xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : Mirror Mirror

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นเทพนิยายคลาสสิคในอดีต ถูกนำมาดัดแปลง ให้กลายเป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ แต่ยังคงเค้าโครงเรื่องเดิมเอาไว้ใน “Mirror Mirror” โดยเล่าเรื่องราวของเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งปกครองโดยพระราชาซึ่งเป็นที่รักของประชาชน พระองค์มีพระธิดาเป็นสาวสวยนามว่า “สโนไวท์”

แต่เมื่อพระมารดา หรือราชินีองค์เดิมสิ้นพระชนม์ ราชินีองค์ใหม่ที่เข้ามาแทนก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งพระราชาก็หายตัวไปในป่าต้องห้ามอย่างไร้ร่องรอย มีเพียงเสียงร่ำลือว่า พระองค์สิ้นพระชนม์จากอสูรในป่า ส่วนราชินีองค์ใหม่ก็เถลิงอำนาจเป็นผู้ปกครองเมืองแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่ “สโนไวท์”พระธิดาจากราชินีองค์ก่อน ก็ได้เป็นเพียงแค่เด็กในวังคนหนึ่งที่มีเพียงสถานะเจ้าหญิง แต่ไร้ซึ่งอำนาจ และต้องอาศัยอย่างหลบๆซ่อนๆอยู่กับบรรดาคนครัว

วันหนึ่งสโนไวท์เบื่อหน่ายกับชีวิตที่ไร้สีสัน จึงแอบหนีออกไปนอกวัง โดยไม่บอกกล่าวใคร ผ่านเข้าไปสู่ดินแดนป่าต้องห้าม และได้พบกับเจ้าชายอัลคอตต์ผู้เดินทางมาจากแคว้นบาเลนเซีย ซึ่งพลาดท่าโจรป่า และถูกมัดแขวนไว้กับต้นไม้พร้อมกับพระสหาย

สโนไวท์จึงช่วยตัดเชือกให้ ก่อนกล่าวคำร่ำลากัน เพราะเจ้าหญิงผู้เลอโฉมอยากไปดูชีวิตชาวบ้านในเมือง ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ส่วนเจ้าชายนั้นเดินทางผ่านไป โดยมีจุดหมายปลายทางที่พระราชวัง

เมื่อไปถึงเมืองซึ่งเป็นอาณาเขตนอกราชวัง สโนไวท์จึงได้พบกับความจริงที่ว่า สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยตนยังเด็ก ซึ่งเคยเดินทางมาพร้อมกับพระบิดาเพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ในครั้งนั้น ชาวบ้านต่างมีความสุข เฉลิมฉลองร้องเพลงกันทุกวัน

แต่ปัจจุบัน สภาพบ้านเมืองกลับเต็มไปด้วยความหิวโหยแร้นแค้น ผู้คนแทบไม่มีอันจะกิน เพราะราชินีองค์ใหม่เรียกเก็บภาษีสูงมาก และสิ่งที่ทำให้ประชาชนจำต้องอดทนต่อความยากลำบาก อันแสนโหดร้าย เพราะเกรงกลัว “อสูร” ซึ่งอาศัยอยู่ในป่า

จุดนี้เองที่ราชินีนำไปอ้างว่า ภาษีสูงลิ่วที่ขึ้นทุกปีนั้น ก็เพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการรักษาความปลอดภัย ให้ผู้คนมีชีวิตรอดจากอสูรร้ายนั่นเอง

ด้านเจ้าชายอัลคอตต์เดินทางต่อเข้าไปในวัง เมื่อราชินีได้เห็นเจ้าชายรูปงามแล้วจึงต้องตาต้องใจ หมายมั่นจะอภิเษกกับเจ้าชายให้ได้ เหตุผลหนึ่งก็มาจากต้องการกอบกู้สภาวะเงินคงคลังของตนเอง ที่กำลังย่ำแย่จนถึงขั้นติดลบ ราชินีเลอโฉมจึงจัดงานเต้นรำใหญ่โต เพื่อเฉลิมฉลอง หวังให้เจ้าชายสนใจ โดยค่าใช้จ่ายต่างๆก็นำมาจากการขูดรีดภาษีประชาชนนั่นเอง

ภายในงานเลี้ยง สโนไวท์แอบลอบเข้าไปร่วมงานและได้พบกับเจ้าชายอีกครั้ง พร้อมทั้งได้เต้นรำกัน จนราชินีใจร้ายเห็น และเรียกสโนไว์ไปต่อว่า จนนำมาสู่การมีปากเสียง เพราะเจ้าหญิงทวงสิทธิ์ในการปกครอง พร้อมทั้งเล่าถึงชีวิตประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากความฟุ่มเฟือยในราชวัง

