xs
xsm
sm
md
lg

นิติเรดยุส่งยุบศาลฯ ลุยโหวตวาระ3 จับตามติพท.แก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เพื่อไทย" เรียกถกแกนนำพรรค หาช่องเดินหน้าแก้ไขรธน. "นิติเรด" เหิมหนักยุลงมติวาระ3 ไปเลย พร้อมเสนอยุบศาลรธน. ตั้งองค์กรพิทักษ์ระบอบรธน.ขึ้นมาแทน เอานักการเมืองเป็นคนคัดบุคคล "ยะใส" ซัดแนวคิดนิติเรด พาถอยหลังลงคลอง "สยามสามัคคี" แฉแผนบันได 3 ขั้น เพื่อไทย-เสื้อแดง ดันโหวตแก้รธน.วาระ 3 ล้มมาตรา 68 ยุบศาลรธน. ชี้ โหวต วาระ3 เท่ากับผลักภาระให้ ในหลวง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทย จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ส.ส. และสมาชิกพรรค ในเวลา 13.00 น.วันนี้ (16 ก.ค.) เพื่อวิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยกคำร้องข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ โดยตั้งข้อสังเกตว่า คำวินิจฉัยที่มีนั้น ไม่ชัดเจน เช่น เรื่องการทำประชามติก่อนแก้รธน. ถือเป็นคำแนะนำ ไม่ใช่คำสั่ง จึงต้องหารือว่าจะมีผลผูกพันกับทางรัฐสภาหรือไม่ โดยพรรคจะพิจารณาว่าจะเดินหน้าลงมติแก้ไขรธน. วาระ 3 เลยหรือไม่ หรือจะทำประชามติก่อนลงมติวาระ 3 หรือนำข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา มาพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติ ก่อนเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไปวันที่ 1 ส.ค.นี้ ขณะเดียวกันจะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเดินหน้าผลักดันแก้ไขรธน.ต่อไป

ส่วนเรื่องการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่ได้มีการหารือในพรรค แต่ถ้าประชาชน และนักวิชาการจะยื่นถอดถอน ก็สามารถดำเนินการได้เลย

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็น การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพราะจะมีปัญหาหากหลายฝ่ายยื่นคำร้อง จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับภาระ การรับคำวินิจฉัยมาก จึงเห็นว่า ควรยื่นต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณาก่อน เพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาได้เลย จะเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ ผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย

ส่วนประเด็นทำประชามติ ก็ผิดหลักการ เพราะ ในอดีตมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วจึงทำประชามติ แต่หากให้ทำประชามติก่อนแก้ พอแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ จะต้องมาลงประชามติอีกหรือไม่ ซึ่งต้องเสียงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท ถึง 2 ครั้ง

โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีลาออกโดยเทียบกับสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่รัฐบาลไม่สามารถออก พ.ร.บ.ขนส่ง ของรัฐสภาได้ โดยเห็นว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองของพรรคประชาธิปไตยเพื่อที่จะล้มล้างรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะไม่ลาออกแน่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภา พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเวทีปราศรัยกล่าวหารัฐบาล ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดิมๆ ทั้งที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ยอมลงมติ ในวาระ 3 โดยลืมสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ ทั้งนี้อยากให้ฝ่ายค้านใช้เวลาติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าการปราศรัยบิดเบือน โจมตีรัฐบาล

นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกให้รัฐบาลตัดขาดจากคนเสื้อแดง จะได้บริหารประเทศครบ 4 ปี ว่า ถือเป็นเจตนาดี แต่ประสงค์ร้าย เพราะรัฐบาลไม่ได้มีปัญหากับประชาชน ไม่ว่าเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง

***รบ.ควรยอมรับคำตัดสินศาลฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรธน. ได้สรุปประเด็นข้อกฎหมายหลักๆ ไว้ชัดเจนแล้ว คือทั้งการร้องตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลระบุว่าหากขั้นตอนต่อไปจากนี้ ขั้นตอนไหนที่มีความเสี่ยง ก็สามารถยื่นร้องได้ ข้อที่ 2 ศาลฯชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ ทำไม่ได้ เว้นแต่ไปจัดทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนทั้งชาติก่อน

