xs
xsm
sm
md
lg

จับโกหกซูเอี๋ยเขมร ยกสิทธิ์เจ้าภาพมรดกโลกฝ่ายเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(17 ก.ค.55) เวลา 10.00 น.ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการบรรยายถึงความเป็นมา และความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา กรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร เพื่อชี้แจงให้กับข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและสื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงภายหลังจากที่ไทยและกัมพูชาตกลงที่จะมีการปรับกำลังทหารพร้อมกันในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ตามมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)
โดยพล.อ.นิพัทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ช่วง 50 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์บริเวณชายแดนมีปัญหาขึ้นๆลงๆตลอด ส่วนการปรับกำลังทหารเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยปฏิบัติตามมาตรการของศาลโลก ซึ่งในวันที่18 ก.ค.55 เวลา 09.00 น. พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมของกัมพูชา จะเดินทางไปทำพิธีปรับกำลังทหาร โดยกัมพูชาระบุว่า จะมีการปรับกำลังทหารออก 485 นาย และจะนำกำลังตำรวจมาแทน 250 นาย และชุดรักษาความปลอดภัยปราสาทพระวิหารอีก 100 นาย
ส่วนกรณีที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลก เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 นั้น ทางไทยและกัมพูชาได้ส่งรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว โดยกัมพูชาส่งไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค.55 ฝ่ายไทยส่งวันที่ 21 มิ.ย.55 จากนั้นฝ่ายไทยได้มีการขอให้การไต่สวนแบบ Oral hearing คือ การนั่งฟังการไต่สวน ซึ่งศาลโลกเปิดให้ดำเนินการไต่สวนในช่วงเดือนเม.ย.2556 และคาดว่า จะตัดสินในเดือนก.ย.-ต.ค. ปี2556 โดยในระหว่างนั้นทั้ง 2 ประเทศสามารถส่งเอกสารได้เรื่อยๆ ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อแสดงให้ศาลโลกเห็นว่าฝ่ายไทยได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง สิ่งที่เราดำเนินการขณะนี้จะทำรายงานเป็นเอกสารไปยังศาลโลก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
“ขณะนี้กัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ช่วยเหลือเรื่องข้อมูล อีกทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนที่สนับสนุนทางทหารในช่วงที่มีการปะทะกับไทยในช่วง ก.พ.-พ.ค.54 เพราะฉะนั้นไทยไม่ได้สู้กัมพูชาเพียงประเทศเดียว แต่มีประเทศใหญ่ๆที่เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน ที่ผ่านมากองทัพพยายามดูแลอธิปไตยในพื้นที่มาตลอด และร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศในการแก้ไขปัญหา มีการส่งตัวแทนทางทหารไปช่วยในการให้ข้อมูลกับทีมที่ไปต่อสู้กับศาลโลกตลอด ส่วนสถานการณ์ขณะนี้เป็นที่น่าพอใจ เพราะไม่มีการสู้รบและทางผู้ใหญ่ รัฐบาล พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ก็มีความสบายใจ แต่ในวันที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินในช่วงปลายปีหน้าจะเป็นวันที่กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างไรก็ตามในขณะนี้จนกระทั้งถึงวันนั้น เป็นวันที่เราจะต้องแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติตามคำสั่งชั่วคราวของศาลโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ เมื่อมีการแยกกำลังทหาร และไม่มีการสู้รับจะทำให้การค้าขายชายแดนราบรื่น” พล.อ.นิพัทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ในวันที่ 18 ก.ค. เวลา 11.00 น.พล.อ.อ.สุกำพล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.นิพัทธ์ พร้อมด้วยคณะนายทหารระดับสูงจะเดินทางไปยังหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปและทำพิธีวางกำลังตำรวจตระเวนชายแดนบริเวณพื้นที่เขาพระวิหารทดแทนกำลังของทหารตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก หลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและพล.