xs
xsm
sm
md
lg

ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ : เหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวิพากษ์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หลังจากที่ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในทางการเมือง หรือเรียกได้ว่าเป็นกลางในทางการเมืองและยึดผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้ง ได้วิตกกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตามที่ผู้ร้อง 5 ราย ร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ และเข้าข่ายต้องรับผิดตามมาตรา 68 หรือไม่

แต่ในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็โล่งใจเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และผลปรากฏออกมาเป็น 3 ประเด็น สรุปได้ดังนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ผลปรากฏออกมามีอำนาจรับ โดยมติ 7 ต่อ 1

2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกทั้งฉบับได้หรือไม่

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ศาลพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มาด้วยการลงมติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนลงมติเสียก่อนว่าควรที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ แต่ถ้ารัฐสภาจะแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราก็เหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291

3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามนัยแห่งมาตรา 68 หรือไม่

ผลจากการพิจารณาวินิจฉัยปรากฏมีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าสอดคล้องทั้งในด้านเนื้อหาและเจตนารมณ์แห่งบัญญัติรัฐธรรมนูญ และยังเป็นการชี้แนวทางแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ให้พร้อมเสร็จ ว่าสามารถดำเนินการได้อย่างไรโดยที่ไม่ขัดต่อเนื้อหา และเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

ดังนั้นจึงน่าจะกล่าวได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามแนวนี้เองที่ทำให้ผู้คนในสังคมโล่งใจ และสามารถสยบการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่จะแก้รัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วนได้ในระดับหนึ่ง และในระยะหนึ่ง แต่คงจะไม่ทำให้ยกเลิกหรือหยุดชะงักไปนานคงไม่ได้ ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัย 2 ประการในเชิงตรรกะทางการเมืองต่อไปนี้

1. ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ทั้ง ส.ส. นักวิชาการ และแม้กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงได้คาดฝันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ค่อนข้างเริดหรูคือแก้ทั้งฉบับ ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมีที่มาจากการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล อันเป็นขั้วอำนาจเก่าของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดหรือมาตราที่ให้อำนาจองค์กรอิสระเข้ามากีดกันและป้องกันการแสวงหาอำนาจทางการเมืองของพวกเขา เช่น กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

2. การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ถึงแม้จะไม่มีคำวินิจฉัยว่ามีความผิดถึงขั้นยุบพรรค แต่มีการชี้แนะแนวทางแก้ไขอันเป็นเสมือนการวางกรอบให้พวกเขาเดินตาม โดยไม่สนใจว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสนองความต้องการของนักการเมือง และนายทุนทางการเมืองหรือไม่ คงจะทำให้พวกที่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วรับไม่ได้ และไม่ต้องพูดถึงว่าอยากทำตามหรือไม่ นี่คือความไม่พอใจในสิ่งที่คนส่วนใหญ่รับได้

จากนัยแห่งตรรกะ 2 ประการนี้ เชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าการเมืองไทยต่อจากนี้ไปจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจะควบคุมกลุ่มบุคคลที่ไม่พอใจในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และออกมาแสดงพฤติกรรมทั้งข่มขู่ และก่อกวนศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเที่ยวก่อกวนกลุ่มคนต่างๆ ที่เห็นตรงกันข้ามกับพวกตน ดังที่กลุ่มคนเสื้อแดงไปก่อกวนที่ชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ และที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตที่อุดรฯ หรือแม้กระทั่งที่เชียงใหม่เมื่อเร็วๆ นี้

ทำไม ถ้ารัฐบาลคุมคนเสื้อแดงไม่ได้ แล้วจะส่งผลกระทบในทางร้ายต่อรัฐบาลอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้ารัฐบาลยังถือว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีเป้าหมายรวมกันทางการเมือง เช่น ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และต้องการจะมีอำนาจหรือเป็นรัฐบาลร่วมกัน ทางรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะต้องควบคุมและมีกรอบให้กลุ่มคนเสื้อแดง และนักวิชาการที่เป็นแนวร่วมในทางความคิดในเชิงวิชาการของคนเสื้อแดง มิให้ออกมาแสดงพฤติกรรมใดๆ อันส่อไปในทางรบกวน หรือทำลายบุคคลอื่น ทั้งในรายที่เป็นปัจเจกบุคคล และในรายที่เป็นองค์กรโดยรวม มิฉะนั้นแล้วสักวันหนึ่งผู้คนในสังคมหมดความอดทนอาจลุกขึ้นมาขับไล่และต่อต้านการกลับมาของบุคลากรทางการเมืองที่สังกัดพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วม โดยถือเป็นศัตรูร่วมก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ ถ้ามองในแง่ของคนทั่วไปในเวลานี้ไม่น่าจะใช่การรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการปรับ ครม.เพื่อรองรับความอยากเป็นรัฐมนตรีของคนบางคน แต่ควรใช้เวลาที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจโดยรวมจะดีกว่า เพราะจะต้องไม่ลืมว่าคนที่ไม่ถูกใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่เป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคนที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว เหมาะสมแล้วมีมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น