xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปูนิ่มเยือนเขมร ทักษิณ-อเมริกา-ฮุนเซน ผลประโยชน์พลังงานลงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนชินวัตร เมื่อทนายหน้าหอ “นพดล ปัทมะ” ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า ขณะนี้เจ้านายสุดที่เลิฟของเขา คือ นช.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับวีซ่าสามารถเดินทางเข้า-ออกสหรัฐอเมริกาได้อย่างสมใจปรารถนา แถมออกตัวอีกว่า วีซ่าครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคำขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เพราะนช.ทักษิณได้รับวีซ่ามา 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งวีซ่าเป็นวีซ่าเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 10 ปี

แน่นอน เรื่องนี้ไม่พ้นต้องถูกตั้งคำถามว่า ผลประโยชน์ดังกล่าวที่นช.ทักษิณได้รับสดๆ ร้อนๆ จะมีนอกมีในอะไรแลกเปลี่ยนกับทางสหรัฐอเมริกาหรือไม่

แต่ที่เป็นที่ทำให้ทุกฝ่ายจับตามองและบังเอิญแบบร้ายกาจก็คือ จู่ๆนายกนกแก้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมคณะประกอบด้วย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประ เทศ, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ บินด่วนไปกัมพูชาในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คือนางฮิลลารี คลินตัน เพื่อเข้าร่วมประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ในงานฟอรัมธุรกิจอาเซียน

ทั้งนี้ ในการประชุมฟอรัมธุรกิจอาเซียน หรือ us-asean business ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา วันที่ 13 ก.ค.นั้น ความน่าสนใจอยู่ที่การประชุมกลุ่มย่อยห้องที่ 3 คือเรื่องพลังงานในประเด็น Industry Drivers of ASEAN Connectivity and Engines of of Growth : Energy (confirmed) Aviation Tourism, Education, Healthcare TBD ที่จะมีการพูดถึงสถานการณ์ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวด ล้อมในปัจจุบัน เพื่อที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนา ที่ควบคู่กันไปทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และก่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มีตัวแทนนักธุรกิจบริษัทข้ามชาติชั้นนำในด้านพลังงานเข้าร่วมอภิปรายด้วย เช่น บริษัทเชฟรอน, บริษัท GE Energy และยังมีนักธุรกิจด้านพลังงานรวมอยู่หลายคน

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญก็คือการพบกันครั้งนี้ของทั้งสองคน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนางฮิลลารีมีเหตุสำคัญอะไรจึงต้องถ่อไปพบกันที่ประเทศกัมพูชา และคงต้องถามอีกว่าเป็นวาระใหญ่ระดับประเทศที่คนระดับ นายกรัฐมนตรี อย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะลงทุนพบ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ และหากจะนับไปถึงธรรมเนียมทางการทูตก็เรียกว่าผิดสังเกตแบบชวนตั้งคำถามเสียนี้กระไร

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจ หากจะถูกทางฝ่ายค้าน ออกมาถล่มตั้งคำถามถึงเรื่องดังกล่าวกันยกใหญ่

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มี 7 ข้อที่คิดว่ารัฐ บาลต้องตอบ คือ 1.ตนไม่แน่ใจ ว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้น แล้ว จบลงที่พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ที่จะเจรจาในวันศุกร์นี้หรือไม่ เพราะหากโครงการนี้เป็นประ โยชน์จริง ทำไมต้องโกหกบิด เบือนประชาชน 2.ถ้าโครงการดี จริง ทำไมข้อสงสัยของ สมช.จึง ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล 3.ทำไมแผน ที่ของนาซาจึง ระบุแหล่งพลังงานในอ่าว ไทยด้วย 4.ผู้บริหารเชฟรอนเคยเข้าพบ นายกฯ ตั้งแต่ช่วงต้นของรัฐบาล

