น่าน - เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดน่านลงมือลากอวนล่าปลาปักเป้า สร้างความเชื่อมั่นชาวบ้านไม่ใช่ปลาปิรันยา ที่หาดหินโง้ม เตือนเล่นน้ำต้องระวัง และห้ามนำไปรับประทาน
วันนี้ (21 เม.ย.) นายสุทัศน์ ลาดเจริญ เจ้าพนักงานประมงอาวุโสจังหวัดน่าน และนายสมชาติ ธรรมขันทา ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดน่าน, นายเอกพจน์ สมบัติปัน ผู้ใหญ่บ้านขึ่ง ม.6 ต.ขึ่ง อ.เวียงสา จ.น่าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ได้ใช้อวนลากระหว่างฝั่งต่อฝั่งที่บริเวณท่าน้ำหาดหินโง้ม บ้านขึ่ง หมู่ที่ 5 ตำบลขึ่ง อำเภอเวียงสา นานกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อจับปลาปักเป้า ที่กัดเด็กที่ลงเล่นน้ำ 13 รายหลายวันก่อนหน้านี้ โดยพบปลาปักเป้าเพียงตัวเดียวเท่านั้น
การลงมือลงแรงลากอวนในลำน้ำน่านของประมงจังหวัดน่าน และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนชาวบ้านในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้านว่า ปลาที่กัดเด็กนั้น ไม่ใช่ปลาปิรันยาที่มีผู้นำมาปล่อยลงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
พร้อมกันนั้น ประมงจังหวัดน่าน ยังยืนยันว่า เป็นปลาปักเป้าน้ำจืดชนิดหนึ่ง คาดว่าจะเป็นปลาปักเป้าดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetraodon cochinchinensis อยู่ในวงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (Tetraodontidae) มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 8 เซนติเมตร พบใหญ่สุด 13 เซนติเมตร รูปร่างกลมป้อม หัวท้ายเรียว ปากเล็ก ตาโต ด้านหลัง และด้านท้องมีผิวสากเป็นหนามเล็กละเอียด ด้านท้องนิ่มขยายตัวได้มาก ครีบหลังเล็กเช่นเดียวกับครีบก้น ลำตัวสีเขียวอมเทาคล้ำ หรือสีน้ำตาลเข้ม มีดวง หรือลายสีดำประทั่วตัว บางตัวอาจมีสีจางที่ด้านท้อง ตาแดง ครีบสีจาง
อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง และแม่น้ำขนาดใหญ่ กินหอย, กุ้ง, ปู และปลาตัวเล็กๆ โดยใช้ปากขบกัดได้ดี จัดเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย เป็นปลาที่ว่ายน้ำค่อนข้างช้า โดยใช้ครีบหลัง และครีบก้นโบกไปมา อาศัยในบริเวณที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น บางครั้งพบว่าตอดกัดคนที่ลงเล่นน้ำในบริเวณที่หลบซ่อนอยู่ด้วย บริโภคโดยการนำมาทำเป็นปลาร้า, ปลาเค็ม แม้ว่าจะมีพิษในตัวก็ตาม แต่ในบางพื้นที่ เช่น ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ก็ยังมีการบริโภคอยู่ โดยต้องถลกหนัง และเครื่องในออกอย่างระมัดระวัง
ในหลายแหล่งโดยเฉพาะจากแหล่งน้ำนิ่ง มักพบการเกิดพิษ (เตโตรโดท็อกซิน) ของปลาชนิดนี้ ตั้งแต่เบื่อ เมา จนถึงแก่ความตาย ยิ่งในฤดูผสมพันธุ์จะมีกลไกการเกิดพิษจากอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ที่ปลากินเข้าไปรุนแรงยิ่งขึ้น นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ด้วยมีพฤติกรรมหวงพื้นที่วางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ จะอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำที่ไหลเอื่อยๆ น้ำสะอาด และลึกพอสมควร จะอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ตัว และกระจายเป็นกลุ่มๆ ทั่วบริเวณแหล่งน้ำ เมื่อมีอะไรมารบกวนการผสมพันธุ์และวางไข่ ก็จะจู่โจมโดยการกัด และว่ายหนีไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปลาชนิดนี้หลังผสมพันธุ์วางไข่แล้ว ก็จะอพยพว่ายหนีไปยังแหล่งน้ำที่อื่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะเด็กๆ ระยะนี้ไม่ควรลงเล่นน้ำใกล้จุดบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการนำป้ายปักบอกเขตให้ระวังอันตรายจากปลาปักเป้า และที่สำคัญ ไม่ควรจับปลาปักเป้ามาทำอาหารกิน เนื่องจากปลาปักเป้ามีพิษร้ายแรง ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการนำมาประกอบอาหาร หากไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยง