xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯชี้ชัดล้มการปกครอง!ยกฟ้องสนธิ-พธม.ประณามนช.แม้วแก้รธน.ล้างผิดตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการรายวัน-ศาลพิพากษายกฟ้องคดี"ทักษิณ"ฟ้องแกนนำพธม.และเอเอสทีวี คดีที่ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีแถลงการณ์ต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างความผิดตัวเองและพวกระบุโจทย์มีพฤติกรรมส่อไปตามแถลงการณ์จริง ตั้งแต่หลบหนีคดี และอยู่เบื้องหลังผู้ก่อให้เกิดการกระทำของรัฐบาลตัวแทนหุ่นเชิด อีกทั้งโจทก์ก็ไม่เคยมาศาลเพื่อเบิกความเป็นพยานยืนยันด้วยตนเอง

วานนี้ (6 ส.ค.) ที่ศาลจ.ปทุมธานี ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1234/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1868/2552 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มอบอำนาจให้ นายพิชา ป้อมค่าย เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 2 นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 3 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 4 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 5 นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 6 บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 7 และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด จำเลยที่ 8 ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

โดยคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 8 ได้ร่วมกันโฆษณาด้วยเอกสารและคำแถลงเรื่องการคัดค้านและประณามการแก้ไข้รัฐธรรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังจากประชาชนทั่วไป

โดยคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาว่า โจทก์มีพฤติกรรมส่อไปตามแถลงการณ์จริงตั้งแต่หลบหนีคดีโดยอ้างว่าขาดความเชื่อถือ ต่อกระบวนการยุติธรรม ตามหนังสือชี้แจงเอกสารหมาย ล.1 และอยู่เบื้องหลังผู้ก่อให้เกิดการกระทำของรัฐบาลตัวแทนหุ่นเชิดตามแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงตามข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนยอมรับว่าเป็นตัวแทนหุ่นเชิดของโจทก์ตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยใช้ต้นแบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เฉพาะในส่วนที่ดีไม่ต้องทำประชามติเพราะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ตามเอกสารหมาย ล.13 และ ล.14 ข่าววิเคราะห์เรื่องความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 237 ในคดียุบพรรคพลังประชาชน และมาตรา 309 จากระบอบทักษิณ เพื่อล้มล้างการใดๆ ที่เกิดจากการปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้เกิดการตีความเป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งถูกดำเนินคดีจากองค์กร ตามคำสั่งของการปฏิวัติว่าความชอบธรรมในองค์กรต่างๆ สิ้นสุดลงโดยปริยาย ส่งผลให้ยุติกระบวนการต่างๆ ที่เอาผิดกับโจทก์ในการทุจริตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามเอกสารหมาย ล.16 ทั้งที่นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษชนะคดีที่โจทก์เคยฟ้องกล่าวหาว่านายสุนัยว่าละเมิด ตามเอกสารหมาย ล.17 คำให้สัมภาษณ์ของนายสมัครว่ามีกลุ่มอำนาจที่ไม่ใช่กองทัพไทยจะปฏิวัติรัฐประหาร สอดคล้องกับเรื่องที่โจทก์ปลุกระดมมวลชนเสื้อแดงจนเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งทำลายการประชุมผู้นำอาเซียนที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช จ.ชลบุรี การชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ โดยมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยต้องการช่วยเหลือโจทก์กลับบ้านตามที่มีการหาเสียงไว้ ตามเอกสารหมาย ล.37

โดยหลังเกิดเหตุ โจทก์ก็ยอมรับว่าตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีลี้ภัย ต้องมี “โมบาย คาบิเนต” หรือคณะรัฐมนตรีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามเอกสารหมาย ล.33 ปัจจุบันรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวโจทก์ พรรคเพื่อไทยได้สืบทอดดำเนินการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ต่อไปตามข่าวเอกสารหมาย ล.32 และ ล.36 โดยพยานจำเลยดังกล่าวไม่ได้ถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพียงแต่ถามค้านได้ความว่า ปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายเท่านั้น ยังไม่มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แต่อย่างใด เชื่อว่าข่าวสารต่างๆ ที่ฝ่ายจำเลยนำสืบมามีมูลความจริง เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2551 ถึงเมษายน 2551 พรรคพลังประชาชนตัวแทนของโจทก์อยู่ระหว่างต้องคดียุบพรรค หลังจากพรรคไทยรักไทยของโจทก์เคยถูกยุบพรรคมาแล้ว

ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคเช่นกัน ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ตามเอกสารหมาย ล.6 ทั้งโจทก์อยู่ระหว่างหลบหนีคดีเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินถนนรัชดาภิเษก ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาจำคุกโจทก์ ตามเนื้อหาแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 17 กันยายน 2551 เอกสารหมาย ล.3 และโจทก์ยังอยู่ระหว่างต้องคดียึดทรัพย์สินเกี่ยวกับเรื่องขายและโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาศาลพิพากษายึดทรัพย์สินของโจทก์ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เอกสารหมาย ล.47 การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ระหว่างต้องคดีดังกล่าวเกี่ยวกับมาตรา 237 ซึ่งบัญญัติหลักการเรื่องยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง และมาตรา 309 ซึ่งบัญญัติเรื่องหลักการใดๆ ที่ได้รับรองในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าก่อนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ ย่อมอาจเป็นเหตุให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจไปได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราย่อมมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์และพรรคพวกทำให้หลุดพ้นคดีความเก่าๆ เกิดเป็นประเด็นทางการเมืองจากโจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนมุ่งให้ความสำคัญ

ฉะนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ของพวกจำเลยจึงออกมาเคลื่อนไหวแถลงการณ์เพื่อต่อต้าน คัดค้าน ชี้ให้เห็นความบกพร่องต่างๆจากการกระทำของฝ่ายโจทก์ ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้โจทก์ยังไม่เคยต้องคำพิพากษาจนถึงที่สุด ว่าได้กระทำการตามที่แถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรว่าเป็นความผิดก็ตาม แต่โจทก์ไม่เคยมาศาลเพื่อเบิกความเป็นพยานยืนยันด้วยตนเองปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ เพื่อให้โอกาสทนายจำเลยถามค้านกระจายข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดตามสิทธิของจำเลย คงมีแต่นายพิชา ป้อมค่าย ฝ่ายผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานบอกเล่าเท่านั้น น้ำหนักคำพยานฝ่ายโจทก์เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองว่าไม่ได้มุ่งหวังผลตามแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรจริง ยังน่าเคลือบแคลงไม่หนักแน่นมั่นคง เพราะยังมีข้อครหาเกี่ยวกับการหลบหนีคดีความในชั้นศาลจริง ด้วยเหตุนี้พยานฝ่ายจำเลยจึงมีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อยิ่งกว่า

สามารถรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า การกระทำของโจทก์ต่างๆ ตามข่าวสารพอมีมูลให้ฝ่ายจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์มีเจตนากระทำการอย่างที่คัดค้านหรือต่อต้านไว้ ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2551 และฉบับที่ 5/2551 นั้น ถูกต้องเป็นความจริง ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย จึงสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองและสังคมตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ กลุ่มประชาชนย่อมรวมตัวในลักษณะเครือข่าย สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมนุม เพื่อพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 329(3) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 35 วรรคสอง ถือเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกัน

แถลงการณ์ตามฟ้องจึงไม่มีความผิด ส่วนคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเกินเลยไปจากแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอ้างอิงทำนองว่ามีความเป็นไปได้ที่หากโจทก์สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองหลุดพ้นจากองค์กรตรวจสอบความรับผิด ซึ่งรับรองโดยมาตรา 309ได้แล้วย่อมเป็นเงื่อนไขข้อแรกนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเป็นระบอบประธานาธิบดีแล้วทุกสิ่งเป็นไปได้หมดนั้น จำเลยที่ 1 เบิกความเพื่อเติมว่า เป็นเพราะก่อนเกิดเหตุโจทก์กระทำมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามภาพถ่ายต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ เอกสารหมาย ล.10 ทั้งดึงเบื้องสูงมาเกี่ยวกับการเมืองตามข่าวเอกสารหมาย ล.25 รวมทั้งข้อเท็จจริงของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ว่า โจทก์จะเป็นประธานาธิบดี ตามเอกสารหมาย ล.40 โดยหลังเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ยังให้สัมภาษณ์จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนหลายฝ่ายต้องออกมาปกป้อง ตามข่าวเอกสารหมาย ล.26-ล.9 ดังนั้น ทางกลุ่มพันธมิตรฯ และจำเลยที่ 1 จึงให้สัมภาษณ์เสริมตอนท้ายว่า การจะนั่งเฉยๆ ยอมรับความชั่วช้าสามานย์เปลี่ยนสภาพสังคมไทยไปโดยอำนาจที่มีอยู่ แก้อะไรก็ได้ตามความต้องการ ทำไม่ได้ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความอธิบายว่า หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้เนื่องจากมีอำนาจแล้ว จะนำไปสู่ความแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดต่างๆ ได้ตามต้องการเพียงซื้อเสียงให้ได้มาซึ่งอำนาจในสภาเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยเปรียบเทียบให้เห็นอันตรายว่าสภาย่อมแก้ไข ล้มล้าง นิรโทษกรรมความผิดของตน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 309 หรือแม้ทำให้ตนเป็นประธานาธิบดีคนแรกย่อมทำได้ทุกอย่าง

การกระทำตามภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ปรากฏมีคำว่าทรงพระเจริญที่ธงชาติไทย ซึ่งประชาชนบางส่วนถือนำมาต้อนรับโจทก์และมีชื่อโจทก์เป็นภาษาอังกฤษที่ธงชาติไทยติดไว้ ในสนามฟุตบอลภาพดังกล่าวถึงจะไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัดว่า โจทก์เป็นคนจัดให้มีการกระทำนั้นขึ้นมา เนื่องจากอาจเป็นความสมัครใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลอื่นก็เป็นได้ รวมทั้งคำชี้แจงของโจทก์ตามข่าวเอกสารหมาย ล.29 แม้จะไม่บังควรที่กล่าวถึงเบื้องสูงให้มาเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ก็อยู่ในลักษณะของคนตั้งใจที่จะปฏิบัติตามรับสั่งเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดเป็นไปได้ชัดว่า โจทก์มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประธานาธิบดี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะได้ความจากทนายโจทก์ถามค้านพยานฝ่ายจำเลยโดยสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นไปตามกระบวนการแห่งกฎหมาย เพื่อแก้ไขบางมาตราไม่ใช่ทั้งฉบับ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีข้อเท็จจริงตามคำเทศนาของหลวงตามหาบัว เอกสารหมาย ล.40 น่าเชื่อถือศรัทธาเป็นที่ประจักษ์บอกเล่าถึงโจทก์ที่หวังอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 นำเรื่องราวต่างๆของโจทก์มาประกอบรวมกันทั้งหมดแล้วจึงอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า โจทก์อาจต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญจริงจึงให้สัมภาษณ์ไปในสาธารณะเช่นนั้น คำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ยังพอถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ตามความเชื่อของตนว่าเป็นความจริง

ตามข่าวเอกสารหมาย ล.25-ล.28 ศาลตรวจอ่านดูแล้วทราบว่าโจทก์ให้สัมภาษณ์พาดพิงและล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง และเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมชี้ให้เห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่าเหล่าทัพออกมาชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดทูนพระมหากษัตริย์

ข้อเท็จจริงตามข่าวสารดังกล่าวจึงมีมูลเหตุให้น่าเชื่อไปได้ว่า โจทก์มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของโจทก์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลอาญาซึ่งยกฟ้องโจทก์คดีหมิ่นประมาทเรื่องกลับมาเป็นประธานาธิบดี เอกสารหมาย ล.29 ทำให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ย้อนกลับไปยังให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุว่าอาจมีมูลความจริงตามที่เชื่อก็ได้ สมควรยกประโยชน์ในทางเป็นคุณให้แก่จำเลยที่ 1 คดีรับฟังได้ว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสันติวิธี ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนในฐานะประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามครองธรรมแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น