อ.อ.สุกำพล ได้พูดคุยหารือกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และพล.อ.เตีย บัน โดยตกลงที่จะมีการปรับกำลังทหารบริเวณเขาพระวิหารพร้อมกันในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ส่วนทางด้านกัมพูชาในวันเดียวกัน ทาง พล.อ.เตีย บันจะเป็นประธานในพิธีปรับกำลังทหารจำนวน 485 คนออกจากเขตบริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหาร โดยทางกัมพูชาจะมีพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 4 ปีขึ้นทะเบียนเข้าพระวิหารเป็นมรดกโลกด้วย

**ตชด.ไทย 4 กองร้อยรวมพลวันนี้
ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 224 อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จากหลายแห่งในเขตภาคอีสาน ทั้งจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 จ.อุบลราชธานี, กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 จ.สกลนคร, กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จ.อุดรธานี รวมจำนวน 4 กองร้อย ได้มารวมพลกันอยู่ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 224
โดยเจ้าหน้าที่ ตชด.ทุกนายแต่งเครื่องแบบสนามพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือ เพื่อเตรียมจะขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา แทนกำลังทหารไทยที่จะมีการปรับกำลังทหารออกมาในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ตามข้อตกลงของรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา
พ.ต.อ.สุนทร ประดิษฐ์แท่น ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจตระเวนชายแดนทุกนายมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนทหารไทยที่จะมีการปรับกำลังทหารออกมาตามคำสั่งของหน่วยเหนือ ซึ่งตนได้กำชับให้ ตชด.ทุกนายปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณเขาพระวิหารตามระเบียบวินัยและตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาอธิปไตยของไทย และเป็นการรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างไทยกับกัมพูชา
โดย ตชด.ทุกนายจะขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ โดยตชด.ส่วนหนึ่งได้ขึ้นสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่ก่อนที่จะได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ประจำการบริเวณเขาพระวิหาร ตามที่ได้รับมอบหมาย

** “มาร์ค” วอน “บิ๊กโอ๋” อย่ามุ่งทะเลาะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อ.สุกำพล ที่บอกว่าการถอนทหารไม่ใช่เป็นลักษณะข้อตกลง แต่เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำ เหมือนกับพยายามบอกว่าไม่รู้ว่ากัมพูชาจะทำอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการเลี่ยงตอบว่าถ้าเป็นข้อตกลงจะต้องเข้าสภาตามมาตรา 190 หรือไม่ แต่ตนแปลกใจเพราะการพูดอย่างนี้เหมือนกับว่า รมว.กลาโหมพยายามกระแนะกระแหนตอบโต้ฝ่ายค้านมากกว่าจะชี้แจง และไม่พยายามทำความเข้าใจเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยก่อน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราเป็นห่วงว่ารัฐบาลได้ดูรอบคอบหรือยังว่าการปรับกำลังของเราว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ต่อเรื่องอธิปไตยในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิด พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการไปทะเลาะกับใคร แต่รมว.กลาโหมน่าจะเข้าใจระบอบประชาธิปไตยว่าประชาชนเจ้าของประเทศมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบ ถ้าอยากจะนั่งคุยกันก็คุยได้ ไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาตนเห็นว่ารมว.กลาโหมชวนทะเลาะอย่างเดียว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่ากัมพูชาจะมีลูกเล่นอะไร แต่ที่ผ่านมา สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตนต้องเจรจากับสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชาว่า การถอนทหารต้องถอนชุมชนบริเวณนั้นด้วย เพราะมีการรุกล้ำเข้ามา ละเมิด MOU เพราะฉะนั้นตรงนี้ทางฝ่ายไทยก็ต้องยืนยันจุดนี้ แต่ถ้าบอกว่าเราอยากจะแสดงว่าเราอยากจะปรับกำลังทหาร จะด้วยเหตุเพราะศาลโลก หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ เสร็จแล้ว เราบอกว่าเราไม่สนใจว่าเขาทำอะไร ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ทำอยู่ในมิติเดียว จะเรียกว่าเป็นการชิงไหวชิงพริบ หวังผลในแง่คดีที่อยู่ในศาลโลกก็อาจะเป็นไปได้ ซึ่งเราต้องให้กว้างกว่านั้น เพราะแนวการเดินเกมของกัมพูชาก็ไม่ได้เดินหน้าเดียว เขามีเรื่องมรดกโลก เขามีเรื่องอื่น ๆ อีก

**ปชป.แฉซ้ำ'บันทึกยอมเสี่ยงแพ้เขมร
อีกด้านหนึ่งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขานุการรมว.ต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า "ดูกันจะ ๆ สาเหตุที่กัมพูชาได้สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพ การประชุมมรดกโลกในปีหน้า ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ ได้ต่อสู้รักษาสิทธิ์นี้มาโดยตลอด ทำให้เรามีความสุ่มเสี่ยงที่กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารได้อย่างสมบูรณ์"
สำหรับเนื้อหาดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
บันทึกยินยอมยกสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมมรดกโลกให้เขมรฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ระหว่างการประชุม WHC36 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก คณะผู้แทนไทยได้หารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน (เวลา 13.00-14.00 น.) เกี่ยวกับท่าทีสำหรับการเลือกตั้งประธาน และรองประธานสำหรับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 โดยนายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวว่า การดำรงตำแหน่งรองประธาน WHC37 ของไทยอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อ กล่าวคือ (1) ผลประโยชน์ เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของประเทศชาติ เพื่อเป็นการคานอำนาจกัมพูชา (ในขณะนั้น ทราบว่า กัมพูชาจะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไป) รวมถึงการได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ
(2) หากฝ่ายค้านหรือกัมพูชานำประเด็นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง ก็สามารถอธิบายได้ว่า การเข้าไปอยู่ใน Bureau ในฐานะรองประธานเป็นการเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งหากกัมพูชาดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากลก็สามารถคานฝ่ายกัมพูชาได้ รวมทั้งเป็นบทบาทของไทยในปีสุดท้ายที่จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการมรดกโลกด้วย และ (3) เนื่องจากคณะรัฐมนตรีไม่ได้พิจารณาในประเด็นนี้ ตนจึงขอใช้ดุลพินิจในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยตัดสินใจว่า การตัดสินใจเรื่องการดำรงตำแหน่งรองประธาน WHC37 ของไทยเป็นการตัดสินใจแบบทีมไทยแลนด์ เพื่อให้เดินไปในแนวทางเดียวกัน โดยภายหลังการประชุมหารือของคณะผู้แทนไทย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พบหารือกับนาย Chan Tani, Secretary of State, Council of Ministers ของกัมพูชา (เวลา 14.00 – 14.10 น.) สรุปผลการพบหารือดังกล่าวปรากฏตามเอกสารแนบมาพร้อมนี้
ต่อมา ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 (WHC36) ได้ดำเนินการเลือกตั้งประธาน รองประธาน และผู้นำเสนอรายงานของ คณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 (WHC37) ตามระเบียบวาระที่ Item 17: Election of the Chairperson, Vice-Chairpersons and Rapporteur of the 37th session of the World Heritage Committee ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น Bureau สำหรับการประชุมสมัยต่อไป รวมทั้งได้พิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจที่ 36 COM 18 ตามระเบียบวาระที่ Item 18: Provisional Agenda of the 37th session of the World Heritage Committee (2013) ซึ่งรวมถึงสถานที่และวันที่สำหรับการประชุม WHC37 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.ประธานและเจ้าภาพจัดการประชุม WHC37 – ประธานได้เปิดโอกาสให้ที่ประชุมเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการมรดกโลกสมัยต่อไป ซึ่งญี่ปุ่นได้เสนอให้รองนายกรัฐมนตรี สก อานของกัมพูชา (ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมฯ) โดยมี ฝรั่งเศส เม็กซิโก เยอรมนี และอัลจีเรียให้การสนับสนุน ซึ่งผู้แทนฝรั่งเศสได้กล่าวถึงความเหมาะสมของรองนายกรัฐมนตรี สก อานในการเป็นประธาน WHC37 และความเหมาะสมที่กัมพูชาจะเป็นประเทศเจ้าภาพเพราะมีนครวัดเป็นแหล่งมรดกโลกที่สำคัญ ผู้แทนอัลจีเรียได้กล่าวแสดงความขอบคุณกัมพูชาที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัยต่อไป โดยได้เรียกรองนากยกรัฐมนตรี สกอาน ว่า “Fraternal Friend” ที่มีความผูกพันธ์กันมายาวนาน และอัลจีเรียเองจะขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ สมัยที่ 38 ในปี ค.ศ. 2014 ด้วย ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมฯ ได้มีมติให้รองนายกรัฐมนตรี สก อาน เป็นประธานการประชุมสมัยต่อไป และที่ประชุมฯ ได้แสดงความยินดีกับกัมพูชาที่รองนายกรัฐมนตรี สก อาน ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธาน WHC37 และกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WHC37 ด้วย
2.การสรรหาองค์ประกอบ Bureau สำหรับการประชุม WHC37 – ต่อมาประธานได้ขอให้ที่ประชุมฯ เสนอชื่อประเทศที่จะเข้าร่วมองค์ประกอบ Bureau ซึ่งประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการมรดกโลก รองประธานจาก 5 ภูมิภาค (กล่าวคือ แอฟริกา เอเชีย-แปซิฟิก ยุโรปและอเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกาและแคริเบียน และประเทศอาหรับ) และ Rapporteur โดยมีประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกจากภูมิภาคต่าง ๆ เสนอรายชื่อประเทศที่จะดำรงตำแหน่งรองประธาน คือ (1) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยการสนับสนุนจากกาตาร์เสนอให้อัลจีเรีย เป็นรองประธานจากกลุ่มประเทศอาหรับ (2) แอฟริกาใต้เสนอให้เซเนกัลเป็นรองประธานจากภูมิภาคแอฟริกา (3) เม็กซิโกเสนอให้โคลัมเบียเป็นรองประธานจากภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริเบียน (4) รัสเซียเสนอให้เซอร์เบียเป็นรองประธานจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ และเสนอให้ Mme. Jasna Zrnovic ดำรงตำแหน่ง Rapporteur ด้วย (5) เยอรมนีเสนอให้สวิสเซอร์แลนด์เป็นรองประธานจากยุโรปและอเมริกาเหนือ และ (6) มาเลเซียเสนอให้ไทยเป็นรองประธานจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยกัมพูชาได้กล่าวแถลงต่อที่ประชุมให้การสนับสนุนข้อเสนอของมาเลเซียว่า กัมพูชาและไทยจะได้ร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันที่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และ “look forward to working together” ใน Bureau สำหรับการประชุมสมัยต่อไป ซึ่งทำให้กัมพูชาได้รับการปรบมือแสดงความชื่นชมจากที่ประชุมเป็นอย่างมาก
ในส่วนของรองประธานจากภูมิภาคยุโรปและอเมริการเหนือที่มีประเทศได้รับการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งประเทศ กล่าวคือ เซอร์เบียและสวิสเซอร์แลนด์ นั้น แม้ว่าในชั้นแรก ผู้แทนเซอร์เบียได้แสดงความไม่พร้อมที่จะดำรงตำแหน่ง Rapporteur แต่ในที่สุดผู้แทนเซอร์เบียก็ยืนยันที่ Mme. Jasna จะดำรงตำแหน่ง Rapporteur และหลีกทางในตำแหน่งรองประธานให้แก่สวิสเซอร์แลนด์ไป
