xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ซัด “บิ๊กโอ๋” ยัวะถูกถามถอนทหาร โวยข้ามหัวจีบีซี จับโกหก ผช.รมว.ทส.ซูเอี๋ยเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
“ชวนนท์” ตำหนิ “สุกำพล” ทำเป็นไม่พอใจถูกถามเรื่องถอนทหาร ชี้มองข้ามกลไกจีบีซีในรัฐบาลที่แล้ว “ปู” ตกลงลับถอนทหารโดยที่กองทัพไม่รู้ จับโกหก “พิทยา พุกกะมาน” ซูเอี๋ยกับเขมรล่วงหน้า ฝืนมติ ครม.ปล่อยให้เขมรลอยลำเป็นเจ้าภาพ-ประธานประชุมกรรมการมรดกโลก

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวตำหนิท่าทีของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจฝ่ายค้านที่ตรวจสอบความชัดเจนในเรื่องการถอนทหารบริเวณปราสาทพระวิหารกินพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร ตามที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 54 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมไปยังแผ่นดินไทย คร่อมสันปันน้ำไปยังฝั่งกัมพูชาด้วย ซึ่งตนรู้สึกแปลกใจที่ พล.อ.อ.สุกำพลออกมาแสดงความรำคาญ ไม่พยายามตอบคำถามของฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสงสัยคือการอ้างว่าการปรับกำลังของแต่ละฝ่ายเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ ตนขอโต้เถียงว่าไม่จริง เพราะการปรับกำลังทหารหมายถึงว่าทหารทุกนายที่อยู่ในพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตรต้องออกจากพื้นที่ทั้งหมด ไม่มีการตั้งแคมป์ หรือการใช้อาวุธสงคราม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่แต่ะละฝ่ายจะไปถอนทหารกันเอง แต่เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการ ในรัฐบาลที่แล้วได้ใช้อำนาจของจีบีซีเป็นกลไกหารือระหว่างสองประเทศ เพื่อให้ทหารทั้งสองฝั่งตกลงกัน และคุยกันว่าจะปรับทหารจุดใด เมื่อไหร่ อย่างไร รวมทั้งจะมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้วยหรือไม่ไปพร้อมๆ กัน แต่รัฐบาลชุดนี้มองข้ามกลไกของจีบีซี

“นายกฯ ยิ่งลักษณ์ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) บินข้ามจีบีซีไปประชุมที่เสียมราฐแล้วไปตกลงเรื่องถอนทหาร โดยที่ทหารหรือฝ่ายผู้ปฏิบัตินั้นยังไม่หารือกันในพื้นที่ จึงเป็นที่มาว่าการถอนทหารจะเท่าเทียม จะยุติธรรม และเป็นไปตามคำสั่งศาลโลกหรือเปล่า พรรคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปใช้กรอบการเจรจาของจีบีซี ผมยืนยันว่าเราไม่มีปัญหากับการถอนทหาร หากดำเนินการโดยเท่าเทียมทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังว่าถ้ากัมพูชาไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้แล้วเราถอนฝ่ายเดียว การกลับเข้าไปอีกครั้งจะหมดสิทธิ การจะเอากำลังกลับไปในจุดที่เคยอยู่อีกครั้งหนึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ แล้วกัมพูชาจะเป็นผู้ที่แสดงอธิปไตยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว นี่คือจุดที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่มากกว่าจะแสดงท่าทีหงุดหงิดรำคาญในข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน” นายชวนนท์กล่าว

ขณะเดียวกัน นายชวนนท์ยังแสดงความเอือมระอาต่อการพูดโกหกซ้ำซากของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมาระบุว่าการประชุมมรดกโลกที่กัมพูชาได้รับเลือกเป็นประธานนั้น เรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปีที่แล้วในการประชุมที่ฝรั่งเศสไทยจะได้รับเลือกแต่วอล์คเอาท์จากที่ประชุมก่อน รัสเซียจึงได้รับเลือกนั้นเป็นการโกหกประชาชนเป็นครั้งที่ร้อยแล้วสำหรับรัฐมนตรีคนนี้ ตนอยู่ที่ฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว การจะถอนตัวจากมรดกโลกไม่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเพราะการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ในขณะนั้นที่ประชุมใหญ่มีมติเห็นว่าไทยกับกัมพูชายังตกลงกันไม่ได้จึงมีความพยายามที่จะล็อบบี้ให้รัสเซียเป็นเจ้าภาพแทนไม่ใช่เพราะไทยจะถอนตัวจากมรดกโลกแล้วรัสเซียจึงได้

