ชาวบ้านอ่าวขนอมเหลืออด โวยเรืออวนลาก-อวนรุน ลักลอบล้ำน่านน้ำเกินพื้นที่กฎหมายกำหนด ทำฝูงโลมาหนีหาย กระทบการท่องเที่ยวชุมชน เพราะโลมาถือเป็นหนึ่งในตัวดึงดูดสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการทำลายทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรง ระบุเคยร้องเรียนทางการหลายครั้ง แต่เรื่องมักเงียบหาย เชื่อเรืออวนมีนายทุนใหญ่-นักการเมืองหนุนหลัง
หลังเกิดเหตุการณ์เรืออวนรุน-อวนลากคู่ จำนวน 10 กว่าลำ เข้ามาจับสัตว์น้ำในทะเลอ่าวขนอมริมชายฝั่งล้ำเข้ามาเกินกว่าพื้นที่ที่กำหนด(3,000 เมตร)ในคืนวันที่ 20 ก.ค. 55 โดยในเช้าวันรุ่งขึ้นเรืออวนดังกล่าวยังคงจอดเรียงรายอยู่ที่ริมชายฝั่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพเรืออวนเหล่านี้ได้เป็นหลักฐาน แทนภาพของโลมาที่พวกเขาตั้งใจไปดูและถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ทั้งนี้การกระทำของพวกเรืออวนในครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการใช้เรืออวนลาก(คู่)-อวนรุน จับสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชนหลายอย่าง เพราะเรืออวนรุนและเรืออวนลาก โดยเฉพาะเรืออวนลากคู่ที่ใช้เรือขนาดใหญ่ ในปัจจุบันถือเป็นการจับสัตว์น้ำที่ทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างมาก
เรืออวนลาก-อวนรุน จะกวาดสัตว์น้ำ แหล่งวางไข่ พืชทะเล ปะการัง และหน้าดินริมชายฝั่งไปหมด ซึ่งตามกฎหมายจากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนด ห้ามเรือยนต์ที่ทำการประมงโดยใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน ต้องทำการประมงในพื้นที่ห่างออกไปจากฝั่ง 3,000 เมตร(3 กม.)ขึ้นไป มิฉะนั้นจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490
นายบ่าว(ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริง) ชาวหมู่บ้านแหลมประทับ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช คนขับเรือนำนักท่องเที่ยวล่องอ่าวขนอมชมธรรมชาติและโลมาซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของทะเลแถบนี้ เปิดเผยด้วยท่าทีไม่พอใจว่า ปกติจะพบโลมาออกหากินเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงนี้จะพบโลมาออกมาทุกวัน ตอนเช้าเมื่อวาน(20 ก.ค.)ก็ยังพบออกมาเป็นฝูง แต่หลังจากที่เมื่อคืน นี้(20 ก.ค.)มีเรืออวนลาก-อวนรุน เข้ามาจับสัตว์น้ำที่นี่ใกล้ริมชายฝั่ง ทำให้ฝูงโลมาที่ออกหากินในทะเลแถบนี้ว่ายหนีหายไป และไม่ปรากฏว่าพบโลมาในช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค. เนื่องจากเรืออวนลาก-อวนรุน ขนาดใหญ่จำนวน 10 กว่าลำ ยังคงจอดอยู่ใกล้ๆริมชายฝั่ง
ด้านปู นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจมาล่องเรือดูโลมาที่อ่าวขนอมบ่นรู้สึกเสียดายและเสียความรู้สึกที่มาล่องเรือขนอมแล้วไม่พบโลมา แต่กลับพบเรืออวนลาก-อวนรุนแทน
สำหรับฝูงโลมาที่ขนอม ชาวบ้านที่นี่เล่าว่า มีโลมาสีเทาอยู่ประมาณ 40-50 ตัว และมีโลมาสีชมพูอยู่ประมาณ 10 ตัว ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์และเป็นหนึ่งในไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวของทะเลขนอม เพราะเป็นสัตว์ที่หาชมตามธรรมชาติได้ยากในเมืองไทย