3.การกล่าวขอบคุณที่ประชุมฯ และการแสดงวีดิทัศน์ของกัมพูชา – ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งองค์ประกอบ Bureau สำหรับการประชุมสมัยต่อไป นาย Chan Tani, Secretary of State, Council of Ministers ของกัมพูชาได้กล่าวขอบคุณที่ประชุมฯ ในนามของนายสก อาน ที่ได้เลือกรอง นรม สก อานเป็นประธาน WHC37 และให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WHC37 ซึ่งกัมพูชาได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ปี ค.ศ. 1972 ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1981 และเป็นสมาชิกที่มีบทบาทอย่างแข็งขันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา โดยกัมพูชามีแหล่งมรดกโลกสองแห่ง คือ ปราสาทนครวัด (Angkor Wat) และปราสาทพระวิหาร (Temple of Preah Vihear) รวมทั้งยังมีมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ เช่น หนังใหญ่ รำพื้นเมือง และแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นอีก 2 แหล่ง นอกจากนี้ กัมพูชาจะทำหน้าที่ที่ได้รับอย่างเคร่งคัดและทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งในปี ค.ศ. 2013 ก็จะเป็นปีที่ ICC Angkor (International Coordinating Committee for the Safeguarding and Development of the Historic Site of Angkor) จะครบรอบ 20 ปีด้วย อนึ่ง ผู้แทนกัมพูชาได้แจ้งต่อที่ประชุมฯ ว่า การประชุม WHC37 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-27 มิถุนายน 2556 (ยังมิได้สรุปเรื่อสถานที่จัดกาประชุ) และจะมีการจัดกิจกรรม field excursion ไปยังเมืองเสียมราฐ นอกจากนี้ คณะผู้แทนกัมพูชาได้เปิดวีดิทัศน์ความยาว 5 นาที โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแหล่งมรดกโลกนครวัดและปราสาทพระวิหาร และรำพื้นเมือง (Royal Ballet of Cambodia) และหนังใหญ่ (Sbek Thom, Khmer Shadow Theatre) ที่อยู่ในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก รวมทั้งความพร้อมของกัมพูชาในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัยต่อไปด้วย
4.ข้อสังเกต / ข้อเสนอแนะ
4.1 กัมพูชามีการเตรียมความพร้อมในการประชุม WHC36 รวมถึงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WHC37 เป็นอย่างดี โดยในระยะเวลาที่ผ่านมาของการประชุม WHC36 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายกัมพูชาได้มีการแสดงบทบาทในการประชุมในระเบียบวาระต่าง ๆ และได้กระจายบุคลากรระดับปฏิบัติการไปพูดคุย/ปูทางกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมการฯ
4.2 คณะผู้แทนไทยได้รับทราบมาอย่างไม่เป็นทางการว่า กัมพูชาเองก็ยังได้ทาบทามญี่ปุ่นและอินเดียอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง เพื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแต่ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการเสนอให้ไทยได้เป็นรองประธาน
4.3 การที่ไทยได้รับการเสนอชื่อและไทยได้ตอบรับเป็นรองประธาน WHC37 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการฯ ในปีสุดท้าย (วาระของไทยจะสิ้นสุดลงพร้อมกัมพูชาในเดือนตุลาคม 2556) ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานจากไทย รวมถึงคณะผู้แทนไทยที่จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัยต่อไปคงต้องมีการเตรียมการอย่างเพียบพร้อมมีท่าทีที่ชัดเจนสำหรับทุกระเบียบวาระการประชุม และต้องมีส่วนร่วมผ่านการแสดงข้อคิดเห็นในระเบียบวาระต่าง ๆ โดยไม่ควรจำกัดบทบาทของไทยไว้กับประเด็นปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารกับกัมพูชาเพียงอย่างเดียว
การหารือระหว่างนายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับนาย Chan Tani, Secretary of State, Council of Ministers กัมพูชา วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลา 14.00 – 14.10 น. ณ Tavritcheski Palace นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย
นาย Chan Tani กล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชาประสงค์จะเห็นการประชุม WHC 37ประสบความสำเร็จเพื่อประโยชน์โดยรวมของอนุสัญญาฯ รวมทั้งแสดงให้ประเทศอื่นเห็นว่ากัมพูชาและไทยมีความร่วมมือที่ดี และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน
ผช.รมว.ทส. กล่าวว่า ขณะนี้ ไม่มีประเทศอื่นนอกจากกัมพูชาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WHC 37 ดังนั้น กัมพูชาก็จะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว แม้ว่าไทยจะไม่ “explicitly” สนับสนุนการเสนอตัวของกัมพูชา
นาย Chan Tani ย้ำว่า ประสงค์ให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติ จะมีผู้เสนอให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและเสนอให้ที่ประชุมฯ รับรอง โดยในครั้งนี้ ญี่ปุ่นจะเป็นผู้เสนอให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัยต่อไป และหากไทยสามารถแสดงความสนับสนุน ก็จะทำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีการพัฒนาขึ้น
ผช.รมว.ทส. กล่าวว่า ตนเข้าใจความต้องการของฝ่ายกัมพูชา แต่ในชั้นนี้ ไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงท่าทีในเรื่องนี้ได้ และไม่อยากให้ฝ่ายกัมพูชาหรือที่ประชุมฯ เข้าใจว่ามีความขัดแย้งระหว่างกัน
นาย Chan Tani กล่าวว่า กัมพูชาจะเสนอต่อที่ประชุมฯ ให้ไทยดำรงตำแหน่งรองประธานสำหรับการประชุมสมัยต่อไป
ผช.รมว.ทส. กล่าวว่า หากที่ประชุมจะเลือกให้ไทยดำรงตำแหน่งรองประธานสำหรับการประชุม WHC37 ไทยก็จะไม่ปฏิเสธ

**จับโกหก“พิทยา”ซูเอี๋ยเขมร
ต่อมานายชวนนท์ แถลงข่าวถึงแนวทางการเจรจาถอนทหารรอบปราสาทพระวิหารของรัฐบาลว่า รัฐบาลที่แล้วได้ใช้อำนาจของจีบีซีเป็นกลไกหารือระหว่างสองประเทศ เพื่อให้ทหารทั้งสองฝั่งตกลงกัน ว่าจะปรับทหารจุดใด แต่รัฐบาลชุดนี้มองข้ามกลไกของจีบีซี โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บินข้ามจีบีซีไปประชุมที่เสียมราฐ แล้วไปตกลงเรื่องถอนทหาร โดยที่ทหารหรือฝ่ายผู้ปฏิบัตินั้นยังไม่หารือกันในพื้นที่ จึงเป็นที่มาว่าการถอนทหารจะเท่าเทียมเป็นไปตามคำสั่งศาลโลกหรือไม่ พรรคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปใช้กรอบการเจรจาของจีบีซี และต้องระมัดระวังว่าถ้าเราถอนทหารฝ่ายเดียว การจะเอากำลังกลับไปในจุดที่เคยอยู่อีกครั้งหนึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะทำให้กัมพูชาแสดงอธิปไตยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว
จากบันทึกการประชุมคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการซูเอี๋ยกับกัมพูชาล่วงหน้า โดยนายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วยรมว.ทรัพยากรณ์และสิ่งแวดล้อม ได้รับทราบว่ากัมพูชาจะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธาน เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป และแสดงให้เห็นว่า นายพิทยา รู้ดีว่าการเสนอตัวของกัมพูชาไม่ใช่วาระปกติที่ถูกวางไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการเสนอตัวของกัมพูชาอยู่ในวิสัยที่ไทยจะเสนอตัวเข้าแข่งขันได้ แต่เลือกที่จะไม่เสนอตัวในนามประเทศไทยที่จะแข่งขันกับกัมพูชา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ
“ในทางตรงกันข้าม นายพิทยากลับใช้ดุลพินิจของตัวเองโดยไม่ได้รับมอบหมายจากครม.ตัดสินใจให้ไทยเป็นรองประธาน WHC 37 ต้องถามว่านายพิทยา ซึ่งเป็นเพียงผู้ช่วยรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เอาอำนาจอะไรไปตัดสินใจในเรื่องที่จะมีผลผูกพันต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือว่าเป็นเพราะได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่นี้ คือยอมให้กัมพูชาเป็นประธานและไทยเป็นรองประธานโดยมีการตกลงกันไปก่อนแล้วล่วงหน้า เพราะหลังจากที่มีการประชุมคณะผู้แทนไทยแล้ว นายพิทยาได้พบกับนาย Chan Tani, Secretary of State, Council of Ministers ของกัมพูชา โดยมีบันทึกการเจรจาที่แสดงให้เห็นว่า นายพิทยารู้ล่วงหน้าว่ากัมพูชาเสนอตัวแต่เพียงฝ่ายเดียวและไทยพร้อมที่จะเป็นรองประธาน”นายชวนนท์กล่าวและว่า หากรัฐบาลมีความพยายามจะตัดตอนความรับผิดชอบอยู่ที่นายพิทยา ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะบริหารประเทศนี้อีกต่อไป และพรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น