xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุเมธ” แนะคนไทยประพฤติทศพิธราชธรรมตามรอยในหลวงผ่านวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ มูลนิธิชัยพัฒนา เผยหากเดินตามรอยพระบาท ให้ประพฤติปฏิบัติให้ได้ 10 ข้อสำหรับทศพิธราชธรรม ชีวิตจะสงบ พ้นทุกข์


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวสุนทรพจน์พิเศษเรื่อง ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ในการเสวนาวิชาการ ก้าวข้ามภาวะวิกฤต สู้ความมั่นคงยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชน จัดโดยคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐ วุฒิสภา ว่า ประเทศชาติของเราเข้าไปอยู่ในขั้นวิกฤต หากเพ่งพิจารณาดูดีๆ ประเทศชาติของเราอยู่ในวิกฤตเหมือนคนเป็นโรคมะเร็งที่ถูกกินไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่รู้ตัว สุดท้ายก็จะจบลง มะเร็งที่ร้ายที่สุดคือการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ ประเทศไทยไม่เคยสอบผ่านเลยในเรื่องนี้อยู่ในอันดับที่ 80 จาก 130 กว่าประเทศไทย โดยได้คะแนนเฉลี่ยไม่เคยเกิน 3 คะแนน สิ่งที่น่าเศร้าคือ เวลาคะแนนจะดีขึ้นก็กลับร่วงตกลงไปอีก สิ่งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังหรือเปล่า ตลอด 20 ปีมีการดำเนินการปราบปรามการทุจริตกันมาตลอดแต่ไม่เคยหมด สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคืออาการที่น่าเป็นห่วงเพราะไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น

ดร.สุเมธกล่าวอีกว่า ตลอดเวลาการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนทุกอย่างแก่ประชาชน สอนให้เรารับผิดชอบ สอนหลักปรัชญา ธรรมะ สอนให้เรารับผิดชอบ สอนหลักเศรษฐศาสตร์ พูดกันเต็มบ้านเต็มเมือง “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่ปฏิบัติกันบ้างหรือไม่ มีคนไทยสักกี่คนจะเพ่งพินิจถึงสิ่งที่ท่านรับสั่ง

“วันๆ จะมุ่งสากล วันๆ ไปคว้าโปรเฟสเซอร์คนนั้นคนนี้ จ่ายเงินให้เขาเป็นล้านเหรียญให้เขามาพูกกรอกหูให้ฟัง เปิดตำราฝรั่งลอกเขา ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาของเราเองไม่สนใจ มัวแต่จะไปสากล มัวแต่จะรู้เขา แต่ไม่อยากเป็นเรา ผมเรียนต่างประเทศตั้งแต่สิบขวบ ผมน่าจะเป็นสากลมากกว่าท่านอีก เรียนจนรู้ว่ามันเป็นของเขา มันดีสำหรับของเขา แต่มันไม่ได้เหมาะสำหรับของเรา กรุณาหน่อยเถิดอย่าลืมจิตวิญญาณของเรา อย่าลืมรากของเรา” ดร.สุเมธกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าวอีกว่า พระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระเจ้าอยู่หัวใช้คำว่า ครอง แทนที่จะใช้คำว่าปกครอง ในฐานะนักรัฐศาสตร์เป็นคำกล่าวที่ไม่มีแนวคิดเรื่องอำนาจอยู่เลย ไม่มีความหมายบังคับด้วยอะไรทั้งนั้น แต่มีจิตสำนึกที่ไม่ได้ถูกบังคับที่จะนำไปสู่การกระทำตามคำพูดนั้น พระเจ้าอยู่หัวใช้คำว่า ครอง เหมือนคำว่าครองชีวิต คำว่าเราครองชีวิต คำว่า “เราครอง” นี้ต้องมีหลักมีจิตสำนัก มีความรับผิดชอบ มีจิตใจ มีความเต็มใจ ถ้าใครถามผม 65 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำอะไร ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าท่านดูแลประชาชนด้วยความรักความเมตตา ด้วยความรู้ หลายคนดูแลด้วยความรู้สึกด้วยอารมณ์แบบนั้นอันตราย ถ้าดูแลด้วยอารมณ์ คุณจบไปแล้วครึ่งนึง

ดร.สุเมธกล่าวว่า ได้ไปคุยกับท่าน ว.วชิรเมธี ท่านกล่าวว่า อำนาจไม่มีปัญญา เหมือนระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิด ฟังแล้วลึกซึ้งเพราะปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ พระเจ้าอยู่หัวดูแลแผ่นดินด้วยปัญญา ดูแล ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วยปัญญา ทุกอย่างของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่บนฐานของความรู้ ทั้งหมดอยู่บนฐานของปัญญา ปัญหาบ้านเราคือการไม่สามารถฝังลึกคุณธรรมจริยธรรมลงไปในจิตใจของคนได้

“พวกเราชอบเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองท่าน เราอยากเห็นท่านเห็นแล้วมีความสุข แต่ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าทุกอย่างที่ท่านทำท่านทำทำไม ทุกดนดูแล้วค้าอยู่แค่นั้น ไม่ได้ส่งผลต่อไปเลยว่าควรทำอย่างไร หันกลับมาศึกษาท่านบ้าน หันมาฟังท่านบ้าง เราจะไม่ทุกข์ยากเท่าวันนี้ถ้าปฏิบัติตามท่าน เชื่อเถอะ ในหลวงบรรลุแล้วซึ่งคำว่า ภูมิสังคม คือทำอะไรให้ศึกษาภูมิสังคม ศึกษาดิน น้ำ ลม ไฟ เสียก่อน แต่ละที่แต่ละแห่งมีหน้าที่ มีสังคมไม่เหมือนกัน เวลาไปทำอะไรที่ไหนต้องศึกษาเขาก่อน ถามเขาก่อนจะได้เกิดความเข้าใจ เข้าถึงเขา แล้วการพัฒนาจะได้ตั้งอยู่บนความถูกต้อง” ดร.สุเมธกล่าว