เมื่อข้อกฎหมายที่ศาลชี้เช่นนี้ รัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ก็ควรทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้าโดยไม่มีความขัดแย้ง น่าจะเป็นโจทย์ของรัฐบาลมากกว่าที่จะมาถกเถียงในทางกฎหมาย เพื่อหลบเลี่ยงใช้เทคนิค จะทำให้มีปัญหาตามมาทีหลัง นอกจากนี้ คำตัดสินของศาลที่ออกมา ทำให้หลายฝ่ายยอมรับว่า ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง มีหลักกฎหมายที่ชัดเจน ดังนั้นทุกฝ่ายควรที่จะยึดปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้

ส่วนกรณี แกนนำ นปช.ประกาศไม่ยอมรับคำวินิฉัยของศาลรธน. และเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าในการลงมติในวาระ 3 ต่อไปนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากแต่ละกลุ่มยังยึดความพอใจ หรือไม่พอใจเป็นหลัก เรื่องก็ไม่จบ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลที่บางฝ่ายออกมายอมรับว่า มีลักษณะเป็นกลางๆ ดังนั้นทุกคนก็ควรยึดและเดินในทางสายกลางไป บ้านเมืองเราจะได้เดินได้ เพราะขณะนี้เรากำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และอาจจะมีปัญหาภัยพิบัติในอนาคต

**จี้"จาตุรนต์"ขอโทษตุลาการ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 แสดงความรับผิดชอบ ที่เคยระบุก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการเขียนคำวินิจฉัยไว้ล่วงหน้า ว่าจะยุบพรรคเพื่อไทย แต่ท้ายที่สุด ศาลก็ไม่ได้มีคำตัดสินเป็นไปอย่างที่นายจาตุรนต์กล่าวอ้าง นายจาตุรนต์จึงควรรับผิดชอบต่อการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงด้วย
ทั้งนี้เห็นว่าโรคจตุพร กำลังแพร่ระบาดในพรรคเพื่อไทย เพราะคนในพรรคนี้อยู่ในภาวะ ดีแต่พูด ดีแต่กล่าวหา และเปลี่ยนคำพูดทุกวัน เมื่อไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะนักการเมืองจะต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองด้วย เช่น กรณีของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็มีการพูดจาที่ไม่เหมาะสม มีการข่มขู่ว่าจะจับตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้สังคมไทยรวมถึงต่างชาติ ตื่นตระหนก รวมถึงกรณี นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ออกมาอ้างว่า มีการลงขันกันเพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทย ด้วย เป็นการแถลงข่าวแบบคิดเองเออเอง พูดเพื่อให้เป็นข่าว โดยไม่รับผิดชอบต่อผลของคำพูด ที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหา ย ประชาชนเกิดความรำคาญ

**จับตา พท.ลุยลงมติวาระ 3 หรือไม่

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี กล่าวถึง กรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย หลายคนพยายามจะเดินหน้า ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ว่า ขณะนี้ทางกลุ่ม กำลังประเมินสถานการณ์ และจับตาว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่า รัฐบาลกล้าที่จะเดินหน้าต่อ โดยไม่สนใจข้อสังเกตของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า การแก้ไขรธน. ทั้งฉบับควรจะต้องทำประชามติก่อน ซึ่งหากรัฐบาล และรัฐสภา ยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนคำท้วงติง ทางกลุ่มเสื้อหลากสี จะรอดูว่า มีผู้ที่จะไปยื่นคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 อีกหรือไม่ หากมี แต่ยังขาดตกบกพร่อง เราก็พร้อมไปยื่นเพิ่มเติมเช่นกัน หรือกรณีที่รัฐสภา ยอมปฏิบัติตามข้อสังเกตของศาลรัฐธรรมนูญ กลับไปแก้ไขเป็นรายมาตรา ก็ใช่ว่าเราจะนิ่งนอนใจ เพราะจะต้องไปดูด้วยว่า เขาจะแก้ไขมาตราอะไร หากเป็นมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นมาตรา ที่เอื้อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างมาตรา 309 เราจะคัดค้านถึงที่สุด

**"นิติราษฎร์"แนะยุบศาลรธน.

เมื่อเวลา13.00 น.วานนี้ (15 ก.ค.) ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์ จัดแถลงข่าวเสนอ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ" นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ , นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำ กล่าวว่า จากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง ดังนั้นแสดงว่า ไม่ได้ห้ามให้รัฐสภา ลงมติ วาระ 3 หากสภาไม่เดินหน้าลงมติวาระ3 ก็ไม่เป็นเรื่องของสภาแล้ว

