xs
xsm
sm
md
lg

"สุวันชัย" คาดศาลโลกตัดสินพระวิหารเร็วสุดสิ้นปี ชี้รบ.ถกจีบีซีไม่ผ่านสภาขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
"ดร.สุวันชัย" ชี้การประชุมจีบีซีเพื่อถอนทหารจากเขาพระวิหาร เท่ากับเดินเรื่องทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความมั่นคงของสังคมแล้ว ระบุต้องผ่านการอนุมัติจากสภาตามมาตรา 190 แต่รัฐบาลกลับนำเข้าสภาตามมาตรา 179 ซึ่งเป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติ เผยอย่างเร็วที่สุดศาลโลกตัดสินสิ้นปีนี้ พร้อมหวั่นศาลพิจารณาโดยนำข้อเท็จจริงหลังปี 2505 มาใช้ ซึ่งกัมพูชาอาจยก MOU43 มาอ้างได้ แต่ทางที่ถูกไม่น่าแตะเรื่องเขตแดน เพราะเกินขอบเขตอำนาจของศาล


วันที่ 17 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และพล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง ได้ร่วมรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV พูดคุยถึงประเด็น "ศาลโลก - เขาพระวิหาร"

ดร.สุวันชัย กล่าวแจงถึงเรื่องคดีเขาพระวิหารว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 54 ศาลโลกมีคำสั่งออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว หลังจากศาลโลกมีคำสั่ง นายกษิต รมว.ต่างประเทศ ก็แถลงว่าไทยเคารพคำสั่งศาล พร้อมปฏิบัติตาม ก็คล้ายกับเป็นคำมั่นสัญญาแล้ว ทางที่ถูก ควรพิจารณาคำสั่งศาลโลกให้ดีก่อนที่จะประกาศ ต่อจากนั้น 25 ก.ค. มีการประชุมหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยงานความมั่นคง โดยนายกษิตเป็นประธาน เพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก แต่เนื่องจากช่วงนั้นมีการเลืกตั้ง จึงมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดที่จะมาใหม่เป็นผู้พิจารณาต่อไป

ต่อมาสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อ 16 ส.ค. คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณารายละเอียด หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องการตีความ และมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้รอบคอบก่อนแล้วมาเสนอคณะรัฐมนตรีใหม่ จากนั้น 12 ต.ค. สภาความมั่นคงฯก็เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงเสนอ คือให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก หลังจากนั้นก็นำคณะรัฐมนตรี และมีมติเมื่อ 18 ต.ค. เห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอมา

ในวันเดียวกันก็มีวาระจรเข้ามา เพราะผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ธีรกุล นิยม) จะเดินทางไปเจรจาหารือกับกัมพูชาภายใต้กรอบการประชุมจีบีซี ก็เกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ก็เลยเสนอวาระจรเข้าไปในวันเดียวกัน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีความเห็นว่า การไปเจรจาครั้งนี้ควรมีแนวทางอย่างไร

คณะรัฐมนตรีก็มีความเห็นแบ่งออกมาเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ มองว่าคณะรัฐมนตรีควรมีมติชัดเจน ว่าไปหารือกับกัมพูชาควรจะเจรจาอย่างไร หรือไม่ก็ให้นำเข้ารัฐสภาตามมาตรา 190 ฝ่ายที่ 2 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายปลอดประสพ สุรัสวดี และนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เห็นว่าคณะรัฐมนตรีไม่ต้องมีมติ แต่สนับสนุนนำเข้าสภา ฝ่ายที่ 3 คือน.ส.ยิ่งลักษณ์ และรต.อ.เฉลิม เห็นว่าคณะรัฐมนตรีไม่ควรมีมติ และไม่จำเป็นต้องนำเข้าสภา

ซึ่งก็ยังตกลงกันไม่ได้ จนในที่สุดพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ติดต่อมาว่าหากคณะรัฐมนตรีไม่มีมติ หรือไม่มีการนำเข้าสภา เขาก็จะไม่ไปเจรจา น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงปรึกษาเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีกาเห็นว่ากรอบการเจรจาจีบีซีไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แต่เห็นว่านายกฯมีสิทธินำเรื่องนี้เข้าสภาตามมาตรา 179 ให้เกิดการอภิปราย โดยไม่มีการลงมติ แต่ในที่สุดน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ตัดสินใจไม่เอาเรื่องเข้าสภา และคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีมติ

หลังจากนั้นเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงเป็นห่วงในเรื่องนี้ ต่อมา 21 ต.ค. นายธานี ทองภักดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแถลงว่า การปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เป็นอำนาจบริหาร ที่รัฐบาลสามารถกระทำได้ ไม่ใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แต่อย่างไรก็ดีการปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลกเป็นสิ่งสำคัญ และควรดำเนินการอย่างรอบคอบ จึงเห็นสมควรเสนอสภาตามมาตรา 179 จากนั้น 3 พ.ย. นายสุรพงษ์ ก็แถลงว่านายกฯลงนามขอเปิดสภาตามมาตรา 179 ในที่สุด 15 พ.ย. ก็มีการประชุมร่วมของรัฐสภา เป็นการประชุมลับ แต่เท่าที่ทราบ มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง บางส่วนเห็นว่าต้องทำเป็นหนังสือสนธิสัญญา และเข้าข่ายมาตรา 190 แต่รัฐบาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย

ต่อมาพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา แถลงว่าไทยพร้อมเจรจาโดยนำกรอบการเจรจาที่ได้จากการประชุมรัฐสภาเมื่อ 1 5 พ.ย. ไปหารือกัมพูชา เพื่อหาข้อยุติ 5 ข้อ 1.ปรับกำลัง หรือการถอนทหาร 2.การปฏิบัติต่อผู้สังเกตการณ์ 3.การจัดจุดตรวจบริเวณเขตปลอดทหาร 4.การปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ยูเนสโก เมื่อเข้ามาบูรณะ 5.การดำเนินการต่อชุมชนบริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ

ซึ่งชุมชนวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ส่วนใหญ่ก็เป็นครอบครัวชาวกัมพูชา แต่ศาลโลกไม่ได้ให้ชุมชนออก ดังนั้นแค่ทหารกัมพูชาเปลี่ยนชุดก็กลายเป็นคนในชุมชนไปแล้ว อันนี้ยากแก่การตรวจสอบ ตรงนี้สำคัญที่ทหารไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจสร้างปัญหาได้

ดร.สุวันชัย กล่าวต่อว่า วันที่ 21 พ.ย. ไทยยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อนายทะเบียนศาลโลก คล้ายๆกับเป็นคำแก้ฟ้อง โดยกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่าเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ แสดงว่าคณะรัฐมนตรีได้รับทราบส่วนนี้แล้ว ต่อมา 5 ธ.ค. สำนักงานศาลโลกออกข่าวแจกว่า มีจดหมายเมื่อ 24 พ.ย. จากนายทะเบียนศาล บอกว่าได้แจ้งรัฐคู่กรณีไทย - กัมพูชา ให้กำหนดเวลาให้ไทย - กัมพูชาส่งคำอธิบายที่เป็นลายลักษณ์อักษร กัมพูชาต้องส่งภายในวันที่ 8 มี.ค. 55 ส่วนไทยให้ส่งภายในวันที่ 21 มิ.ย. 55 ข่าวที่นายอภิสิทธิ์ บอกว่าศาลโลกจะตัดสินภายใน 1 ก.พ. เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

หลังจากนั้นไทย - กัมพูชา ก็ได้จัดให้มีการประชุมจีบีซี และออกมาแถลงการณ์ร่วมว่าทั้ง 2 ฝ่ายเห็นด้วยที่จะปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลก โดยต้องโปร่งใส เสมอภาค

เมื่อถามว่าทั้งหมดที่รัฐไทยทำมามีปัญหาตรงจุดไหนบ้าง ดร.สุวันชัย กล่าวว่า ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณา คือคำสั่งศาลโลก มีมติให้ทั้งไทย - กัมพูชา ถอนทหาร แต่ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย 5 คน ซึ่งมีประธานศาลโลกรวมอยู่ด้วย เห็นว่ามันเกินอำนาจศาล เพราะไม่ได้ถอนเฉพาะพื้นที่พิพาท แต่เป็นการถอนหทารออกจากส่วนที่เป็นดินแดนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ และดินแดนกัมพูชา 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย ตรงนี้ศาลไม่มีอำนาจสั่ง

"ฉะนั้นก่อนที่คณะรัฐมนตรีหรือจีบีซีจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ต้องคิดประเด็นนี้ก่อนว่าคำสั่งศาลโลกมันเกินอำนาจศาลหรือไม่ แล้วมาล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของเราหรือเปล่า เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งอธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ แม้ถอนทหารออกมาชั่วคราวก็เท่ากับเสียอำนาจอธิปไตยชั่วคราว เห็นด้วยว่าควรทำตามคำสั่งศาลโลก แต่ต้องอยู่ในขอบแขต ไม่ใช่ทำตามร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ผ่านมารับหมด ปฏิบัติหมด

