xs
xsm
sm
md
lg

ทะเลไทยไม่สามารถรองรับอวนลาก อวนรุน ได้อีกแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง


มีศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาประมงที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การหาขีดความสามารถในการรองรับการทำการประมงของสัตว์น้ำเป้าหมาย ซึ่งเป็นที่มาของตัวเลขต่างๆ ที่มักกล่าวว่า ทะเลไทยสามารถรองรับการทำประมงได้กี่ตันต่อปี

การใช้โมเดลต่างๆ นั้น โดยหลักการพื้นฐานจะใช้กับการทำการประมงสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเครื่องมือประมงที่ค่อนข้างจำเพาะกับสัตว์น้ำชนิดนั้น หรือกลุ่มนั้น เช่น การล้อมปลากระตักกลางวันที่จะได้ปลากระตักเป็นส่วนใหญ่ การประมงปลาหมึก ปลาทูน่า ปลาทู เป็นต้น

หลักการพื้นฐานของการคำนวณค่าขีดความสามารถในการรองรับ หรือความสามารถในการทำประมง คือ พื้นฐานที่ว่า สัตว์น้ำที่รอดจากการจับนั้น จะสามารถอยู่รอดไปสืบพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นมาทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับไปได้อย่างสมดุลกับการถูกจับไป

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมานักวิชาการด้านประมง มักนำเอาหลักการพื้นฐานนี้ไปใช้อย่างผิดหลักการ โดยเฉพาะการนำโมเดลเหล่านั้น ไปใช้คำนวณหาศักยภาพการรองรับการทำประมง ด้วยเรืออวนลาก อวนรุน

สาเหตุที่ผิดหลักการ ก็เพราะเครื่องมือประมงประเภทอื่นๆ นั้น เน้นการจับสัตว์น้ำเป้าหมายเป็นหลัก และถ้าได้สัตว์น้ำชนิดรองที่ไม่ใช่เป้าหมาย ก็เป็นการทำลายเฉพาะตัวสัตว์น้ำ เช่น การทำประมงปลากระตักด้วยการปั่นไฟ ที่มีลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจปะปนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นวิธีการทำประมงที่ทำลายอีกประเภทหนึ่ง

อวนปั่นไฟปลากระตักที่ทราบกันว่า สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกับสัตว์น้ำสำคัญ ที่ไม่มีโอกาสเติบโต แต่ประสิทธิภาพการทำลายล้างของอวนปั่นไฟปลากระตัก ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับอวนรุน อวนลาก

สาเหตุเพราะอวนรุน อวนลาก ไม่เพียงแต่จับสัตว์น้ำเป้าหมาย และทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำมีไข่ สัตว์น้ำหายากเท่านั้น แต่อวนลาก ทำลายถิ่นที่เกิด ที่วางไข่ หลบภัยของสัตว์น้ำ ดังนั้น โมเดลทางการประมง จึงไม่ควรนำมาใช้กับการทำการประมงอวนลาก เนื่องจากการทำประมงอวนลาก ส่งผลให้สัตว์น้ำที่หลุดรอดไป ไม่มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ได้อีก

อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ทุกตารางนิ้วในอ่าวไทยผ่านการถูกอวนลากกวาดมาแล้วจนสัตว์น้ำไม่มีแหล่งที่เกิดที่อาศัย เพิ่มประชากรทดแทนประชากรสัตว์น้ำดั้งเดิมได้เลย

โขดหิน โขดหอย ฟองน้ำ กัลปังหา ปะการังน้ำลึก ถูกอวนลากกวาดล้างจนราบเรียบกลายเป็นพื้นโคลนโล่งๆ จนสัตว์น้ำไม่มีแหล่งวางไข่ หาอาหาร หลบภัย ดังนั้น หลักการพื้นฐานของความยั่งยืนจึงขาดหายไป เนื่องจากสัตว์น้ำที่เหลือรอด ไม่มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ ซึ่งผิดหลักการของการประเมินค่าศักยภาพการรองรับการทำประมง

