ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาต่อกรณีที่ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งจะพ้นจากการตัดสิทธิ์ทางการเมืองในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 นี้ ประกาศด้วยเสียงอันดังว่า จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐมนตรี “ปู 3” พร้อมสมัครใจที่จะขอเว้นวรรคทางการเมืองชั่วคราวว่า มีเหตุผลกลใดหรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่มากไปกว่านั้นหรือไม่
เพราะทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติแล้วคุณหญิงสุดารัตน์มีสิทธิที่จะกลับมารับตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างไม่มีใครกล้าคัดง้าง
ขณะเดียวกันเหตุผลที่คุณหญิงสุดารัตน์ชักแม่น้ำทั้ง 5 อ้างร้อยแปดพันประการก็ดูเหมือนจะไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย
แน่นอน ไม่มีใครเชื่อว่า คุณหญิงสุดารัตน์ซึ้งในรสพระธรรมและต้องการทำงานในฐานะประธานคณะดำเนินโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาลเหมือนที่ประกาศเอาไว้
“ปีนี้ตั้งใจว่า จะขอทำงานบูรณปฏิสังขรณ์สะพานบุญลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ หากมารับหน้าที่ทางการเมืองอาจทำให้งานบุญดังกล่าวถูกบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสีจากฝ่ายตรงข้ามทำให้งานไม่สำเร็จ”
เฉกเช่นเดียวกับเหตุผลเรื่องที่ไม่ต้องการเอาเปรียบเพื่อนพ้องน้องพี่ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งที่คุณหญิงสุดารัตน์ประกาศเอาไว้ว่า “ที่ผ่านไม่มีโอกาสร่วมในการเลือกตั้ง จึงไม่ควรเอาเปรียบเพื่อนพ้องน้องพี่ภายในพรรคเพื่อไทยโดยเข้าไปรับตำแหน่งใดๆ ดิฉันอยู่กับการเมืองมากกว่า 20 ปี เข้าใจและเห็นใจหัวอกคนที่ลงเลือกตั้ง แต่วันนี้มีข่าวทุกวันว่าคนบ้านเลขที่ 111 จะเข้ามารับตำแหน่ง มายึดโควตา จะปลดคนนั้นปลดคนนี้เพื่อให้คนบ้านเลขที่ 111 ได้เข้าไปแทน จึงขอให้กำลังใจคนที่ทำงานทุกคน เพราะ ส.ส.และรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก็มีความรู้ความสามารถ การไปบอกว่าเป็นผู้เล่นแถวสองแถวสามก็จะเป็นการทำร้ายจิตใจมากเกินไป แต่เชื่อว่าคงจะมีคนบ้านเลขที่ 111 เข้าไปบ้าง แต่คงไม่ใช่เข้าไปทั้งหมด น่าจะเป็นการเข้าไปเสริมกันดีกว่า” เพราะนั่นมิใช่นิสัยของนักการเมือง
ยิ่งเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตรจะพ้นจากตำแหน่งในอีกไม่นานนัก ด้วยข้ออ้างว่า “ดิฉันอายุมากแล้ว อยากเปิดโอกาสให้คนใหม่บ้าง” ก็ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะความเป็นจริง คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้แก่เกินแกงถึงขนาดทำงานไม่ได้
ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องมีเงื่อนงำที่ไม่ธรรมดา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลถึงความน่าจะเป็นในการที่คุณหญิงสุดารัตน์ปฏิเสธที่จะไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมืองและไม่ขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นมีเหตุผลที่สำคัญแตกต่างกันไปในแต่งละกรณี
สำหรับกรณีไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมืองหลังพ้นคุกการเมือง 30 พฤษภาคม 2555 นี้ มีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ
เหตุผลแรกเป็นเพราะนักการเมืองขิงแก่อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนานย่อมจับสัญญาณบางประการเกี่ยวกับสถานะของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เป็นอย่างดีว่า ง่อนแง่นและโคลงเคลงเพียงใดจากฝีไม้ลายมือในการบริหารราชการแผ่นดินที่กล่าวได้ว่า ถึงขั้นไม่เอาอ่าว เนื่องจากไม่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายที่ทางพรรคเพื่อไทยประกาศให้สำเร็จได้อย่างที่คุยโวโอ้อวดไว้ นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่ระลอกแล้วระลอกเล่า โดยเฉพาะค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นจากภาวะข้าวยากหมากแพง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นกรู้ทางการเมืองอย่างคุณหญิงสุดารัตน์จะนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับสถานการณ์ที่ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยเมื่อไหร่ ยิ่งถ้าการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นจากคำประกาศิตของนักโทษชายหนีคดีไม่สามารถเยียวยาสถานการณ์ให้ดีขึ้นด้วยแล้ว โอกาสที่สถานการณ์ทางการเมืองจะพลิกผันก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน
ไหนจะปัญหาแกนนำคนเสื้อแดงที่เริ่มปีนเกลียวและแตกคอกันเนื่องจากแย่งกันเป็นใหญ่ในทางการเมือง รวมถึงคนเสื้อแดงระดับรากหญ้าเองที่พิสูจน์ด้วยสายตาของตนเองแล้วว่า นักการเมืองที่พรรคเพื่อไทยส่งเข้าประกวด มิได้ตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนจริง หากแต่เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจ ดังที่ประชาชนได้ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ที่จังหวัดปทุมธานี รวมถึงอีกหลายจังหวัด
ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับการที่คุณหญิงสุดารัตน์ในระยะหลังเข้าไปทำงานเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์รับรู้สัญญาณอะไรบางประการเกี่ยวกับตัวนายใหญ่ของคนเสื้อแดง เนื่องจากจนกระทั่งบัดนี้ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แถมโคลนนิงผู้น้องก็เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งราชอาณาจักรไทย แต่จนแล้วจนเล่า “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาเหยียดบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้
ส่วนเหตุผลที่สองนั้น ต้องบอกว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูในหมู่แกนนำระดับสูงและคนใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจตระกูลชินวัตรว่า เป็นเพราะ “นายหญิง” แห่งวังจันทร์ส่องหล้า “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ไม่ปรารถนาที่จะให้คุณหญิงสุดารัตน์กลับเข้ามาในวังวนแห่งอำนาจอีกครั้ง จะด้วยเหตุผลเรื่องราวแต่เก่าก่อนที่ยังคงเป็นความหลังคาใจกันอยู่ หรือจะด้วยเหตุผลในปัจจุบันที่วังจันทร์ส่องหล้าทุ่มเทงบประมาณในการจัดตั้งรัฐบาลไม่น้อย ทำให้ต้องการส่ง “สายตรง” ของตนเองให้เข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งว่ากันว่าอดีตสามีก็มิอาจขัดใจอดีตภรรยาผู้ยังทรงอำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ผู้นี้ได้
แน่นอน เมื่อถูกตีกันจากวังจันทร์ส่องหล้าขนาบด้วยปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกับกลุ่มของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุงที่ต้องการยึดพื้นที่กรุงเทพมหานครเอาไว้เช่นกัน ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์จึงจำใจต้องตัดสินใจเช่นนี้
ขณะที่กรณีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์จะรับรู้ได้ด้วยตนเองว่า ถึงลงไปก็แพ้และสุ่มเสี่ยงที่จะนำชื่อเสียงทางการเมืองที่สั่งสมเอาไว้ไปทิ้งเสียเปล่าปลี้ๆ เพราะคนกรุงยังคงจำความพินาศฉิบหายจากมหาอุทกภัยอันเกิดจากฝีมือบริหารอันเส็งเครงของรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้น จึงเลือกที่จะตัดสินใจตัดบทไม่ขอเข้าไปข้องเกี่ยวเสียแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะ “คุณหญิงสุดารัตน์” คนเดียวเท่านั้นที่เป็นนกรู้ทางการเมือง หากสังเกตให้ดีก็จะเห็นเช่นกันว่า “ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรีก็ดูจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมืองของตัวเองไปไม่น้อย มิใช่กระทำตัวเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรี” เหมือนช่วงแรกๆ อีกต่อไป
เสมือนหนึ่ง ร.ต.อ.ดร.เฉลิมจะสามารถรับรู้สัญญาณอะไรบางอย่างได้ตามประสานักการเมืองที่มีสัญชาตญาณและเป็นเอตทัคคะที่มีความช่ำชอง ชำนาญการในเรื่องนี้ไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน
คุณหญิงสุดารัตน์ก็น่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน