xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์ 13 กับตัวเลข 2,500!!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ได้อ่านบทความ “ตัวเลขอัปมงคล!!” ของคุณโสภณ องค์การณ์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.manager.co.th เมื่อวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 แล้วอดเป็นห่วงไม่ได้จริงๆ กับอนาคตของประเทศไทย ดังความปรากฏบางตอนในช่วงท้ายของบทความของคุณโสภณว่า:

“เสียงซุบซิบอัปมงคลต่อตุลาการยังมีตัวเลข เช่น มีรวมยอดเสนอ 2,500 ให้เป็นมติ 5:3 เพื่อประโยชน์ต่อขบวนการเหลี่ยมร้าย! แต่เป้าประสงค์หลักคืออยากให้เป็น 6:2! นั่นคือผู้ร้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มต้องบริโภคแห้ว! นี่เป็นอัปมงคลจริงๆ

จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้! แต่ถ้าผลออกมาเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ 7:1 เป็นประโยชน์ของผู้ถูกร้อง ทำให้เสียงซุบซิบ ข้อสงสัยเริ่มเข้าเค้า! ข้ออ้างคือ “อยากให้ทุกฝ่ายเริ่มต้นใหม่ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ความเสี่ยงต่อการนองเลือด ฯลฯ”

บทความดังกล่าวมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะของแบบนี้หากสมมติเป็นเรื่องจริงก็คงไม่มีใครจะมาพิสูจน์ความจริงหรือหาใบเสร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมที่ระบอบทักษิณอยากได้นั้น อาจไม่เหมือนความต้องการของประชาชนคนทั่วไปอยากได้จากกระบวนการยุติธรรม?

สังเกตว่าคนประเภทใดในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย!?

นายพิชิฏ ชื่นบาน ที่ศาลได้เคยถูกจำคุก 6 เดือนที่ได้นำเงิน 2 ล้านบาทใส่ถุงขนมไปวางที่สำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 และนายพิชิฏ ชื่นบาน ก็ได้มาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยในวันนี้

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งนายชัยเกษม นิติสิริ มีประวัติเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมถึง ปตท. แต่นายชัยเกษมเป็นผู้ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ฟ้องร้องในคดีการทุจริตคอร์รัปชันการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX ในฐานะอดีตกรรมการบริหารบริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้และเป็นช่วงเวลาที่อัยการสูงสุดขัดแย้งและสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หลายคดี

นายอุดม มั่งมีดี อดีตผู้พิพากษาผู้ตัดสินให้จำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในข้อหาหมิ่นประมาทนายภูมิธรรม เวชชยชัย แล้วต่อมาก็กลับไปขึ้นเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงปราศรัยต่อว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย 2 มาตรฐาน วันที่ 3 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ผู้มีผลงานมาอย่างโชกโชนในหลายมาตรฐาน โดยเคยสั่งไม่ฟ้องแกนนำ นปก.ที่บุกบ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยสั่งฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในข้อหากระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขึ้นเวทีเปิดโปงพฤติกรรมและคำพูดของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ

หลังจากที่ นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ได้ถ่วงเวลาคดีนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเป็นเวลานานหลายปี แต่นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ก่อนเกษียณจากตำแหน่งไม่กี่วันก็ได้ฝากผลงานเอาไว้ในขณะที่หลายคนกำลังสาละวนกับปัญหาน้ำท่วม เมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 สั่งไม่ฟ้องคดีนายจักรภพ เพ็ญแข โดยอ้างว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

วันที่ 6 มกราคม 2555 นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ เข้ารับตำแหน่งกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงิน สังกัดกระทรวงการคลัง ต่อมา วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ เป็นคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดใหม่

ย่อมแสดงให้เห็นว่าในทัศนะของพรรคเพื่อไทยสนับสนุนคนประเภทใด? และสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมอย่างไร?

สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นทำให้อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า เหตุใดแกนนำคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยจากเดิมซึ่งด่าทอใส่ร้ายศาลรัฐธรรมนูญ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับ “กลับลำ”มาแสดงความเคารพยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมา!?

เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงน่าจะมีความเชื่อมั่น และมีเหตุผลอะไรบางประการที่ทำให้เกิดปฏิกิริยากลับลำขึ้นมาในช่วงหลัง?

อาจเป็นเพราะแกนนำคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยมีความเชื่อมั่นบางประการว่าศาลจะตัดสินไม่ให้ผลเลวร้ายต่อพรรคเพื่อไทย อาจมั่นใจว่ายกคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จึงไม่ต้องยุบพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมีเบื้องหลังเป็นอย่างไรก็ตาม

หรืออาจเป็นเพราะว่าพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงมั่นใจว่า หากแม้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเพื่อไทยและมีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงไม่ต้องเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ และต่อให้มีการเลือกตั้งซ่อมใหม่พรรคเพื่อไทยก็จะยังคงกลับมาเป็นรัฐบาลอยู่ดี

เพราะตราบใดที่ยังรักษาอำนาจเอาไว้อยู่ได้ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สำหรับพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง ไม่ควรจะมีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไหร่นัก

แต่ผลของคดีหลังวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 นั่นน่าสนใจกว่าว่าจะเป็นไปเช่นไร? โดยศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ 4 ประเด็นในการวินิจฉัยที่กำลังจะเกิดขึ้น

1. อำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสอง มีหรือไม่?

มติของศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ก็น่าจะเป็น 7:1 ที่เห็นว่าผู้ฟ้องมีสิทธิ์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยได้ โดยเฉพาะคำชี้แจงของประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อนายโภคิน พลกุลก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วว่ากรณีการยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลนั้น ต่างจากคดี 5 คำร้องอย่างไร?

2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่?

เป็นที่ชัดเจนว่ากรณีนี้ฝ่ายถูกร้องโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ยอมรับเองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้นนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับอย่างแน่นอน เหลือเป็นเพียงอยู่แต่ว่า “สามารถทำได้หรือไม่?” ถ้าทำไม่ได้อย่างมากพรรคเพื่อไทยและพวกก็อาจจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแทน หรือหากทำได้ก็คงจะเดินหน้าในการสถาปนารัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ทันที

3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่? หรือกล่าวให้สั้นลงก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่?

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่ต้องสงสัยอันใดว่าประเด็นที่ 3 ศาลก็คงจะวินิจฉัยต่อว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไปด้วยแน่นอน

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ว่า ไม่สามารถทำได้ก็ยังไม่แน่ว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยว่าการล้มเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68

ดังนั้นในกระแสข่าวลือตัวเลขที่ว่าขั้นต่ำ 5:3 ขึ้นไป (ตามที่คุณโสภณ องค์การณ์ได้เขียนในบทความนั้น) ก็น่าจะอยู่ในประเด็นธงที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่เลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68

หากเป็นกรณีดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยทันที เพราะคำร้องของคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นครอบคลุมไปถึงการกระทำความผิดในเรื่องการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงอันจะเป็นการพิสูจน์ในการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

แต่คำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลับไม่ได้ถูกนำเสนอให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะวินิจฉัย 5 คำร้องแรก ประกอบกับเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดในคดีคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำหนดวันให้ผู้ถูกร้องชี้แจง แต่กลับไม่นัดวันไต่สวน ซึ่งต่างจาก 5 คำร้องแรกที่กำหนดให้ทำคำชี้แจงพร้อมนัดวันไต่สวนในคราวเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ออกแบบให้คำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ใช้ผลคำวินิจฉัยของ 5 คำร้องแรก

เพราะถ้าจะมีเหตุว่าหากมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จริง ผลต่อเนื่องศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะกำหนดวันไต่สวนในคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปแล้ว เพื่อขยายผลว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องห้ามการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นอกจากพรรคการเมืองแล้ว ยังจะครอบคลุมไปถึงนักการเมืองรวมกันถึง 416 คนจริงหรือไม่?

แต่การไม่นัดวันไต่สวนในคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและด่วนตัดสิน 5 คำร้องแรก จึงเสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าต้องการใช้ผลของ 5 คำร้องแรก มาใช้กับคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยไม่ต้องไต่สวน

นั่นหมายถึงว่าจะมีการวินิจฉัยการกระทำของพรรคการเมืองใน 5 คำร้องแรกนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ใช่หรือไม่?

นั่นหมายถึงว่าหากเกิดกรณีดังกล่าวคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะไม่มีโอกาสชี้แจงในคดีที่อาจผูกพันกับคดีของตนเอง

เพราะถ้าเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การล้มเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็จะส่งผลทำให้คำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ให้ดำเนินคดีอาญาและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนักการเมือง 416 คนไปด้วย ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไรก็ตาม

สัญญาณการตั้งคำถามของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้สอบถามด้วยตนเองในการไต่สวน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ที่มีอำนาจในการที่ยับยั้งการลงประชามติว่า หากมีการกระทบพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหมวด 2 (หมวดพระมหากษัตริย์) แล้ว ในฐานะประธานรัฐสภาจะยับยั้งหรือไม่ ซึ่งเมื่อประธานรัฐสภาตอบว่าควรจะถือว่าเข้าข่ายหมวดพระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องการจะปล่อยเสือเข้าป่าโดยสนใจที่จะ “ล็อก” ห้ามกระทำเฉพาะเรื่องพระราชอำนาจอย่างเดียวผ่านการไต่สวนครั้งนี้ ใช่หรือไม่ และไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องอีกในวันข้างหน้า ใช่หรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าน่าเสียดายมาก เพราะความจริงแล้ว เพราะให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นหลักการถ่วงดุลอำนาจ การได้มาซึ่งองค์กรอิสระ สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็ควรได้รับการ “ล็อก” เอาไว้ด้วยมิใช่หรืออย่างไร?

ในทางตรงกันข้าม หากศาลเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แล้ว ผลต่อเนื่องก็จะตามมาด้วยคดีความอาญาต่อนักการเมืองตามมาอีกหลายคดี โดยทันที

4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคหรือไม่?

หากประเด็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อ 2 จบลงว่า นักการเมืองสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ก็แปลว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไปด้วย จึงย่อมไม่มีการยุบพรรคการเมือง

ในทางตรงกันข้าม หากแม้ว่าจะมีการระบุว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะมีการยุบพรรคการเมือง หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคด้วยหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม ได้บัญญัติเอาไว้เป็นดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้”

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสี่ กำหนดให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่ทำความผิดเป็นเวลา 5 ปี

อีกไม่กี่วันเราก็จะรู้ว่า อนาคตประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น