ดร.สุเมธกล่าวว่า ทำไมต้องให้ฝรั่งมาบอกเราเวลาเกิดวิกฤต อย่างในปี 2539 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก็คือ การโกงกัน ฝรั่งจึงออกกฎที่สุดท้ายแปลว่าธรรมาภิบาล ประเทศที่สอนเราคือประเทศที่อายุเท่าเมืองกรุงเทพฯ ประเทศเราอยู่ 900 กว่าปี ทำไมถึงไม่ธรรมะ ธรรมะของพระองค์ที่ทรงยึดถือและทรงปฏิบัติ คือ ธรรมาภิบาล มิติของทศพิธราชธรรมเป็นมิติของมนุษย์แตกต่างจากกฎของฝรั่งที่จะกำหนดไว้แข็งๆ แต่เป็นธรรมะ ทศพิธราชธรรม 10 ประการ เริ่มจาก “ทาน” คือการให้ ให้โดยไม่หวังประโยชน์อะไรตอบแทน, ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทุกศาสนามีศีลเพราะสอนให้คนทำดี ขอแค่ศีล 5 ข้อ ถ้าปฏิบัติได้ก็ถือว่าพอเพียง ไม่นานมานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสไว้คราวหนึ่งว่า ใครทุจริตแม้แต่นิดเดียวขอให้มีอันเป็นไป

ดร.สุเมธกล่าวอีกว่า ปริจจาคะ คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม, อาชชวะ หมายถึง ความซื่อตรง คือความซื่อสัตย์สุจริต, มัททวะ คือ ความอ่อนโยน การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า, ตปะ คือ ความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน, อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏเห็นเช่นทำร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล, อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น การทุจริต ก็คือการเบียดเบียนกัน, ขันติ ความอดทน คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย และ อวิโรธนะ คือ ความเที่ยงธรรม การไม่ยอมทำผิด ไม่ผิดกฎหมาย แม้แต่จริยธรรมประเพณีก็ไม่ทำให้ผิดเลยไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

“ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ในหลวงไม่เคยเรียกคู่กรณีไปว่า แต่ทรงบอกว่าให้สติกลับคืนมา บ้านเมืองพังแล้ว ใครผิดใครถูกท่านไม่เคยว่าใคร ธรรมะคือความดี คือความถูกต้อง ในหลวงเคยรับสั่งว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินคือเป็นคนที่แบกแผ่นดินไว้ ประเทศไทยเหมือนพีระมิดหัวกลับ มีอะไรก็จะเทใส่ท่าน ไปทะเลาะกันที่ไหนก็ไม่รู้ สุดท้ายก็ถวายฎีกา” ดร.สุเมธกล่าว

ดร.สุเมธกล่าวอีกว่า หากยากเดินตามรอบเบื้องพระยุคลบาท คือ ขอให้ประพฤติปฎิบัติกันให้ได้ทั้ง 10 ข้อ สำหรับทศพิธราชธรรม เพราะเป็นธรรมะสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพระราชา หากทำได้ชีวิตจะสงบมีความสุข และพ้นทุกข์ ทุกอย่างไม่ยากที่จะปฏิบัติถ้ามีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ ระบบเสรีนิยมกำลังกินโลกอยู่จนโลกกำลังทนอยู่ไม่ได้แล้วเพราะทรัพยากรดินน้ำลมไฟ กำลังจะหมดลง ไปดูตัวเลขได้เลยว่าทรัพยากรโลกเหลือแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น การใช้ทรัพยากรนี้เป็นบริโภคนิยมที่ใช้เกินเหตุ วิกฤตโลกเกิดจากอาการเดียวกันเหมือนกันคือ การบริโภคที่เกินเหตุ ย้อนไปปี 2539 วิกฤตเกิดจากความโลภ อยากได้กำไร สุดท้ายนำไปสู่จุดจบ บทเรียนบทแล้วบทเล่าแต่มนุษย์ไม่เคยจำ ความโลภชนะยากที่สุด พระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงพระราชทานทฤษฏีพอเพียง

“พระองค์ท่านสอนธรรมะ คือ พอประมาณ แต่ละคน แต่ละประเทศ แต่ละองค์กร ต้องประมาณตนก่อนเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน หาทางสายกลางให้ได้แต่ประเทศระบบเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน ทางสายกลางไม่เหมือนกัน เราต้องประเมินตนก่อน ดูตัวเอง ดูกายภาพตัวเอง สำรวจทุนก่อน, ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง, ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อนล่วงหน้า และต้องมีคุณธรรมจริยธรรม จะร่ำรวยเพียงใดถ้าไม่ตั้งอยู่ในจริยธรรมก็อยู่ไม่ได้ หากปฏิบัติได้สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนคือประโยชน์สุข รวยหรือไม่รวยไม่สำคัญ สำคัญว่าเงินทุกบาทได้ใช้ไปให้เกิดประโยชน์สุขหรือไม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น