xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิ้งค์ชงครม. ทุ่มซื้อรถใหม่7ขบวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชัจจ์”เผยเสนอแผนซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์คลิ้งค์ 7 ขบวนมูลค่า 5.2 พันล้านบาทต่อครม.แล้วคาดพิจารณาใน 2 อาทิตย์นี้ หวังแก้ปัญหารถไม่พอบริการ และทุ่มอีก 300 ล้าน ปลดล็อคระบบเปิดทางขบวน Express Line วิ่งเชื่อมมักกะสันและพญาไท คาดอีก 8 เดือน เสร็จ ขณะที่เตรียมเสนอบอร์ดปรับเงินเดือนพนักงานตามเงื่อนไขก่อนถูกร้องศาลแรงงาน ขณะที่พนักงานแฉการปรับขึ้นเงินเดือนก็ไม่เป็นไปตามเกณฑ์กฎหมายหวั่นมั่วนิ่มเหมือนเดิมอ้างปรับขึ้นเงินเดือนให้แล้ว

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอแผนการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ใหม่จำนวน 7 ขบวนๆ ละ 4ตู้ วงเงินประมาณ 5,200 ล้านบาท (รวมค่าอะไหล่ 10 5 และVAT7%) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คาดว่าที่ประชุมจะมีการพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) ราคาตู้ละประมาณ 167 ล้านบาทโดยใช้เงินกู้ หากครม.อนุมัติจะใช้เวลาในการจัดซื้ออีก 1ปี 8 เดือน จึงจะได้รถใหม่มาให้บริการเพิ่ม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการไม่สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการได้ โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น เนื่องจากปัจจุบันมีรถให้บริการ 5 ขบวนเท่านั้น

นอกจากนี้จะมีการลงทุนอีก 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถขบวน Express Line โดยการวางประแจควบคุมการเดินรถใหม่ที่สถานีมักกะสัน เพื่อเปิดให้ขบวน Express Line สามารถจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีมักกะสันและสถานีพญาไทได้ จากปัจจุบันรถ Express Line ที่วิ่งจากสุวรรณภูมิถึงพญาไทจะไม่สามารถจอดที่สถานีมักกะสันได้ จึงต้องแบ่งการเดินรถ Express Line เป็น 2 แบบ คือ สุวรรณภูมิ-มักกะสัน 2 ขบวนและ สุวรรณภูมิ-พญาไท โดยไม่จอดมักกะสัน 2 ขบวน ทำให้ส่งผลกระทบต่อความถี่ในการให้บริการ ซึ่งครม.อนุมัติการลงทุนแล้วอยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงการคลัง โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการปรับปรุง 8 เดือน

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหลักของการเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ในขณะนี้คือไม่สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการได้ เนื่องจากจำนวนรถมีจำกัด โดยขบวนรถธรรมดา( City Line) มี 5 ขบวน (วิ่ง 4 ขบวน สำรอง 1 ขบวน) ขบวนรถด่วน( Express Line) มี 4 ขวน ชำรุด 1 ขบวน ซึ่งบริษัท
ซีเมนส์ จำกัด กำลังซ่อมแซมคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ในช่วงเช้าจำนวนผู้โดยสารแออัดเกินความจุที่รองรับได้ 750 คนต่อขบวน โดยผู้โดยสารเฉลี่ย 44,000 คนต่อวัน แบ่งเป็น รถ City Line 42,000 คน รถ Express Line 1,700 คน โดยสถานีพญาไท มีผู้โดยสารประมาณ 12,000 คนตาอวัน มักกะสันประมาณ 4,300 คน สุวรรณภูมิประมาณ 7,000 คน

“การที่รถมีน้อย เพิ่มความถี่ไม่ได้ ทำให้ช่วงเช้าและเย็นที่มีผู้ใช้บริการมากเกิดความแออัด ผู้โดยสารต้องรอรถนาน ส่วนปัญหาอะไหล่ขาดแคลนนั้นยืนยันว่า อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ โดยแต่ละเดือนจะมีงบจัดซื้ออะไหล่ประมาณ 30 ล้านบาท “นายภากรณ์กล่าว

นายภากรณ์กล่าวถึงกรณีพนักงานแอร์พอร์ตลิ้งค์ยังมีปัญหาไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการตามข้อตกลงและอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อยื่นเรียกร้องไปยังศาลแรงงานหากฝ่ายบริหารไม่ดำเนินการนั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของบริษัทได้สรุปการปรับเงินเดือนพนักงานโอนย้ายจากศศินทร์ฯ ขึ้น 1 ขั้นแล้ว โดยใช้เกณฑ์ปรับค่าประสบการณ์ คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) แอร์พอร์ตลิ้งค์เห็นชอบได้ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ จากนั้นจะเสนอยังบอร์ดร.ฟ.ท.ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งการปรับจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 โดยยืนยันว่าเรื่องผลตอบแทนต่างๆนั้นพนักงานต้องได้รับตามกรอบกฎหมายรวมถึงมติครม.เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือน15,000 บาท แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเพราะแอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นบริษัทตั้งใหม่และยังไม่แยกออกจากร.ฟ.ท.

**พนักงานแฉมั่วนิ่มอ้างขึ้นเงินเดือน
แหล่งข่าวจากพนักงานแอร์พอร์ตลิ้งค์ กล่าวว่าการปรับขึ้นเงินเดือนให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นมีความล่าช้า ซึ่งผิดกฎหมายแรงงานยกตัวอย่างพนักงานขายตั๋วจบปริญญาตรีได้รับเงินเดือน 8,370 บาท หากมีการปรับขึ้นในการประชุมบอร์ดในวันที่ 25 ก.ค.นี้อีก 5% ก็ยังไม่ถึง 9,000 บาทก็ยังต่ำกว่ากฎหมายแรงงานที่กำหนด ซึ่งขั้นต่ำในระดับปริญญาตรีจะต้องได้รับ 15,000 บาท แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารทำผิดกฎหมายมาตลอด มักยกข้ออ้างว่าเป็นบริษัทใหม่และยังไม่แยกออกจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ยังได้รับค่าแรงงานในเกณฑ์ที่ต่ำ

"มีพนักงานจำนวนมากที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และยังต่ำกว่าพนักของบริษัทเอกชน เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัยในสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์เสียอีก ซึ่งขั้นตอนที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีการปรับฐานเงินเดือนตามที่รัฐบาลกำหนดก่อน เช่น วันละ 300 บาท ซึ่งเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท แล้วจึงมาปรับฐานการขึ้นอีก 5% และนำขั้นและวุฒิการศึกษามาประกอบจึงถูกต้อง แต่การปรับขึ้นครั้งนี้คาดว่าเป็นการมั่วนิ่มอ้างว่าจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด" พนักงานแอร์พอร์ตลิ้งค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น