"ถ้าคุณยังไม่เข้าใจอีก ก็ช่างคุณแล้วกัน เพราะผมไม่รู้จะว่ายังไง อยากจะถามว่า ถ้าแก้ทีละมาตรา ทำหมดทุกมาตรา ต่างจากแก้ทั้งฉบับอย่างไร แล้วจะไปลงประชามติให้เปลืองงบประมาณทำไม เพราะคนส่วนใหญ่ยังไงก็ต้องการแก้ไขรธน. อยู่แล้ว นอกจากนี้ ถ้าเสนอให้มียุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกไปเฉยๆไม่ได้ เราจึงเสนอให้มีการแต่งตั้ง คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีความยึดโยงกับประชาชน โดยห้ามเข้ามาขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" นายวรเจตน์ กล่าว

ด้านนายปิยบุตร เสนอว่า ควรตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ มี 8 คนประกอบด้วย เลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร 3 คน วุฒิสภา 2 คน และ คณะรัฐมนตรี 3 คน โดยผู้ที่ถูกคัดเลือก จะต้องไม่เคยเป็นตุลาการมาก่อน

ทั้งนี้ คณะนิติราษฎร์ ได้เสนอให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยเห็นว่าศาลตีความ กรณีขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เห็นเป็นการขยายอำนาจให้รับเรื่องเอง โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ได้ให้อำนาจให้ศาลมีอำนาจชะลอ ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเห็นว่า การได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชน จำเป็นต้องใช้อำนาจประชาชนในการจัดตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ใช้ไปพลางๆ ก่อน ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ในประเทศ โดยการนำรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ หรือวิธีการอื่นๆ ตามความเหมาะสม

** จวก"นิติราษฎร์"เสนอยุบศาลรธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กำลังปลุกกระแสต่อต้านองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ มากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย และเลยเถิดไปถึงการทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการทั้งระบบ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และคณะนิติราษฎร์ ที่พยายามผลักดันให้รัฐสภา ปฏิเสธ คำวินิจฉัย และให้เดินหน้าลงมติ ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไปเลยนั้น ถือเป็นการละเมิดหลักการถ่วงดุลตรวจสอบ อ้างผลเลือกตั้ง ทำอะไรตามใจไปหมด

ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ กฎหมายไม่ห้าม และเราก็ควรเปิดใจรับฟังทุกความเห็น แต่น่าเสียดายที่ผู้รู้ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ กลับใช้อคติ เอามัน จนไม่เหลือตรรกที่น่าเชื่อถือ เอะอะก็โยงรัฐประหาร 49 และอำมาตย์ หลักวิชาที่ไปร่ำเรียนกันมา เริ่มหดหายกันไปหมด

โดยเฉพาะการแถลงของคณะนิติราษฎร์ วันนี้ แทบไม่หลงเหลือคราบความเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายเลย ท่วงทำนอง ลีลา ภาษา ไม่ต่างจากนักเลือกตั้ง บิดเบือนปลุกระดม จนมีลักษณะคล้ายๆ นักปราศรัยในร่ม ของเวทีเสื้อแดงไปโดยปริยาย เช่น บอกว่าไม่จำเป็นต้องลงประชามติให้เปลืองงบประมาณ เพราะคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการดูถูกประชาชน
หรือกรณีข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ที่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง ตั้งองค์กรพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน โดยมีทั้งหมด 8 คน มาจากการคัดเลือกของสภาผู้แทน 3 คน วุฒิสภา 2 คน และจากรัฐบาล 3 คน ยิ่งเป็นการถอยหลังลงคลอง เพราะทำให้พรรครัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย ที่มีเสียงข้างมากกุมเสียงได้ตั้ง 6 เสียง จากทั้งหมด 8 เสียง อย่างนี้เรียกว่าเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐบาล มากกว่าพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าสงสัย ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่ามาจากเสียงข้างมากถล่มทลาย แต่ไม่กล้าทำประชามติ สอบถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ คงกลัวจะอธิบาย และตอบประชาชนไม่ได้ ว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร จึงพยายามรวบรัดโดยแก้ ม. 291 และ เตรียมคนของตัวเองมาเป็น ส.ส.ร.

" ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่กล้าลงมติวาระ 3 เพราะแรงต้านจะมากกว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะดูจากผลโพล พบว่าประชาชนร้อยละ 80 เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" นายสุริยะใส กล่าว
**ซัดนิติเรดเลิกเป็นปฏิปักษ์ปชต.

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ คณะนิติราษฎร์ เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญว่า กลุ่มนิติราษฎร์ ควรหยุดแสดงความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบ ของร่างกฎหมาย และการกระทำแห่งการขัดกันของผลประโยชน์ ของสมาชิกรัฐสภา และครม. เป็นอำนาจตรวจสอบที่เป็นประโยชน์ สำหรับประเทศชาติ อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในอำนาจตุลาการ

ดังนั้น นิติราษฎร์ ต้องสำนึกในเรื่องเหล่านี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า นิติราษฎร์ เคยอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับหรือไม่ มีฉบับไหนที่ไม่ตัดสินตามกฎหมาย และความเป็นจริง จึงเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ

นายราเมศ กล่าวด้วยว่า นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้รับทุนหลวงจนเรียนจบจากเยอรมัน แต่ไม่มีสำนึกปกป้องกระบวนการยุติธรรม แม้แต่น้อย ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่า การติติงทางวิชาการ ให้ปรับปรุงแก้ ไขสามารถทำได้ เป็นสิทธิเสรีภาพ ที่สามารถให้ความเห็นทางวิชาการได้ แต่ขอถามกลับไปว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย ออกมาย่ำยีอำนาจตุลาการ นายวรเจตน์ ไปมุดหัวอยู่ที่ไหน มีจิตสำนึกจะปกป้องกระบวนการยุติธรรม หรือไม่ เคยสำนึกต่อทุนที่รับไปเรียนวิชากฎหมาย จากต่างประเทศบ้างหรือไม่ จึงแสดงความเห็นให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ และมักออกมาแสดงความเห็น เพื่อให้เป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย

**แนะยุบ"นิติราษฎร์"ไปอยู่พท.

"ผมเสนอว่า ยุบนิติราษฎร์ ง่ายกว่ายุบศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้นิติราษฎร์ ยุบแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ และเป็นเสี้ยนหนามต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะเป็นการเสนอความเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ผมแนะนำให้ นายวรเจตน์กลับไปเรียนที่เยอรมันใหม่ เพราะเยอรมัน มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองของประเทศเยอรมัน และถ้ามีแนวความเห็นทางการเมืองแนวเดียวกับพรรคเพื่อไทย และพวก ผมจะพาไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะได้ต่อสู้ความเห็นทางการเมืองในสภา อย่าเป็นอีแอบทางการเมือง ใช้วิชาการบังหน้ารับใช้ระบอบทักษิณ ผมแนะนำให้นายวรเจตน์ ให้เผาตำราที่เขียนเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ลูกศิษย์จะได้ไม่สับสน เพราะตำราที่เขียน กับสิ่งที่แสดงออกมาขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง จะติดตามและต่อสู้นิติราษฎร์ ปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ" นายราเมศ กล่าว

**แฉแผนบันได3ขั้น พท.-เสื้อแดง

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวถึงกรณีข้อเสนอที่จะให้พรรคเพื่อไทย เดินหน้าลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า เป็นความดื้อด้านของนักการเมือง และแกนนำคนเสื้อแดงบางคนที่มีความอาฆาตแค้นศาลรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้ ไม่เคารพผลการวินิจฉัยของศาลฯ ไม่คำนึงว่าขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้คลี่คลายสถานการณ์ไปมากแล้ว ภาคเอกชน ภาคประชาชน ต่างขานรับคำวินิจฉัยที่ออกมาแบบนี้ มีคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีเป้าหมายจะยกเลิก มาตรา 68 จากนั้นจะยุบศาลรัฐธรรมนูญ เป็นความพยายามจะขืนใจสังคมไทยต่อเนื่อง โดยไม่นำพา ถูกผิด ขัดขวางประเทศไทยไม่ให้เดินหน้าไป ทั้งๆ ที่ศาลชี้ทางสว่างให้แล้ว