เมื่อจะต้องนิรโทษกรรมเรืออวนลากในปี 2555 คำถามที่สำคัญ คือ จะนิรโทษกรรมเรือกี่ลำ กรมประมงอ้างผลการศึกษาวิจัยดั้งเดิมว่า ในปี 2546 เคยมีการศึกษาวิจัยโดยองค์กรด้านอาหารและการเกษตร สหประชาชาติ ร่วมกับกรมประมงพบว่า “ปริมาณการจับสัตว์น้ำของไทยเกินศักยภาพที่รองรับได้ไป 33% แต่กรมประมงกลับตีความว่า “จำนวนเรืออวนลากของประเทศไทยเกินศักยภาพที่ทรัพยากรจะรองรับได้ไป 33%”

เมื่อได้ตัวเลขนี้ กรมประมง จึงนำตัวเลขเรือประมงที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ ขณะนั้นมีเรือ 7,968 ลำ (อ่าวไทย 6,793 ลำ ทะเลอันดามัน 1,175 ลำ) มาเป็นตัวตั้ง และใช้บัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ คำนวณออกมาว่า เรือประมงในอ่าวไทยควรมี 4,551 ลำ เมื่อรวมกับในทะเลอันดามันแล้ว ประเทศไทยควรจะมีเรืออวนลาก 5,693 ลำ และจากข้อมูลในปี 2552 พบว่าประเทศไทยเรามีเรืออวนลากที่ได้รับอาชญาบัตรไปแล้ว 3,619 ลำ จึงสามารถให้อาชญาบัตรได้อีก 2,107 ลำ

ประเด็นที่สำคัญ คือ ศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ควรคิดจากปริมาณการจับสัตว์น้ำ (น้ำหนัก) หรือปริมาณการลงแรงเป็นชั่วโมง ต่อผลผลิตที่จับได้ (Catch per unit effort) หรือจำนวนรวมของเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการทำประมงอวนลาก ไม่ใช่คิดจากจำนวนเรือ ดังที่กรมประมงนำมาอ้าง เนื่องจากเรือแต่ละลำมีประสิทธิภาพการจับไม่เท่ากับ และจำนวนเรือไม่ได้สะท้อนปริมาณการลงแรง หรือระยะเวลาที่ใช้ในการลากอวน

เรือน้อยลำอาจจะลากนานขึ้น และที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น ปริมาณการลงแรง หรือการใช้เวลาในการจับเพิ่มมากขึ้นมาตลอด เช่น FAO ประเมินศักย์การจับสัตว์น้ำหน้าดินอยู่ที่ประมาณ 750,000 ตัน ซึ่งต้องการการลงแรงประมงอวนลาก (fishing effort) อยู่ที่ 8.6 ล้านชั่วโมง ในขณะที่ปี พ.ศ. 2529 ผลผลิตของเรือประมงอวนลากลดลงเหลือ 648,560 ตัน แต่ต้องลงแรงทำการประมงถึง 11.9 ล้านชั่วโมง

ในขณะที่หลักการพื้นฐานของการคำนวณศักยภาพการรองรับการประมง และปริมาณการจับที่เหมาะสม จะเน้นการควบคุมปริมาณสัตว์น้ำไม่ให้เกินค่าศักยภาพการรองรับ หรือการควบคุมปริมาณการลงแรง (ระยะเวลาที่ลากอวน) หรือการควบคุมไม่ให้มีการทำลายแหล่งกำเนิดเพื่อให้สัตว์น้ำได้แพร่ขยายพันธุ์ แต่กรมประมงกลับคิดแต่เรื่องจำนวนเรือที่จะออกใบอนุญาต ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีเป้าหมายจะลดและเลิกเครื่องมือประมงอวนลากอวนรุนให้ได้ โดยออกเป็นมาตรการระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2523 แต่วันนี้กลับจะมานิรโทษกรรมเรืออวนลากให้เพิ่มขึ้นไปอีก ท่านคิดอะไรกันอยู่ครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น