การบูชายัญหรือยัญญพิธี เป็นพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ และในพิธีนี้สัตว์จำนวนมาก จะถูกนำมาฆ่าเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า
แต่เมื่อมีผู้ไปถามพระพุทธเจ้าให้ทรงอธิบายเกี่ยวกับยัญญสัมปทา (ความถึงพร้อมยัญ 3 ประการ) อันมีส่วนประกอบ 16 อย่าง พระพุทธองค์ก็ได้ทรงอธิบายโดยยกตัวอย่าง มหากษัตริย์ในอดีต ดังปรากฎในกฎทันตพราหมณ์ ซึ่งจะนำมาอธิบายโดยสังเขปดังต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ และได้แวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ ชื่อว่า ขาณุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสาร พระราชทานให้แก่พราหมณ์ชื่อว่า ขาณุมัตตะ
ณ วันเวลานั้น ขาณุมัตตพราหมณ์ได้เตรียมประกอบยัญญพิธี โดยนำโคตัวผู้ 700 ตัว ลูกโคตัวผู้ 700 ตัว ลูกโคตัวเมีย 700 ตัว แพะ 700 ตัว และแกะ 700 ตัว รวมเป็น 3,500 ตัว ผูกติดกับเสา เพื่อเตรียมบูชายัญ
ในขณะที่พราหมณ์เตรียมทำพิธีบูชายัญอยู่นั้น ได้มองเห็นพราหมณ์คฤหบดีชาวขาณุมัตตะได้เดินเป็นกลุ่ม เพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์ว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
กฎทันตพราหมณ์ได้สอบถาม ครั้นได้ทราบเรื่อง จึงสั่งให้คนเหล่านั้นรอ ตนจะไปด้วย แต่ได้มีผู้คัดค้านว่า ไม่ควรไป โดยอ้างเหตุที่กฎทันตพราหมณ์ เป็นผู้ประเสริฐเลิศด้วยคุณสมบัตินานัปการ
แต่ในที่สุด กฎทันตพราหมณ์ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลถาม พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายยัญญสัมปทา
พระพุทธเจ้าได้ทรงเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตในอดีตกาล ผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ทำสงครามได้ชัยชนะเหนือแคว้นต่างๆ ทั่วปฐพีมณฑล ใคร่จะบูชามหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตให้มาช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น
พราหมณ์ปุโรหิตแนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่การปราบนั้นจะต้องไม่กระทำด้วยการฆ่าหรือจองจำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้ว พวกโจรที่เหลือก็จะโกรธแค้นและเบียดเบียนชนบทในภายหลัง ในลักษณะตัวตายตัวแทน แต่ควรจะปราบด้วยการถอนรากจากความเป็นโจรผู้ร้าย ด้วยวิธีการ 3 ประการคือ
1. แจกพืชพันธุ์แก่กสิกรในชนบทที่มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ
2. ให้ทุนแก่พ่อค้าที่มีความอุตสาหะในการประกอบการค้า
3. ให้อาหาร และค่าจ้างแก่ข้าราชการ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงชีพตามอัตภาพไม่เดือดร้อน และด้วยวิธีเช่นนี้ พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน จากการจัดเก็บภาษีอากร และในขณะเดียวกัน ชาวชนบทก็จะไม่มีโจรผู้ร้ายมารบกวน เป็นเสี้ยนหนาม ก่อความเดือดร้อน จึงสามารถอุ้มลูกจูงหลานเที่ยวงานรื่นเริง โดยไม่ต้องปิดประตูบ้านเรือน ไม่ต้องกังวลว่าทรัพย์สินจะถูกขโมยดังแต่ก่อน
พระเจ้ามหาวิชิตทรงทำตามคำแนะนำ และได้ผลดีตามนั้น
ต่อมาจึงได้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาเข้าเฝ้าอีกครั้ง และขอให้ช่วยสอนเรื่องการบูชามหายัญ
พราหมณ์ปุโรหิต จึงแนะให้ขออนุญาตบูชามหายัญ โดยขออนุญาตจากบุคคล 4 จำพวก คือ
1. กษัตริย์ ผู้น้อยกว่า ผู้อยู่ในนิคมชนบท (ห้าเมือง)
2. อำมาตย์ ข้าราชบริพาร ที่อยู่ในนิคมชนบท
3. พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิมคมชนบท
4. คฤหบดี ที่อยู่ในนิคมชนบท
ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลทั้ง 4 ประเภท ทราบเรื่องและอนุญาตให้บูชามหายัญ
การที่พระเจ้ามหาวิชิต ขออนุญาตบุคคล 4 ประเภท ถือว่าเป็นองค์ประกอบการบูชายัญ ฝ่ายอนุมัติ 4 ประการ
พระเจ้ามหาวิชิต ประกอบด้วยคุณสมบัติ 8 ประการ คือ 1. มีชาติดี 2. มีรูปงาม 3. มีทรัพย์มาก 4. มีกำลังรบ 5. มีศรัทธาบริจาคทาน 6. สดับรับฟังมาก มีการศึกษาดี 7. รู้ความหมายของสุภาษิตนั้นๆ 8. เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา มีศีลสมบัติ อีกประการของการบูชายัญ
คุณสมบัติของปุโรหิต อีก 4 คือ 1. มีชาติดี 2. ท่องจำมนต์ได้ 3. มีศีล 4. เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา
จึงรวม 16 ประการ อันเป็นองค์ประกอบของการบูชายัญนั้น
เมื่อจบองค์ประกอบการบูชายัญ 16 ประการแล้ว ปุโรหิตได้แสดงยัญ 3 ประการคือ
1. ไม่ต้องเดือดร้อนใจว่าโภคทรัพย์เป็นอันมากจักหมดไป กำลังหมดไป และหมดไปแล้ว
2. การบรรเทาความเดือดร้อนใจของผู้บูชายัญ ที่จะพึงมีในฝ่ายผู้รับทาน 10 ประการ คือ ผู้ฆ่าสัตว์ ผู้ลักทรัพย์ ผู้ประพฤติผิดในกาม ผู้พูดปด ผู้พูดส่อเสียด ผู้พูดคำหยาบ ผู้พูดเพ้อเจ้อ ผู้ละโมบอยากได้ของคนอื่น ผู้พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ผู้เห็นผิดทำนองคลองธรรม อาจมาสู่พิธีนี้ โดยตั้งใจว่ายัญนี้อุทิศผู้ที่ปฏิบัติดี
3. ในการบูชายัญ ไม่มีการฆ่าสัตว์ ไม่มีการตัดต้นไม้ เพื่อสร้างปราสาท ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อปูลาดพื้น พวกทาสพราหมณ์ไม่ต้องถูกขู่เข็ญลงโทษ มีน้ำตานองหน้า ใครอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ และยัญนี้สำเร็จด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เท่านั้น
จากพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ปฏิรูปคำสอนของพราหมณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการบูชายัญในลักษณะที่เป็นประโยชน์ 3 ประการคือ
1. ประการแรกชี้ให้เห็นว่า ความสงบสุขของปวงประชา จะได้มาด้วยการให้ความช่วยเหลือ
2. การที่ทางฝ่ายปกครองจะทำการใดๆ อันมีผลกระทบต่อปวงประชา ควรจะขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบก่อน
3. ในการบูชายัญไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ และปวงประชาให้เดือดร้อน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย สามารถ มังสัง)