อีกประเด็นการดำเนินการของรัฐบาล การถอนทหาร ต้องทำข้อตกลง ทีนี้ข้อตกลงระหว่างกันเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่ มีคนโต้แย้งว่าไม่ได้ทำให้อาณาเขตเปลี่ยนแปลง อันนี้อาจใช่ แต่มาตรา 190 มีมากกว่านั้น เพราะมีระบุว่าหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อันนี้มันกระทบความมั่นคง เพราะถ้าถอนทหารจริง คนออกมาประท้วงเกิดความวุ่นวายได้ น่าจะเข้าข่ายความมั่นคงของสังคม ที่ถูกต้องควรให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ แต่ปัจจุบันรัฐบาลแค่เสนอเข้าสภาตามมาตรา 179 และการที่จีบีซีเจรจาแล้วก็เท่ากับดำเนินการทำหนังสือสัญญาแล้ว ถ้าศาลตีความว่าเข้าข่ายมาตรา 190 จีบีซีดำเนินการตอนนี้เท่ากับขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และ 190" ดร.สุวันชัย กล่าว

ดร.สุวันชัย ยังกล่าวอีกว่า คณะกรรมการดำเนินคดีปราสาทพระวิหาร ได้มีการยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว 21 พ.ย. แล้วศาลโลกก็กำหนดให้มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ก็คือคำอธิบายวาระ 2 โดยกัมพูชาต้องยื่น 8 มี.ค. ไทย 21 มิ.ย. เขาบอกต่อว่าหลังจากยื่นคำสังเกตการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีแนวโน้มสูงที่ศาลจะให้มีการรับฟังการให้ถ้อยคำ ก็จะยืดเวลาจาก 21 มิ.ย. ออกไปอีก คาดว่าอย่างเร็วที่สุดคดีจะตัดสินได้ปลายปีนี้

อีกทั้งคณะกรรมการดำเนินคดีปราสาทพระวิหารยังหนักใจ ในกรณีที่คำสั่งคุ้มครองของศาลโลก สามารถเอาข้อเท็จจริงที่เกิดหลังปี 2505 มาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ ซึ่งกัมพูชาก็คงจะหาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมาอ้าง และเป็นไปได้ว่าอาจเอาเอ็มโอยู 43 มาใช้ด้วย เอกสารหลังการตัดสินมีเยอะ คงต้องพิจารณาว่าอันไหนสำคัญ แต่ก็มีประเด็นทางเทคนิคว่าปี 2505 ศาลพิพากษาแต่ตัวปราสาท เป็นไปได้ที่ศาลจะไม่ตีความถึงเรื่องเส้นเขตแดน เพราะเกินขอบเขตอำนาจศาล อีกอย่างไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญารับอำนาจศาลโลกที่หมดอายุไปเมื่อปี 2503 จริงๆแล้วศาลไม่น่าจะตัดสินเกินในสิ่งที่เรารับไว้ในปี 2505 แต่เอ็มโอยู 43 จะถูกนำมาอ้างหรือไม่ เป็นประเด็นทางเทคนิคกฎหมายที่ต้องไปสู้กัน

ด้าน พล.ร.ท. ประทีป กล่าวฝากถึงทหารว่า ปัจจุบันกองทัพได้รับความกดดันสูงมาก ต้องเผชิญกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในได้อย่างง่าย เช่นการประกาศข่าวก่อการร้ายของอเมริกา ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ก้าวล่วง แน่นอนกองทัพต้องเป็นตัวหลักในการปกป้องความมั่นคงของชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องประเมินยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งทหารมีฝ่ายที่ทำตรงนี้อยู่แล้ว แต่อยากฝากไปถึงผู้บังคับบัญชาทุกเหล่าทัพว่าเมื่อประเมินแล้วต้องนำมาใช้ประโยชน์ อย่างทำไมสหรัฐฯต้องเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้ นั่นก็เพื่อรักษาผลประโยชน์น้ำมัน แล้วทำไมถึงเคลื่อนย้ายไปพม่า จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทหารต้องติดตามความเคลื่อนไหว อีกทั้งกองทัพต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ใช่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ต้องศึกษาให้ออกว่าโครงสร้างทางการเมืองเป็นอย่างไร เหมาะสมกับประชาชนในทุกวันนี้หรือไม่




พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น