่จะปิ๊งไอเดียได้อย่างไร)

เป็นการทำงานเชิงรุก มิเพียงทำงานประจำตามหน้าที่ราชการมอบหมายเท่านั้น

“สลายทุกข์ได้ เท่ากับสร้างสุข”

ด้านพีอาร์ ควรส่งเสริมกำนันผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทนักสื่อสาร นักประชาสัมพันธ์ ใช้ PR หนุนนำการบริหารจัดการ เมื่อทำงานโครงการใดๆ แล้ว ต้องสื่อสารกับสังคม ประชาชนให้รู้ มองประเด็นข่าวสารได้ เข้าถึงสื่อเป็น ซึ่งเป็นความจำเป็นโดยเฉพาะในยุคใหม่

การบริหารการเปลี่ยนแปลงของตำบลหมู่บ้าน มิเพียงหวังบอกกล่าว ยังหวังผลตอบรับ หรือความร่วมมือในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอีกด้วย เช่น ประชาสัมพันธ์เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้คนมาเที่ยว มาซื้อ เป็นต้น

ใช้สื่อซึ่งมีหลายช่องทางให้เลือก สื่อใดเหมาะสม อาจประสานสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนั้นๆ กระทั่งผู้สื่อข่าวประจำจังหวัด ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ

เข้าถึงสื่อได้ ก็ได้เปรียบ

ที่สำคัญ พีอาร์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ยกตัวอย่างในตำบลหมู่บ้าน หากมีศิลปวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน เพลงร้อง แหล่ รำ ฯลฯ ไม่ควรอนุรักษ์อย่างเดียว ในยุคใหม่ต้องพีอาร์สู่สาธารณะ โดยใช้การสื่อสารที่เหมาะสม เผยแพร่ออกไปอย่าเก็บไว้

หนุนนำสื่อออกไป อาจแจ้งเกิด เผลอๆ หากไปโดนใจสังคม มีโอกาสติดตลาด มีผู้สนใจตอบรับ ชื่นชอบ ประทับใจ ภาคธุรกิจเอกชนอาจติดต่อไปแสดงที่นั่นที่นี่ ททท.อาจขอให้ไปโชว์ต่างประเทศ ยุคนี้อะไรก็เป็นไปได้ รายได้ไหลเข้าหมู่บ้าน เป็นมูลค่าเพิ่มให้ศิลปวัฒนธรรมของตำบลหมู่บ้าน ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

ไม่มีใครรู้ว่า ของดีในตำบลหมู่บ้านมีอะไร ดีกว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน

ไม่มีใครรู้ว่า ตำบลหมู่บ้านมีของดีอะไร ถ้าไม่ PR

จากบทบาท 2 ด้านที่นำเสนอนี้ บางอย่างอาจทำอยู่แล้ว ถือว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ เป็นการมองในมุมพีอาร์

“กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นฐานรากประเทศ ฐานรากเข้มแข็ง ประเทศแข็งแกร่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น