xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยมยุคโบราณ : สะท้อนคุณธรรมผู้ให้และผู้รับ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่มิใช่ปราบด้วยการฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากการถูกฆ่าจะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง แต่ควรปราบด้วยการถอนรากโจรผู้ร้ายด้วยวิธีการให้ 3 ประการ คือ

1. แจกจ่ายพืชพันธุ์แก่กสิกรผู้ที่มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ

2. ให้ทุนแก่พ่อค้าผู้มีความอุตสาหะในการประกอบธุรกิจการค้า

3. ให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ

ด้วยการทำเช่นนี้ พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม ผู้คนทั้งหลายก็จะระเริงอุ้มลูกจูงหลานออกมาฟ้อนรำสนุกเฮฮา ไม่ต้องปิดประตูเรือน” นี่คือข้อความตอนหนึ่งในกฎทันตสูตร ซึ่งเป็นสูตรที่ 5 ในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่มที่ 8

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ซึ่งปรากฏในพระสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับการบูชายัญให้กูฏทันตพราหมณ์ฟัง โดยเล่าถึงการบูชายัญตามแนวทางที่ปุโรหิตแนะให้พระเจ้าวิชิตทรงกระทำว่า ก่อนที่จะทำการบูชายัญ ควรจะดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนี้

1. ปราบโจรผู้ร้ายที่ก่อกวนชาวบ้านก่อน แต่การปราบควรจะกระทำด้วยการให้ 3 ประการดังกล่าวแล้ว ไม่ควรทำด้วยการจับโจรมาฆ่าหรือจองจำ

2. เมื่อทำในประการที่แล้วปรากฏว่าได้ผลดี จึงแนะนำให้ดำเนินการบูชายัญโดยแจ้งให้บุคคลต่างๆ 4 ประเภททราบ และขออนุญาตเพื่อทำการบูชายัญ

บุคคล 4 ประเภทคือ

1. กษัตริย์ผู้ครองแคว้นต่างๆ ซึ่งมีสถานะน้อยกว่า ซึ่งอยู่ในนิคมชนบท

2. อำมาตย์ ข้าราชบริพารซึ่งอยู่ในนิคมชนบท

3. พราหมณ์มหาศาล ซึ่งอยู่ในนิคมชนบท

4. คหบดีที่อยู่ในนิคมชนบท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขออนุญาตหรือขอฉันทานุมัติในการทำพิธีบูชายัญ

ในข้อนี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการขอประชามติก่อนที่จะทำงานใหญ่ อันก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบแก่สังคมโดยรวม ในขณะที่บุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวได้ประโยชน์จากการทำเช่นนั้น

นอกจากต้องขออนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการบูชาจะต้องมีคุณสมบัติอันดีงามหลายประการ แต่ที่สำคัญคือต้องมีศีล มีความฉลาด มีสติปัญญา ทั้งผู้แนะนำหรือปุโรหิตซึ่งในยุคปัจจุบันเทียบได้กับที่ปรึกษาทั้งหลายก็จะต้องมีคุณสมบัติถึง 4 ประการ แต่ที่สำคัญคือมีศีล และสติปัญญา ทั้งนี้น่าจะเป็นหลักประกันไดว่า การบูชานั้นจะต้องเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม และจะต้องไม่มุ่งเน้นทำประโยชน์ให้แก่บุคคลอันเป็นปัจเจกด้วย

จากนัยแห่งคำสอนข้อนี้ น่าจะนำมาเปรียบเทียบกับแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสองประการดังต่อไปนี้ คือ

1. นโยบายประชานิยมในหลายๆ รูปแบบ มีตั้งแต่ให้เป็นตัวเงินไปจนถึงการแจกจ่ายสิ่งของ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแก่เด็กป. 1 เป็นต้น

2. นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายปรองดองที่กำลังเป็นปัญหาก่อความขัดแย้ง ทั้ง 2 ประการเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่ามีทั้งความเหมือน และความต่าง

ในส่วนที่เหมือนก็คือ กลุ่มเป้าหมายที่นโยบายตามข้อ 1 มุ่งเน้นมีทั้งชาวไร่ชาวนา ข้าราชการ และพ่อค้าได้รับอานิสงส์จากนโยบายนี้มากบ้างน้อยบ้าง

ส่วนที่ต่างก็คือ ก่อนจะกำหนดเป้าหมายคือผู้รับมิได้มีการกำหนดมาตรฐาน โดยยึดคุณธรรมของผู้รับดังที่เป็นไปตามแนวทางคำสอนของพระพุทธศาสนาซึ่งผู้ที่จะได้รับ ถ้าเป็นเกษตรกรก็จะต้องเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน พ่อค้าก็ทำนองเดียวกัน ส่วนข้าราชการแน่นอนว่ามีความต่าง เพราะในยุคที่กษัตริย์เป็นใหญ่ในแคว้นนั้นข้าราชการทุกคนรักภักดี และซื่อสัตย์กตัญญูจึงจะได้เป็นข้าราชการ ถ้าปราศจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้วก็จะต้องไปประกอบอาชีพอื่น เพราะขืนเป็นข้าราชการต่อไปก็จะพบกับการรังเกียจจากเพื่อนข้าราชการด้วยกัน สุดท้ายก็เป็นแกะดำอยู่ไม่ได้ต้องออกไป

ในด้านคุณธรรมของผู้ให้อันเกี่ยวกับผู้ประกอบพิธีบูชายัญก็จะต้องมีคุณธรรม อย่างน้อยก็มีศีล และมีสติปัญญา แต่ผู้ให้ที่เป็นนักการเมืองมีหลักประกันมากน้อยแค่ไหนว่ามีคุณธรรมข้อนี้ เปรียบได้กับกษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม อันเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั่วไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ข้อเขียนนี้อาจก่อให้เกิดแนวคิด และข้อยุติในการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้บ้าง ถ้าท่านที่เกี่ยวข้องทั้งในฐานะผู้รับและผู้ให้ หรือผู้ที่อยู่ในฐานะผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองได้ย้อนไปดูที่มาของคำสอนทางพุทธศาสนาข้อนี้แล้วมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าปรัชญาตะวันตก อันเทียบได้กับโลกียชนและทำเพื่อตนเองเป็นส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น