“โฆษกอัยการสูงสุด” เผยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เตรียมจำหน่ายคดี “แม้ว” ทุจริต ฯลฯ แบบเฉพาะตัวบุคคล แจงเหตุพักการพิจารณาเพราะหลบหนีไม่มาศาล จนกว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวกลับมาเมืองไทยได้ส่วน 26 จำเลยร่วมดำเนินการพิจารณาคดีตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ย้ำผล “ผิด-ถูก” คำพิพากษาไม่มีผลเกี่ยวข้อง “ทักษิณ”
วันนี้ (25 ก.ค.) นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยวันที่ 11 ต.ค.นี้ว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ไม่เดินทางมาศาลตามวันนัด ศาลฎีกาฯ จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากสารระบบไว้ชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาพิจารณาคดี ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 26 รายก็จะต้องดำเนินการพิจารณาคดีตามขั้นตอนต่อไป ขณะที่หากคดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปจนเสร็จและมีคำพิพากษาแล้ว ผลคำพิพากษานั้นจะไม่มีผลเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จนกว่าจะนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาได้แล้วศาลจะดำเนินกระบวนการพิจาณาส่วนที่เกี่ยวข้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเหมือนคดีอื่นที่อัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณแล้วศาลฎีกาต้องพักการพิจารณาไว้ชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวกลับมา เช่น คดีทุจริตโครงการสลากเลขท้าย 3 และ 2 ตัว (หวยบนดิน)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้พักการพิจารณาคดีที่ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว โดยให้ออกหมายจับนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินกระบวนพิจารณาคดี มีด้วยกัน 4 คดี ประกอบด้วย 1. คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี (ครม.) และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ยักยอกทรัพย์), ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154, 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 และ 11 กรณีที่ร่วมกันมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 46 ให้ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษ เลขท้าย 3 และ 2 ตัว ( หวยบนดิน) ที่ได้ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 46 - 26 พ.ย. 49
2. คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 กรณีที่จำเลยอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร
3. คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ที่อัยการสูงสุด (สมัยนายชัยเกษม นิติสิริ) ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100, 122 กรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท
และ 4. คดีหมายเลขดำ อม.3/2553 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ต้องคำพิพากษาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกและคดียึดทรัพย์จำนวน 46,373 ล้านบาทเศษตกเป็นของแผ่นดิน จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองหรือคู่สมรส หรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ม.263 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 มาตรา 119