“ไม่ว่าไทยจะอยู่ในมรดกโลกหรือไม่ รัสเซียก็ได้ เพราะขณะนั้นเสียงสนับสนุนสองประเทศคือไทยกับกัมพูชาสูสีกัน ตกลงกันไม่ได้จึงเลือกให้รัสเซียเป็นเจ้าภาพในปีนี้ และที่นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกรัฐบาลออกรายการช่อง 11 บอกว่า นายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างว่าการประชุมมรดกโลกที่กัมพูชาได้เป็นประธานเป็นวาระที่ถูกกำหนดไว้แล้วไม่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เป็นวาระปกติ พูดให้ประชาชนเข้าใจเหมือนกับว่าเขาวางวาระให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ผมคิดว่า น.ส.ศันสนีย์อาจไม่ตั้งใจโกหก แต่ไม่มีความรู้มากพอที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้” นายชวนนท์กล่าว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังได้นำบันทึกการประชุมคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 มาจับโกหกนายพิทยา ว่าไม่พูดความจริงต่อประชาชน รวมทั้งยังในบันทึกดังกล่าวยังเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการซูเอี๋ยกับกัมพูชาล่วงหน้าด้วย โดยในบันทึกดังกล่าวเป็นการประชุมระหว่างเวลา 13.00-14.00 น. พิจารณาเกี่ยวกับท่าทีสำหรับการเลือกตั้งประธานและรองประธานในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 37 โดยนายพิทยากล่าวว่า “การดำรงตำแหน่งรองประธาน WHC37 ของไทยอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อ กล่าวคือ 1. ผลประโยชน์ เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของประเทศชาติ เพื่อเป็นการคานอำนาจกัมพูชา 2. หากฝ่ายค้านหรือกัมพูชานำประเด็นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองก็สามารถอธิบายได้ว่า การเข้าไปอยู่ใน Bureau ในฐานะรองประธานเป็นการเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งหากกัมพูชาดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากลก็สามารถคานฝ่ายกัมพูชาได้ รวมทั้งเป็นบทบาทของไทยในปีสุดท้ายที่จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการมรดกโลกด้วย และ 3. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีไม่ได้พิจารณาในประเด็นนี้ ตนจึงขอใช้ดุลพินิจในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยตัดสินใจว่า การตัดสินใจเรื่องการดำรงตำแหน่งรองประธาน WHC37 ของไทยเป็นการตัดสินใจแบบทีมไทยแลนด์ เพื่อให้เดินไปในแนวทางเดียวกัน โดยในเอกสารยังบันทึกไว้ด้วยว่าในขณะนั้นทราบว่ากัมพูชาจะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานเนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป

นายชวนนท์กล่าวว่า หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายพิทยารู้ดีว่าการเสนอตัวของกัมพูชาไม่ใช่วาระปกติที่ถูกวางไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการเสนอตัวของกัมพูชาอยู่ในวิสัยที่ไทยจะเสนอตัวเข้าแข่งขันได้ แต่เลือกที่จะไม่เสนอตัวในนามประเทศไทยที่จะแข่งขันกับกัมพูชา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ในทางตรงกันข้าม นายพิทยากลับใช้ดุลพินิจของตัวเองโดยไม่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีตัดสินใจให้ไทยเป็นรองประธาน WHC 37

“ต้องถามว่า นายพิทยาซึ่งเป็นเพียงผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เอาอำนาจอะไรไปตัดสินใจในเรื่องที่จะมีผลผูกพันต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือว่าเป็นเพราะได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่นี้ คือยอมให้กัมพูชาเป็นประธานและไทยเป็นรองประธานโดยมีการตกลงกันไปก่อนแล้วล่วงหน้า เพราะหลังจากที่มีการประชุมคณะผู้แทนไทยแล้ว นายพิทยา ได้พบกับนาย Chan Tani, Secretary of State, Council of Ministers ของกัมพูชา โดยมีบันทึกการเจรจาที่แสดงให้เห็นว่า นายพิทยารู้ล่วงหน้าว่ากัมพูชาเสนอตัวแต่เพียงฝ่ายเดียวและไทยพร้อมที่จะเป็นรองประธาน“ นายชวนนท์กล่าว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อไปว่า ในบันทึกการเจรจาฝ่ายกัมพูชาแจ้งต่อนายพิทยาว่า “กัมพูชาประสงค์จะเห็นการประชุม WCH 37 ประสบความสำเร็จเพื่อประโยชน์โดยรวมของอนุสัญญา รวมทั้งแสดงให้ประเทศอื่นเห็นว่ากัมพูชาและไทยมีความร่วมมือที่ดีและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน” โดยนายพิทยาได้ชี้แจงต่อฝ่ายกัมพูชาว่า “ขณะนี้ไม่มีประเทศอื่นนอกจากกัมพูชาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WHC 37 ดังนั้นกัมพูชาจะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว แม้ว่าไทยจะไม่ explitly สนับสนุนการเสนอตัวของกัมพูชา” ที่สำคัญคือ ยังมีการเจรจาต่อไปด้วยว่าฝ่ายกัมพูชาจะเสนอให้ไทยเป็นรองประธาน และนายพิทยาก็ระบุชัดเจนว่าจะไม่ปฏิเสธ

“การเจรจาดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นายพิทยารู้ล่วงหน้าทั้งหมดว่ากัมพูชาจะทำอย่างไร เหมือนมีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว จนทำให้กัมพูชาได้เป็นประธานโดยที่ไทยไม่แข่งและยังยอมเป็นรองประธานให้ด้วย ผมคิดว่าเป็นการซูเอี๋ยกับกัมพูชาอย่างชัดแจ้ง ท่าทีเช่นนี้แตกต่างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะการดำเนินการใดๆ ในกรรมการมรดกโลกที่มีผลต่อกรณีปราสาทพระวิหารนั้น เป็นมติ ครม.ชัดเจน และยืนยันมาโดยตลอดในสมัยนั้นว่าหากมีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพไทยจะต้องเสนอตัวด้วย จึงต้องตรวจสอบว่ารัฐบาลชุดนี้มีการเปลี่ยนแปลงมติ ครม.ในยุคที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลหรือไม่ และเหตุใดเรื่องที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของชาติและอาจกระทบต่ออธิปไตยของไทย ครม.ชุดนี้จึงไม่พิจารณาและไม่เคยแสดงบทบาทที่จะปกป้องรักษาประโยชน์ชาติด้วยการต่อสู้อย่างเต็มที่ในเวทีกรรมการมรดกโลก แต่กลับให้คนระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่จะมีผลผูกพันต่อประเทศชาติ ผมคิดว่าหากรัฐบาลมีความพยายามจะตัดตอนความรับผิดชอบอยู่ที่นายพิทยา ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะบริหารประเทศนี้อีกต่อไป และพรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป” นายชวนนท์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น