ราชินีจึงโกรธมากและสั่งเนรเทศสโนไว์ออกนอกวังไป พร้อมรับสั่งให้ “ไบรตัน” สมุนคู่กาย ลอบฆ่าสโนไวท์ในป่าลึก แต่ไบรตันก็ใจอ่อน ไม่ได้ทำร้ายเจ้าหญิง และปล่อยให้หนีไปเผชิญชะตากรรมเอาเอง และนั่นก็ทำให้เจ้าหญิงแสนสวยได้พบกับเหล่าคนแคระทั้งเจ็ด ที่รวมตัวกันดักปล้นคนที่เดินทางผ่านไปมาในป่า สโนไวท์ไม่มีที่ไป จึงขออาศัยอยู่กับบรรดาคนแคระ ซึ่งทั้งหมดก็ตกลงรับเจ้าหญิงให้อยู่ด้วย

วันหนึ่งเหล่าคนแคระได้ไปดักปล้นเงินภาษีที่กำลังจะนำไปส่งวัง สโนไวท์ได้นำเงินภาษีเหล่านั้นไปคืนประชาชน โดยยกความดีความชอบให้กับคนแคระ ทำให้เหล่าคนแคระที่เคยโดนชาวบ้านดูถูก กลายเป็นฮีโร่ขวัญใจทุกคน

สโนไวท์ได้ตั้งกฎว่า หากเหล่าคนแคระจะปล้นเงินภาษี ก็ต้องนำมาคืนให้กับชาวบ้านทุกครั้ง แต่เรื่องราวก็ยิ่งชุลมุนวุ่นวายมากขึ้น เมื่อเจ้าชายอัลคอตต์อาสาราชินี เดินทางไปปราบโจรที่ดักปล้นเงินหลวง เพราะไม่รู้ว่าเงินภาษีนั้นถูกรีดมาจากชาวบ้านที่อดอยาก

เรื่องราวยิ่งวุ่นกว่าเดิมเมื่อเจ้าชายต้องมนต์ “ยาเสน่ห์ลูกหมา” ที่ทำให้ตนเองกลายร่าง มีสภาพไม่ต่างจากลูกหมาตัวโปรดของราชินี ที่สั่งให้ทำอะไรก็พร้อมทำตามเจ้านายสุดที่รัก และหนึ่งในนั้นก็คือการยอมเข้าพิธีสมรส

สโนไวท์กับเหล่าคนแคระจึงต้องเดินทางไปล้มพิธีแต่งงาน ช่วงชิงเจ้าชายกลับคืนมาเพื่อคลายเวทมนต์ ก่อนที่จะไปต่อสู้กับราชินีใจร้ายในครั้งสุดท้าย เพื่อทวงสิทธิ์ในการปกครองดินแดนที่เคยสงบสุข

แม้ Mirror Mirror เป็นเทพนิยายที่แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก แต่คติข้อคิดจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะสังคมไทยก็มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของประชาชน แต่สถาบันกษัตริย์ของไทยนั้นมั่นคงดำรงอยู่ได้ด้วย“ทศพิธราชธรรม” หลักธรรม 10 ประการ ของพระเจ้าแผ่นดิน ที่กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงถือปฏิบัติสืบมา ได้แก่

1. ทาน หมายถึง การให้ การเสียสละ 2.ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ 3.บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม 4.ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต 5.ความอ่อนโยน คือ มีความอ่อนโยน สัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส และอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า 6.ความเพียร คือ มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน 7.ความไม่โกรธ คือ การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ 8.ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น 9.ความอดทน คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง 10.ความเที่ยงธรรม คือ การถือความเที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหว

“ทศพิธราชธรรม” นั้น มิได้หมายความว่าบุคคลทั่วไปจะนำมาปรับใช้ในชีวิตไม่ได้ เพราะหลักธรรม 10 ประการ นี้ คือ หลักการปกครองที่ประเสริฐที่สุดที่ใครก็ตามสามารถนำมาใช้กับองค์กรของตนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจต่างๆในมือ หากใช้หลักธรรม 10 ข้อนี้ในการบริหารจัดการบ้านเมือง ย่อมทำให้ประชาชนพลเมืองมีความสงบสุขอย่างแท้จริง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)






กำลังโหลดความคิดเห็น