5.มีข้อสงสัยว่ามีการพบกันระหว่าง พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซี ผบ.สส.สหรัฐ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงที่มีการประชุมแชง-กรีลา ไดอะล็อก ที่ประเทศสิงคโปร์หรือไม่ 6.ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้วีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา 10 ปี และ 7.นายกฯ กำลังจะเดินทางนอกหมายไปพบนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐที่กัมพูชา และจะพบกันแค่สหรัฐ-ไทยและกัมพูชาเท่านั้น เรื่องพวกนี้มีพิรุธที่ต้องตรวจสอบ ว่ามีการนำผลประโยชน์ชาติไปแลกผลประโยชน์ส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่

ตามมาด้วย นายเจะอามิง โตะตาหยง สส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่ารัฐบาลไม่ควรเร่งดำเนินการร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพราะยังไม่มี ความชัดเจนเรื่องเขตแดน

ทั้งนี้ อาจส่งผลเสียหายตามมาภายหลังได้ เนื่องจากพื้นที่อ่าวไทยถือเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่ประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐ จีน และรัสเซียกำลังจับจ้อง ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ก่อนจะเดินหน้าแบ่งพื้นที่พลังงาน

นายเจะอามิง กล่าวอีกว่าได้ข้อมูลการตั้งบริษัท 6-7 แห่งทั้งในประเทศไทยและกัมพูชาเพื่อทำธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นบริษัทลูกบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลก และมีกลุ่มบริษัทของพวกพ้องของคนในรัฐบาลเข้าไปถือหุ้น ดังนั้นการเร่งดำเนินการโครงการนี้จึงน่าเป็นห่วงว่าอาจเอื้อประโยชน์พวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวอีกอย่างหนึ่งที่ ประชาชนคนไทยตาดำๆ ต้องรับรู้ไว้ก็คือ บริษัท เชฟรอน แห่งนี้ ยังมีชื่อเข้าร่วมสำรวจชั้นบรรยากาศกับองค์การนาซา แต่เมื่อถูกจับได้ไล่ทันก็พับโครงการไป และเป้าประสงค์ที่สำคัญของสหรัฐก็ไม่พ้นการเจรจาทางธุรกิจที่สหรัฐฯ เคยประกาศว่าพร้อมทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลทั้งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตราบใดที่ประเทศเหล่านี้พร้อมอ้าแขนต้อนรับระบบตลาดเสรี อย่างเต็มที่

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เยือนกัมพูชา ด้วยแล้วก็จะเข้าเค้าแบบผิดสังเกตอีกต่างหาก โดย นช.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ว่าสนใจจะมาลงทุนธุรกิจพลังงาน ขณะที่เมื่อตอนขายหุ้นบ.ชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้านบาทก็รับรู้กันว่า นช.ทักษิณจะนำเงินก้อนใหญ่นี้ไปลงทุนด้านพลังงาน

ที่สำคัญคือเมื่อวันที่ 6 พ.ค.55 หรือวันที่ นช.ทักษิณได้วีซ่าเข้าสหรัฐ มีรายงานว่าเอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศไทยก็ดอดไปพบ นช.ทักษิณที่ดูไบ

ทั้งหมดเมื่อต่อจิ๊กซอว์แล้ว ไม่แปลกหากหลายฝ่ายจะตั้งคำถามถึงแผนการร่วมมือกับทุนข้ามชาติแล้วขายชาติ เพื่อแสวงหาประโยชน์อะไรหรือไม่

และความผิดฝาผิดตัว ผิดเวลาไม่ได้หมดแค่นั้น ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือเวลานี้ที่กัมพูชาเป็นช่วงของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเท่านั้น ไม่ใช่ระดับผู้นำ อย่างมากก็มีแค่นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน เท่านั้นในฐานะเจ้าภาพเปิดการประชุม ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ก็ล้วนแล้วแต่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปร่วม มีเพียงไทยที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษที่ นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง และร่วมวงนักธุรกิจดังกล่าว