ฝูงโลมาเหล่านี้อาศัยและหากินอยู่ที่อ่าวขนอมมายาวนานนับสิบปี เพราะที่นี่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลมา โดยเฉพาะเป็นแหล่งหญ้าทะเลแหล่งใหญ่ ขณะชาวบ้านที่ชาวบ้านที่นี่ก็จะไม่ทำร้ายโลมา แต่จะมองโลมาเป็นเพื่อน เป็นญาติ เมื่อจับปลามาได้ก็จะโยนให้โลมากินอยู่เสมอในระหว่างที่เจอโลมาว่ายน้ำ ทำให้ฝูงโลมาที่นี่คุ้นเคยกับคน คุ้นเคยกับเสียงเรือเล็ก อันตามมาด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวล่องเรือชมโลมาที่อ่าวขนอม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะกว่า 90% ของนักท่องเที่ยวที่มาล่องเรือจะพบเห็นโลมาเป็นประจำ
แต่ด้วยความที่อ่าวขนอมเป็นแหล่งทรัพยากรชายฝั่งอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ที่ผ่านมามีเรืออวนลาก-อวนรุน ล้ำน่านน้ำลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำที่นี่อยู่บ่อยครั้ง เกิดเป็นกรณีพิพาทกับชาวบ้านในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้แจ้งไปยังภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้มาจัดการกับเรื่องนี้ แต่เรื่องมักเงียบหายไป จะมีบ้างนานๆทีที่หากเรื่องดังขึ้นมาก็จะมีการจับผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของเรืออวน เพื่อแก้ข่าว หลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม คือมีเรืออวนลักลอบเข้ามาจับสัตว์ในพื้นที่ที่ห้ามอยู่เสมอ
“เราร้องเรียนกับทางการไปบ่อยแล้ว แต่ส่วนใหญ่เรื่องจะเงียบ เหมือนทางการไม่ใส่ใจ เพราะเรืออวนลาก-อวนรุนพวกนี้มีนักการเมืองกับพวกนายทุนใหญ่หนุนหลังอยู่ บางทีแค่จับคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของเรือมาให้พวกเราเห็นเป็นพิธีแค่นั้น พอตกเย็นปล่อยไป วันรุ่งขึ้นนายคนนั้นก็ออกไปวางอวนลากอีก ที่ผ่านมาแม้พวกชาวบ้านได้รวมตัวกันต่อต้าน แต่มันเหมือนการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” นายบ่าวกล่าว
นายบ่าวยังเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่เมื่อเรืออวนลาก-อวนรุน เข้ามา ฝูงโลมาที่เป็นไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวจะว่ายน้ำหนีหายไป จนกว่าเรืออวนจะออกไป พวกมันถึงจะกลับเข้าฝั่งมา เพราะเดี๋ยวนี้มันเริ่มรู้ตัวว่าเรือใหญ่พวกนี้เป็นอันตรายต่อมัน ซึ่งปีที่แล้วมีโลมาติดอวนลากตายไป 5 ตัว ส่วนปีนี้ติดอวนลากตายไป 3 ตัวแล้ว และเมื่อโลมาหายไป มันย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นรายได้สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมาก
“พวกเรืออวนลาก-อวนรุนพวกนี้ เวลามันลากอวนเข้ามาในชายฝั่ง มันไม่ใช่แค่จับสัตว์น้ำอย่างเดียว แต่มันจะทำลายหน้าดิน ทำลายทรัพยากรชายฝั่ง ที่เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านที่นี่ เรือพวกนี้มันทำลายสิ่งแวดล้อมมาก ที่สำคัญคือมันมาทำลายวิถีประมงพื้นบ้านของพวกเราด้วย”
คุณลุงชาวประมงคนหนึ่งกล่าว ซึ่งเขากลัวว่า หากทางการยังปล่อยให้เกิดการลักลอบทำผิดกฎหมายของเรืออวนลาก-อวนรุน อยู่เสมอ ไม่เพียงแต่โลมาที่เป็นไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวของขนอมจะหายไป แต่ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรทางทะเลริมชายฝั่ง ที่เป็นสิ่งสำคัญของท้องทะเลและชุมชนจะพลอยสูญหายไปด้วย