xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนชีวิตที่ทักษิณควรเรียนรู้

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญครั้งหนึ่งของชาติในช่วงกลางกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2411 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับจากการทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา แต่ก่อนหน้านั้นพระองค์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาท แต่พระองค์ก็ได้ทรงสำแดงพระราชประสงค์ไว้ว่า ผู้ใดก็ตามที่สมควรจะเข้ามาดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์นั้น ควรจะได้รับความยินยอมพร้อมใจอย่างพร้อมเพียงจากบรรดาขุนนาง

เนื่องจากในขณะนั้นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมพรรษาเพียง 15 ปีเศษ ถ้าหากการขึ้นครองราชย์ของพระราชโอรสมิได้รับการยอมรับโดยบรรดาขุนนางทั้งปวง ย่อมอาจจะก่อปัญหาความขัดแย้งติดตามขึ้นมาภายหลังได้ ดังที่เคยปรากฏขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายกรณี ซึ่งการสืบราชสมบัติมักจะนำไปสู่การจลาจลและการก่อกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์ บ้านเมืองอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ไร้ขื่อแป เกิดความแตกแยกกันเป็นหลายก๊ก ซึ่งมักจะใช้เวลานานพอสมควรที่จะมีบุคคล ขุนนางหรือราชวงศ์ เข้าแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่ภาวะปกติ เป็นเหตุให้บ้านเมืองอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ

การยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบรรดาขุนนางแล้ว จะเป็นหนทางหนึ่งที่บ้านเมืองจะราบรื่น และบรรดาราชวงศ์ ขุนนาง และเสนาบดีจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มความภาคภูมิ

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของบรรดาราชวงศ์ ขุนนาง และเสนาบดีที่สำคัญๆ ในขณะนั้น ซึ่งถือเสมือนว่าเป็นตัวแทนของสังคมไทยในยุคนั้น ทำหน้าที่เลือกเป็นบุคคลที่เหมาะสม เพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไป

จากการประชุมของบรรดาขุนนางและเสนาบดีหลังการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 4 ต่างมีมติร่วมเห็นควรให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระราโชบายที่แยบยลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรณีศึกษาให้เห็นว่า พระองค์มีแนวคิดเชิงประชาธิปไตยแล้ว และใช้หลักรัฐศาสตร์เหตุผลเพื่อให้การปกครองบ้านเมืองมีความราบรื่น จึงเกิดวลีที่ว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” หมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ซึ่งการเลือกเฟ้นนี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงลำดับการสืบสันติวงศ์ แต่คำนึงถึงความสามารถและความเหมาะสมเป็นเกณฑ์

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระเยาว์ ที่ประชุมจึงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาค ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำให้อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของบรรดาขุนนางผู้ใหญ่

เป็นเรื่องน่าสนใจศึกษาเกี่ยวกับตระกูลบุนนาค ซึ่งมีเชื้อสายจากคหบดีชาวเปอร์เซีย ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คหบดีท่านนี้นามว่า เฉกอะหมัด พร้อมคณะมาทำการค้าขายในราชอาณาจักรศรีอยุธยาและเกิดประทับใจ จึงตั้งถิ่นฐานในดินแดนอยุธยาสืบทอดกันมาหลายชั่วคน และด้วยความสามารถในการประสานงานทำการค้าของบุคคลเหล่านี้ จึงสามารถรับราชการในกรมพระคลังหลายคนจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี กลุ่มข้าราชการเก่าตระกูลบุนนาคครั้งอยุธยา ก็เข้าสวามิภักดิ์และมีความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 1 ทั้งยังมีคนหนึ่งในตระกูลบุนนาคได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมรสกับเจ้าคุณมวล พระกนิษฐภคนีของสมเด็จพระอมรินทร์มาตย์ในรัชกาลที่ 1 ตระกูลบุนนาคจึงเกี่ยวดองกับรัชกาลที่ 1 โดยตรง และหลายคนรับราชการสนองพระเดชพระคุณราชวงศ์จักรีตั้งแต่นั้นมา และรุ่งเรืองสุดตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4

มีหลายคนในตระกูลบุนนาคขณะนั้นดำรงตำแหน่งสำคัญและมีอำนาจอิทธิพลสูง เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ หรือ ดิศ บุนนาค เจ้าพระยาสุริยวงศ์ไวยวัฒน์ หรือ วอน บุนนาค บุตรชายของ ช่วง บุนนาค หรือเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ดูแลกองทัพนั่นเอง และหากคิดการใหญ่ก็สามารถเป็นกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์ได้อย่างง่ายดาย

ด้วยประการเช่นนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชหัตเลขาถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ว่า “เมื่อพ่อได้รับราชสมบัติในเวลาอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น เหมือนตะเกียงจะริบหรี่จวนจะดับ”

มีเกร็ดตำนานเกี่ยวข้องระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ โต พรหมรังสี อริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีอิทธิฤทธิ์ทั้งทางธรรมและคาถาอาคมเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะพระเครื่องที่ท่านได้สร้างไว้นั้น ในปัจจุบันหายาก และราคาบูชาอยู่ประมาณตั้งแต่ 5 – 50 ล้านบาท

สมเด็จโตมีความสนิทกับเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งอยู่ในอำนาจผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นานถึง 5 ปี แต่ก็มีข่าวลือว่าท่านจะคิดกบฏ และกระแสนี้ก็กระจายไปทั่วจนถึงหูของสมเด็จโต ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงได้จุดไต้กลางวันแล้วเดินเข้าไปในวังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แล้วพูดเตือนว่า “จะเป็นเพียงข่าวลือหรือจริงเท็จอย่างไร อาตมาขอบิณฑบาตเสีย” ท่านผู้สำเร็จราชการก็อนุโมทนา

นอกจากนี้แล้วสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ยังเป็นผู้แต่งตั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นวังหน้า อันเป็นตำแหน่งเกือบเทียมเท่าพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้งยังไม่เป็นสายตรงกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เป็นราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และตำแหน่งนี้รัชกาลที่ 5ทรงเห็นว่าหมดความจำเป็นและเป็นปัญหาในการปกครองแผ่นดินเพราะขาดเอกภาพในภาวะแวดล้อมที่มีภัยภายนอกประเทศคุกคามร้ายแรงจึงทรงยุบเสียเมื่อขึ้นครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก และอำนาจต่างๆ ในพระนครเป็นอย่างดี ซึ่งบริบทเหล่านี้ทำให้พระราชอำนาจถูกลิดรอนไปโดยปริยาย และเกิดกลุ่มการเมืองขึ้น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสยามหนุ่มซึ่งเป็นกลุ่มราชภักดีและมีรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นประธาน รวบรวมเอาคนหัวใหม่เข้าใจ “ตะวันตก” มารวมตัวกัน และมีการออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “ดรุโณวาท” เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับชาติตะวันตก และแนวคิดการคุกคามล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

กลุ่มสยามอนุรักษ์ที่มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาคเป็นหัวหน้าร่วมกับบรรดาขุนนางและเสนาบดีโดยเฉพาะในตระกูลบุนนาค ที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นแบบถอนรากถอนโคน แต่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเท่าที่เห็นว่าจำเป็น และกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองตั้งแต่รัชกาลที่ 3

กลุ่มสยามเก่า เป็นกลุ่มที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้า ทรงเป็นประธานกลุ่ม และมีข้าราชการ ขุนนาง และเสนาบดี รวมทั้งกลุ่มราชวงศ์หัวโบราณที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะเกรงว่าจะกระทบกับผลประโยชน์ของฝายตน

จึงเห็นได้ว่าพระราชบัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในฐานะล่อแหลมต่อภาวะแวดล้อม ทั้งภัยภายนอกและภายใน

แต่ด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ของตระกูลบุนนาค โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่มีอำนาจล้นฟ้าทั้งกำลังเงิน อิทธิพลต่างประเทศ อิทธิพลกองทัพ และมีข้าทาสบริวารมากมาย เหนือกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ทรงพระเยาว์และครองราชย์แล้ว

หากเมื่อพิจารณาถึงอำนาจอิทธิพลของตระกูลบุนนาค ซึ่งสร้างสมมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เป็นอำนาจการเมือง การคลังและการทหารเบ็ดเสร็จตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสามารถยึดอำนาจและสถาปนาตัวเองเป็นพระมหากษัตริย์ก็ยังได้ แต่ด้วยจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยโดยเฉพาะต้นราชวงศ์จักรี ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค ขจัดกิเลสความใฝ่สูง ความอยากเป็นใหญ่และความโลภในทรัพย์สินเงินทองออกจากความคิดของท่าน กลับดำรงรักษาราชวงศ์จักรีไว้อย่างถวายชีวิต

เรื่องราวเหล่านี้อยากให้ทักษิณได้ศึกษา เพราะตั้งแต่ปลายยุครัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะตัวทักษิณเองก็สร้างเงื่อนปมในทำนองนี้ ไม่แสดงความจงรักภักดี ทั้งยังใช้วาทศิลป์พูดเองเชิงเปรียบเปรยก้าวล่วงเกือบจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยตรงอยู่หลายครั้ง และยอมให้สาวกหลายคนโดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข ผู้แสดงเหมือนหนึ่งเป็นผู้แทนทักษิณในการต่อต้านสถาบัน โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 ปีที่แล้ว โดยที่ทั้งสองคนใช้สื่อต่างประเทศเป็นเครื่องมือ หรือการให้สัมภาษณ์ที่ส่อให้เห็นชัดเจนว่าต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น คนไทยควรจะพิจารณาถึงพฤติกรรมความต่างระหว่างคนในตระกูลบุนนาคที่ในอดีตมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งสามารถเป็นกบฏแย่งชิงราชสมบัติได้ไม่ยากนัก กับคนบางคนในตระกูลชินวัตร และบรรดาสาวกอนาธิปไตยแดงล้มเจ้า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนให้เห็นว่า คนในตระกูลบุนนาคเป็นบุคคลที่เหมือนดอกบัวพ้นน้ำ ส่วนคนบางคนในตระกูลชินวัตร แดงล้มเจ้าและแนวร่วมทั้งหลาย ยังเป็นดอกบัวใต้ตมที่มีแต่ความโลภ ความเขลา ความใฝ่สูงและความอกตัญญู บ้านเมืองจึงเป็นเช่นนี้เพราะอัตตาของคนเพียงคนเดียว หากถ้าทักษิณได้เรียนรู้สำนึกและสูงส่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์หรือช่วง บุนนาคอย่างลึกซึ้งแล้วเขาก็คงจะเป็นบัวเหนือน้ำทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น