หากจะบอกว่าเป็นการโรดโชว์ดึงดูดการลงทุน แต่ดูแล้วมันไม่ถูกกาลเทศะเท่าใดนัก ไม่สมศักดิ์ศรีพิกล นอกเหนือจากมี “วาระซ่อนเร้น” อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เชื่อมโยงไปถึงพี่ชายคือ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งแทบทุกคนที่ติดตามมานานย่อมเข้าใจดีว่ามีความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจพลังงานในพื้นที่ดังกล่าว และที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจาปูทางกัน มาอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าจะมีขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง แต่ในที่สุดเมื่อรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของ ทักษิณ ชินวัตรขึ้นมามีอำนาจข่าวการเจรจาก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องแหล่งพลังงานในพม่า จนมาถึงพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และแน่นอนว่าทุกครั้งจะมีความเคลื่อนไหวของบริษัทพลังงานอย่างเชฟรอนของสหรัฐฯ และปตท.เข้ามาเกี่ยวข้องทุกครั้ง คราวนี้ก็เข้าอีหรอบเดิมเช่นกัน

และหากยิ่งไปดูการตั้งคำถามและธรรมเนียมทางการทูตก็เรียกว่าผิดฝาผิดตัว ผิดที่ ผิดเวลา เสียด้วยซ้ำ โดย นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชน ได้ตั้งข้อสังเกต 10 ข้อ เกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนกัมพูชา ของ นายกฯ นกแก้ว ไว้ดังนี้

1. หากมีการเชิญไปเยือนต่างประเทศเป็นทางการ จะต้องเป็นการเชิญโดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกัน หรือระดับที่สูงกว่าผู้ที่ถูกเชิญ และต้องเป็นการเชิญไปเยือนประเทศของผู้เชิญ

2. รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนกัมพูชาไม่ได้ จะเชิญไปพบที่กัมพูชาก็ไม่ได้

3. รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อพบรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ เพราะระดับต่างกัน ผู้ถูกเชิญระดับสูงกว่า 4 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศไทยไปเยือนสหรัฐฯ เป็นแขกของประธานาธิบดีได้ เพราะตำแหน่งผู้ถูกเชิญต่ำกว่า

5. รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนสหรัฐฯ โดยมีหนังสือเชิญจากประธานาธิบดีโอบามาได้ แต่ต้องเชิญให้เป็นแขกของประธานาธิบดี ไม่ใช่แขกของรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อไปพบประธานาธิบดีแล้ว นายกฯ จะนัดคุยกับรัฐมนตรี ที่สหรัฐฯ ได้ แต่ต้องคุยกัน ณ ที่ของนายกฯ เช่นห้องประชุมของโรงแรมที่กำหนดได้ จะไปคุยที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจะไม่เหมาะสม เพราะเป็นสถานที่ของผู้ถูกเชิญ

6. ทั้งหมดนี้หากเป็นการเชิญเป็นส่วนตัว ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพ้นตำแหน่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องยึดระเบียบพิธีทางการทูตข้างต้น

7. การที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยไปเยือนกัมพูชาเพื่อพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ตามคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯยามที่ท่านมีเวลาว่างจากการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอื่นของอาเซียน จึงเป็นเรื่องตลกทางการทูตที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ควรทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียเกียรติของชาติ และนายกรัฐมนตรีไทยด้อยศักดิ์ศรี ถือเป็นเรื่องเสียหายต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติ ทำให้ประเทศไทยด้อยศักดิ์ศรีตามไปด้วย ประชาชนชาวไทยต้องรู้สึกถึงความเสียเกียรติในการนี้ด้วยเช่นกัน

8. กระทรวงการต่างประเทศของไทยปล่อยให้เรื่องเสื่อมเสียต่อประเทศชาติและผู้นำของรัฐบาลไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีเหตุผลที่อธิบายข้อวิจารณ์ข้างบนนี้ได้ 9. นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่มีความรู้เรื่องพิธีการทูตระหว่างประเทศเลยหรือ จึงได้ปล่อยให้เรื่องเสื่อมเสียเกียรติเช่นนี้เกิดกับตัวท่านเองและกับประเทศที่ท่านเป็นผู้นำได้

10. นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะคิดว่าประเทศไทยเล็กกว่าและด้อยกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ จะคิดและทำตัวเองและทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต่ำกว่าประธานาธิบดีและต่ำกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ทุกประเทศบนโลก ในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ถือว่ามีฐานะเท่าเทียมกัน นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องคิดและทำให้ได้ว่าจะนำประเทศไทยและตัวท่านเองไปอยู่เคียงบ่าเคียงใหญ่กับประเทศอื่นในโลกได้ ต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการต่างประเทศให้มากขึ้น ต้องคิดถึงเกียรติของตัวเองและประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