"พรรคเพื่อไทยควรหยุดพฤติกรรมได้คืบจะเอาศอก ต้องก้าวข้ามทักษิณ ด้วยตัวเอง เลิกคิดเอาชนะศาล ถอนร่างรัฐธรรมนูญเดิม และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ออกไป ตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขปัญหาปากท้อง และปัญหาสุ่มเสี่ยงน้ำท่วม ให้เกิดผลเป็นจริงจะดีกว่า คนบางคนเป็นทาสในเรือนเบี้ย วนเวียนอยู่ในวังวนปรารถนาของนายใหญ่เท่านั้น " นายประสาร กล่าว

**โหวตวาระ3 ผลักภาระให้ในหลวง

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารัฐสภา ควรชะลอการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า จะต้องโหวตภายในเมื่อไร โดยระหว่างนี้ ควรจัดทำประชามติ สอบถามประชาชนทั้งประเทศว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากประชาชนต้องการ ก็เดินหน้าโหวต วาระ 3 แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ ก็ถือว่า 2 วาระ ที่ผ่านมาเป็นอันจบไป

" การเดินหน้าโหวตวาระ 3 จะเป็นการโยนภาระ และแรงกดดันทั้งหมดไปให้พระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ เพราะเมื่อโหวตเสร็จสิ้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้นำกฎหมายนี้ไปทูลเกล้าฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในเวลา 20 วัน ฉะนั้น จึงเป็นการไม่บังควร ที่จะนำเรื่องที่ยังเป็นความขัดแย้ง แตกต่าง ในแง่การตีความระหว่างรัฐสภา กับศาลรัฐธรรมนูญ ถวายให้พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัย"

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า การให้ลงประชามติ เป็นเพียงคำแนะนำจากศาล ไม่ใช่คำวินิจฉัย ฉะนั้นรัฐสภาจึงไม่จำเป็นต้องปฎิบัติตามนั้น ดร.ปริญญา เห็นว่า พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรม ที่จะตีความแบบนั้น เพราะศาลไม่ได้สั่งให้เลิกกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง เพียงแต่บอกว่า ควรจะไปทำประชามติ หรือไปแก้เป็นรายมาตรา แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยอ้างจุดนี้ แล้วเดินหน้าโหวต วาระ 3 สถานการณ์บ้านเมืองก็จะกลับมาตึงเครียดอีก เพราะจะมีม็อบไปล้อมสภาฯ ไม่ยอมให้ยกมือแน่ ฝ่ายค้านก็บอยคอต ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ ย้อนกลับไปถามประชาชน ว่าอนุญาตให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือไม่ ถ้าประชาชนว่าอย่างไร ก็เดินไปแบบนั้น

***คาดใช้งบ2.5พันล.ทำประชามติ

นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน ควรออกมาแสดงความชัดเจนว่า จะต้องให้มีการทำประชามติก่อนแก้รธน. หรือไม่ หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และหากทำประชามติแล้ว ประชาชนเห็นด้วยให้สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ หลังจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะต้องทำประชามติอีกหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมานั้น ไม่ชัดเจน ถึงแม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะออกมาชี้แจง หรือแม้แต่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาชี้แจง ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนได้ เพราะไม่ใช่ศาล มิฉะนั้นความขัดแย้งต่างๆ ก็จะยังไม่จบ

" ไม่ว่าจะทำประชามติก่อน หรือหลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กกต. สามารถดำเนินการได้ทั้งนั้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณครั้งละ 2,500 ล้านบาท โดยใช้เวลาในการทำประชามติประมาณ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่อยากกล่าวไปถึงขั้นตอนนั้น เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลย" นางสดศรี กล่าว

**ส.ส.-ส.ว.416 คน ต้องยื่นชี้แจงศาลรธน.

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เตรียมเรียกประชุม ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 416 คน เพื่อหารือว่า จะต้องทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ยกคำร้องว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตาม มาตรา 68 ว่า ส.ส. และส.ว.416 คน จะต้องทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเป็นคนละคำร้อง คนละกรณีกัน และขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อีกทั้งเนื่องจากเนื้อหา ข้อเท็จจริง และประเด็นต่างๆ ยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องเดียวกับ 5 คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องเมื่อวันที่ 13 ก.ค.หรือไม่ ดังนั้นส.ส.และส.ว.ทั้ง 416 คน ยังต้องทำหนังสือชี้แจง
กำลังโหลดความคิดเห็น