xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ธาริต”ป้อง“ชุดดำ”เอี่ยวเผาเซ็นทรัลฯ กระบวนการฟอกผิด“แก๊งแดง”คืบหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- แม้ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่จะมีผลในการนิรโทษกรรมความผิดให้กับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง จะยังไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่กลไกของระบอบทักษิณก็ยังมีกระบวนการอื่นที่จะฟอกความผิดให้กลุ่มคนเหล่านี้

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แถลงความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ในคดีวางเพลิง เผาทรัพย์ และลักทรัพย์ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ว่า คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งจำเลยบางคนศาลได้มีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว และยืนยันว่าไม่มีชายชุดดำเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมีการดำเนินคดีแยกเป็น 2 ส่วน คือ คดีลักทรัพย์ และคดีวางเพลิง โดยคดีลักทรัพย์มีจำเลย 9 ราย ประกอบด้วย นายพินิจ จันทร์ณรงค์, นายวิศิษฏ์ แกล้วกล้า, นายภาสกร ไชยสีทา, นายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม, นายอัตพล วรรณโต, นายอาทิตย์ เบ้าสุวรรณ, นายพรชัย โลหิตดี, นายยุทธชัย สีน้อย และนางเจียม ทองมาก พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมพยานหลักฐานมีความเห็นควรสั่งฟ้องต่ออัยการไปเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2553         
         
โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2554 ลงโทษจำเลยทั้ง 7 คน ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินคนละ 6 เดือน และลงโทษจำเลย นายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม ในความผิดฐานลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็น 3 ปี 6 เดือน ส่วนฐานความผิดอื่นยกฟ้อง

ส่วนคดีวางเพลิงมีผู้ต้องหาถูกออกหมายจับรวม 9 คน ประกอบด้วย ชายไทยไม่ทราบชื่อ 5 ราย, นายสายชล แพบัว, นายพินิจ จันทร์ณรงค์, นายอัตพล วรรณโต, นายภาสกร ไชยสีทา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สรุปความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปให้พนักงานอัยการเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2553 รวมความเสียหายของคดีทั้งในส่วนของศูนย์การค้าและผู้เสียหายรายย่อยเป็นมูลค่ากว่า 8,890 ล้านบาท ส่วนความเสียหายต่อชีวิตมี 1 ราย คือ นายกิตติพงษ์ สมสุข ชาว จ.ศรีสะเกษ เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ โดยพนักงานอัยการได้ส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ซึ่งกรณีนายสายชล และนายพินิจ ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 21 และ 23 ส.ค.2555 ส่วนนายอัตพล และนายภาสกร ซึ่งยังเป็นเยาวชน โดยศาลเยาวชนฯ นัดสืบพยานพนักงานสอบสวนในวันที่ 3 ส.ค. 2555

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการแถลงเมื่อวันที่ 10 ก.ค.นั้น นายธาริตพยายามจะปฏิเสธว่าชายชุดดำไม่เกี่ยวข้องกับการเผาศูนย์การค้า แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมีชายชุดดำเข้าไปเกี่ยวข้องในเหตุการณ์อื่นอีกหรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า ตนจำไม่ได้ หากเอ่ยถึงชายชุดดำจะมีเฉพาะสำนวนการก่อการร้าย แต่สำนวนที่แยกย่อยออกมา เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์หลายแห่ง ทั้งเผาศาลากลางจังหวัด เผาตู้เอทีเอ็ม ร้านค้าย่อยหลายแห่ง ดีเอสไอไม่ได้ทำสำนวนที่ไปเกี่ยวกับชายชุดดำ

การที่นายธาริตกันชายชุดดำออกจากคดีเผาห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ช่วยลบภาพความเหี้ยมโหดของชายชุดดำที่สาธารณชนเคยรับรู้ในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ให้ลดน้อยลงไป