เรียกว่าผิดกาละเทศะ แบบไม่น่าให้อภัยด้วยประการทั้งปวง ที่ จู่ๆนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถึงกับเดินทางไปกัมพูชาโดยกะทันหันเพื่อเข้าร่วมประชุมกับนักธุรกิจของสหรัฐฯ ที่มีบริษัทเชฟรอนรวมอยู่ด้วย และในท่ามกลางความสัมพันธ์กับ ทักษิณ ชินวัตรที่ถูกระดับดีเยี่ยมมีการออกวีซ่าให้เข้าประเทศ เมื่อปะติดปะต่อกันแล้วมันก็มองได้ว่าเป็นการเดินทางไปแสตมป์ในฐานะนายกรัฐมนตรีเหมือนกับก่อนหน้านี้เมื่อครั้งไปเยือนพม่าไม่มีผิด

คำถามสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อรู้ว่าผิดกาละเทศะ แต่ทางกัมพูชาก็มิได้หืออือแต่อย่างใด เพราะอย่างที่ทราบกันว่า นช.ทักษิณและฮุนเซน นายกฯกัมพูชา สนิทชิดเชื้อกันมากขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็ประกาศชัดเจนว่ามีนโยบายที่จะร่วมกับกัมพูชานำพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เนื้อที่กว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมแบ่งปันผลประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมซึ่งธนาคารโลกประเมินว่ามีมากถึง 5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชายังไม่ได้ข้อยุติ โดยเฉพาะคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งคาดว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินไม่เกินช่วงต้นปีหน้า

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพื่อนรักชั่วนิรันดร์อย่างนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่สนิทสนมแนบแน่นกับ นช.ทักษิณ ชินวัตรขนาดไหน เพราะทันทีที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนส.ค.2554ฮุนเซนประกาศในทันทีที่ว่ายินดีที่จะร่วมกับไทยเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2554 เพราะก่อนหน้านี้ได้ทำ "บันทึกความตกลงร่วมกันของไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลพ.ศ. 2544" หรือ เอ็มโอยู 2544 ร่วมกันมาเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ในเวลาต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีมติยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าวเมื่อวันที่10 พ.ย. 2552 เพื่อประท้วงกรณีรัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลไทยพิพากษาจำคุกคดีที่ดินรัชดาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ

ถ้าไม่เสียเวลาไปนักก็คงต้องทวนความจำกันสักนิดว่า MOU 2544 ได้ทำในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หลังขึ้นเป็นนายกฯไม่กี่เดือน โดยนช.ทักษิณ มุ่งหน้ามาสู่ธุรกิจพลังงานโดยออกแบบนโยบายเป็นแพจเกจรองรับมาตลอด ตั้งกระทรวงพลังงาน แปรรูปปตท. ยึดทีพีไอ ถอยในกรณีปราสาทพระวิหาร-มรดกโลก ฯลฯ

และสำหรับ นช.ทักษิณ แล้วนี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยม ในการส่ง น้องสาวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าประเทศกัมพูชา เพื่อฉวยจังหวะหารือฟื้นเอ็มโอยู 44 สูบพลังงานพื้นที่ทับซ้อนของสองประเทศ ทีมโฆษกรัฐบาลเปิดเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ อ้างปัจจุบันยังไม่บอกเลิกกับกัมพูชาอย่างเป็นทางการ มีสถานะผลบังคับระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ และโปรดอย่าถามว่า คนอย่างฮุนเซนจะได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

นี่กระมังที่เป็นนัยสำคัญในการส่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินหน้าไปประเทศกัมพูชา ก็เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผลประโยชน์ไม่ได้ตกที่ประชาชนชาวไทยตำดำๆ

นี่คือคำถามใหญ่ที่ประชาชนยังเฝ้ารอคำตอบจากปากของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น