xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”เห็นชอบและอนุมัติ งบประมาณจัดงานเฉลิมฉลอง “วันวิสาขบูชา” ประจำปี 2555 นับเป็นปีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี โดยที่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเทศกาลสัปดาห์วันวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ

นิยมเรียกว่า “งานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ประกอบกับที่ประชุม” มหาเถรสมาคม” ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2555 เป็นพิเศษ โดยคณะสงฆ์และรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพและให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดงานวันวิสาขบูชา ปี 2555
 
มีกิจกรรมที่จัดเน้นบูรณาการการศึกษาปฏิบัติ และเผยแพร่หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงสั่งสอนสู่ประชาชนทุกเพศทุกวัยอย่างกว้างขวางรวมถึงกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ปี 2555 อย่างถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม

“สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)”ก็เป็นเจ้าภาพที่สำคัญจึงเสนอของบประมาณการจัดกิจกรรมของคณะสงฆ์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 150,000,000 บาท เพื่อจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แบ่งเป็น

งบประมาณ การ“สัมมนาพุทธศาสนิกชนนานาชาติ” โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน 54,000,000 บาท

งบประมาณสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่จำนวน 9 องค์ ฉลองพุทธชยันตี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญ

พระชนมพรรษา 60 พรรษา จำนวน 30,000,000 บาท

งบประมาณงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี พิธีเททองหล่อพระ แห่พระบรมสารีริกธาตุ ฯลฯ ณ ท้องสนามหลวง (เสด็จพระราชดำเนิน) และศาสนกิจร่วมกับองค์กรพุทธอื่น ๆ จำนวน 30,000,000 บาท

งบประมาณงานฉลองพุทธชยันตี ณ พุทธมณฑล และพื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ จำนวน 16,000,000 บาท

งบประมาณ “การประชาสัมพันธ์งานพุทธชยันตี” จำนวน 20,000,000 บาท

ขณะที่ การจัดงานในนามของรัฐบาลไทย ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวพุทธนานาชาติรู้จักประเทศไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ขณะเดียวกันจะต้องทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยเกิดความตื่นตัวมากขึ้นด้วย โดยมีองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนพร้อมทั้งเชิญชวนแขกของรัฐบาลและผู้นำชาวพุทธนานาชาติเข้าร่วมงาน และขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการจัดงานยิ่งใหญ่
โดยกำหนดให้พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดงาน และสถานที่จัดงานอื่น ๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกิจกรรมอย่างเป็นเอกภาพพร้อมเพรียง ในการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า รูปแบบของการจัดจัดงานมี 3 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วน และประชาชนในการจัดงานฯ โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกรมการศาสนา เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรม

ด้านวิชาการ จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติหลักธรรมคำสอน โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ และการประชุมสัมมนาวิชาการภาคภาษาไทย โดยให้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนสาขาพระพุทธศาสนา ซึ่งการสัมมนาทางวิชาการ (ภาคภาษาไทย) หัวข้อการสัมมนา เป็นเรื่องราวพระพุทธศาสนากับศาสตร์ต่างๆ

ด้านกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม มีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับเครือข่าย เช่น มูลนิธิ หอจดหมายเหตุ เป็นต้น จัดหาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและการแสดงภาพยนตร์เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

โดยการจัดกิจกรรมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ เห็นควรให้หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมโดยใช้งบประมาณของหน่วยงานแต่ละหน่วย ร่วมกับการใช้งบประมาณจากการระดมทุนภาคประชาชน

อีกเรื่องที่“คณะรัฐมนตรี”อนุมัติคือ “ให้ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าร่วมโครงการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ 99 รูป งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 8 มิถุนายน 2555 รวม 15 วันโดยไม่ถือเป็นวันลาเป็นกรณีพิเศษ ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาห่งชาติ (พศ.

โดยโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ยังประโยชน์สูงสุด ให้เกิดต่อกุลบุตรที่มีจิตจงรักภักดี ให้ได้เข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา และร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจ อบรมกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย ตามหลักสัมมาปฏิปทาขององค์สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการเทิดทูน แสดงออกถึงความจงรักภักดี ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระประมุขของชาติ สมกับเป็นโอกาสพิเศษที่พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรมยาวนานที่สุดในโลก โดยผู้เข้าร่วมโครงการอุปสมบท มีจำนวน 199 คน.

ด้าน“กระทรวงมหาดไทย” เตรียมจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในส่วนภูมิภาคเช่นกัน
 

ตามชื่อโครงการ “หนึ่งจังหวัด หนึ่งพุทธบูชา หนึ่งอำเภอ หนึ่งพุทธบูชา หนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนึ่งพุทธบูชา”
 

ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2555 รวม 7 วัน โดยกำหนดพื้นที่จัดกิจกรรม 3 ส่วน ได้แก่

การจัดกิจกรรม ณ พุทธมณฑลจังหวัดนครปฐม การจัดกิจกรรม ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร และการจัดกิจกรรมในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานในส่วนกลาง

ขณะที่รัฐบาลแต่งตั้ง “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ขณะที่ภาคเอกชน นำโดย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย หรืออีกนัยหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการบูรณปฎิสังขรณ์สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล

ได้จัดทำ “พระเหรียญพระพุทธเจ้าน้อย” พระเนื้อผงวิเศษพระพุทธเจ้าน้อย และพิธีสมโภชแผ่นทองสำหรับหล่อเบบี้บุดดา

หลังจาก“คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นประธานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ก่อนที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า จนแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกันยังได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทยร่วมทำบุญหล่อ พระพุทธเจ้าน้อย เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ลุมพินีสถาน ด้วยการเปิดให้พุทธศาสนิกชนสามารถร่วมทำบุญบริจาค แผ่นทองคำ แผ่นละ 99 บาท โดยครึ่งหนึ่งของแผ่นทองคำสามารถนำกลับไปบูชาได้ และแผ่นทองคำอีกครึ่งหนึ่ง
จะนำไปหล่อเป็น พระพุทธเจ้าน้อย เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2555นี้

เพื่อร่วมฉลอง“งานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”เช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น