หากย้อนไปดู เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 นั้น ชายชุดดำปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในคืนวันที่ 10 เม.ย. ด้วยการนำอาวุธสงครามออกมายิงใส่เจ้าหน้าที่จนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบนาย ขณะปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การจราจรบริเวณแยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหลังจากนั้น ก็มีการปรากฏตัวของชายชุดดำอย่างต่อเนื่อง โดยออกมายิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ตั้งแต่บริเวณถนนพระราม 4 สวนลุมพินี ถนนราชดำริ มาจนถึงแยกราชประสงค์

ในคำให้การของทหารในคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ยังได้ระบุถึงชายชุดดำที่ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บริเวณต่อม่อรถไฟฟ้า ใกล้วัดปทุมวนาราม ในช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ค.53 หลังจากมีการวางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไปหมาดๆ

น่าสังเกตว่า การแถลงของนายธาริตเมื่อวันที่ 10 ก.ค.นั้น มีขึ้นหลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ว่า ในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 14.30 น. ตนได้เรียกประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทำสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปนั่งฟังด้วย เพื่อให้เกิดความกระจ่างกรณีที่มีคนกล่าวว่ามีชายชุดดำ และการเผาบ้านเผาเมือง เรื่องนี้ได้สั่งนายธาริตแล้วว่าให้รายงานผลการสืบสวนสอบสวนมาที่ตน แล้วจัดแถลงข่าวว่าชายชุดดำเป็นใคร และใครเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง

การที่ ร.ต.อ.เฉลิม สั่งให้มีการแถลงข่าวในวันที่ 13 ก.ค.นั้น เป็นวันและเวลาเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น เป็นการอาศัยช่วงที่กระแสสังคมให้ความสนใจคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มากลบเกลื่อนข้อพิรุธในคำแถลงของ บชน.เกี่ยวกับชายชุดดำ ที่พยายามบ่ายเบี่ยงว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดง

ถึงที่สุดแล้ว กลุ่ม นปช.ที่ก่อเหตุรุนแรงระหว่างการชุมนุมปี 2553 จะมีความผิดอย่างมากก็แค่วางเพลิง หรือลักทรัพย์ หรือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น

ส่วนคดีก่อการร้าย ก็จะโยนความผิดให้ชายชุดดำ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร และในที่สุดคดีนี้ก็จะค่อยๆ เงียบหายไปกับสายลม เหมือนคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณและบริวารอีกหลายคดี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีเผาบ้านเผาเมืองที่คนเสื้อแดงต้องตกเป็นจำเลยเพราะจำนนต่อหลักฐานนั้น ก็มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่

โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ทีมทนายความของ นปช.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด รวม 3 ล้านบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราว นายเอกชัย มูลเกษ จำเลยคดีร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนและร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาแล้วจำคุก 6 ปี 6 เดือน, นายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในส่วนของนายเอกชัย ศาลมีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป เนื่องจากขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ส่วนนายสายชล และนายพินิจ ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ส่งเอกสารการยื่นประกันไปยังเรือนจำเพื่อให้จำเลยทั้งสองลงชื่อรับรองในเอกสารสัญญาประกันแล้วให้ส่งกลับมา
      
 ต่อมาวันที่ 12 ก.ค.ทีมทนายความ นปช.ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขัง 5 คน รวมทั้งยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีก 1 รายด้วย โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 ล้านบาทสำหรับการยื่นประกันตัว

ก่อนหน้านั้นวันที่ 9 ก.ค.ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นปช. 9 คน ที่ถูกดำเนินคดีเผาศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม โดยให้วางเงินประกัน คนละ 1 ล้านบาท หลังจากที่มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขัง 13 คนในคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และยังมีผู้ต้องขังอีกประมาณ 20 คน ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว

ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพ ได้ยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขัง ที่ถูกจับในการชุมนุมของกลุ่มนปช. รวม 31 คน ใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดมหาสารคาม 9 คน จังหวัดอุดรธานี 5 คน จังหวัดอุบลราชธานี 4 คน และจังหวัดมุกดาหาร 13 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ และบุกรุกสถานที่ราชการโดยรัฐบาลใช้เงินจากกองทุนยุติธรรม 43 ล้านบาท ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในการประกันตัวคนเหล่านี้
                              
                   
กำลังโหลดความคิดเห็น