xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์ 13 ฝันดีหรือฝันร้าย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

วันนี้(ศุกร์13)แล้วครับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนั่งบังลังก์เพื่อวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

การวินิจฉัยจะออกหัวออกก้อยหรือออกตรงกลางนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดากันไปต่างๆ นานา รวมทั้งมีการข่มขู่คุกคามศาลด้วยว่าถ้าตัดสินออกมาไม่ตรงใจแล้วจะก่อจลาจลบุกเข้าไปจับตัวศาล

น่าตลกนะครับว่านอกจากไม่มีฝ่ายที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย และความสงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ออกมาตำหนิการข่มขู่คุกคาม มีมาตรการป้องปราม หรือดำเนินคดีฝ่ายที่ออกมาข่มขู่คุกคามศาล กลายเป็นว่าตำรวจกลับพยายามสร้างสถานการณ์ให้ดูน่ากลัวสอดคล้องไปกับการข่มขู่นั้น

แต่เอาเถอะครับ ตุลาการที่ขึ้นมาได้จนถึงขั้นนี้แล้วนั้น ผมเชื่อว่าแต่ละท่านนั้นไม่ได้หวั่นเกรงกับคำข่มขู่เหล่านั้นเป็นแน่ และเชื่อมั่นว่าทุกท่านจะยึดถือหลักความยุติธรรมมากกว่าการข่มขู่หรือการโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้เอาไว้

การวินิจฉัยจะอยู่ใน 4 ประเด็น คือ 1. อำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสอง 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และ 4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคหรือไม่

ประเด็นที่ 1 ที่ว่าด้วยอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 นั้น ผมว่าข้ามไปที่ประเด็นที่ 2 ได้เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 7:1 ตั้งแต่ต้นแล้วว่าให้รับคดีไว้พิจารณา ถ้าศาลจะมาบอกในภายหลังว่าการรับมติไว้พิจารณาของตัวเองไม่ชอบนั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เลย

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ดูเหมือนประเด็นนี้จะมีความเห็นที่ค่อนข้างสอดคล้องกันที่สุด ทั้งฝ่ายร้องและผู้ถูกร้องต่างเชื่อว่า ศาลน่าจะออกมาในแนวทางว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สามารถทำได้และให้สภากลับไปแก้ใหม่เป็นรายมาตรา มีคนเชื่อกันมากว่าจะออกแนวทางนี้เพราะเป็นทางสายกลางที่จะบรรเทาสถานการณ์ได้มากที่สุด

ประเด็นที่ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ กรณีผู้ร้องยกคำพูดแวดล้อมของฝ่ายผู้ถูกร้องเพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการตระเตรียมการเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องยืนกระต่ายขาเดียวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เกิดขึ้นเลยสักมาตราเดียว ฝ่ายผู้ร้อง “จินตนาการ” ไปเอง

กรณีนี้มีความเห็นจากอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กของท่านไว้น่าสนใจ ในห้วข้อ ปัญหา “จินตนาการ” กับ “ข้อเท็จจริง” ในแง่กฎหมาย

......

ในแง่ข้อโต้แย้งเรื่อง “จินตนาการ” กับ “ข้อเท็จจริง” จะอ้างขึ้นกล่าวหากันได้เพียงใด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายสำคัญอยู่นี้ ฝ่ายหนึ่งอ้างว่า “จินตนาการ” ยกขึ้นอ้างไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่า “ตระเตรียมการ” ทำความผิดสำคัญก็ผิดแล้ว ในแง่กฎหมาย ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาวิเคราะห์ “จินตนาการ” แต่เป็นปัญหาการวิเคราะห์ “ข้อเท็จจริง” ว่า “ภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน” นั้นเกิดขึ้นแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทางกฎหมายในเรื่อง “จำเป็น” และ “ป้องกัน”

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ภยันตรายนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ใกล้จะถึงหรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่จินตนาการ ถ้าไม่มีภยันตรายเลย หรือไม่ใกล้จะถึง ไม่มีเหตุใกล้ชิดจึงจะเรียกได้ว่า “เป็นจินตนาการ” หรือ “การคาดคะเน” หรือ “ไกลกว่าเหตุ”

แต่ถ้าภยันตรายมีอยู่จริง ก็พึงตราไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดผลขึ้นก่อน ส่วนภยันตราย(ถ้ามี)นั้น ถ้ามีมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ป้องกันได้ แต่ถ้าภยันตรายนั้นไม่ใช่ภยันตรายอันมีมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ใช่เหตุป้องกัน แต่แม้จะไม่ใช่กรณีป้องกัน ก็ยังต้องพิจารณาต่อไปว่า จะยกเรื่องจำเป็นขึ้นปัดเป่าภยันตรายอันมีมาได้หรือไม่

การจะบำบัดปัดเป่าได้หรือไม่ ก็ต้องพิเคราะห์ต่อไปว่า ระหว่างการกระทำเพื่อขจัดปัดเป่าภยันตรายซึ่งอาจเกิดเสียหายกับเหตุแห่งภยันตรายนั้น กับการปล่อยให้ภยันตรายนั้นเกิดขึ้น กรณีใดจะมีผลกระทบเสียหายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองยิ่งหย่อนกว่ากัน และการกระทำนั้นเป็นการกระทำอันเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่

ถ้าจำเป็นต้องปัดเป่าเพื่อรักษาสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองยิ่งกว่าโดยสมควรแก่เหตุ ก็เป็นเรื่องจำเป็นอันเป็นเหตุให้กระทำได้โดยชอบ แต่ถ้ากระทำไปเพื่อรักษาสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองเท่าเทียมกัน หรือต่ำกว่าเพียงเล็กน้อยโดยสมควรแก่เหตุก็จำเป็นอันเป็นเหตุยกเว้นโทษ

แต่การบำบัดปัดเป่าภยันตรายอันจะกระทบเสียหายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองยิ่งกว่า ก็เป็นการกระทำที่ผู้อ้างเหตุปัดเป่าต้องรับผิดชอบ ผู้ประสบภัยต้องยอมทนรับภัยนั้น จะยกเรื่องจำเป็นขึ้นอ้างไม่ได้เลย

สำหรับปัญหาเรื่องจำเป็นอันเป็นเหตุให้มีอำนาจทำได้โดยชอบ กับจำเป็นอันเป็นเหตุยกเว้นโทษคืออะไร และต่างกันอย่างไร เป็นปัญหาพื้นฐานในวิชานิติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องอาญาอย่างเดียว เป็นปัญหาได้ทั้งในเรื่องแพ่ง เรื่องรัฐธรรมนูญ และเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะปัญหาโลกแตกว่าด้วย Preventive Measure

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะมีการถกกันในการประชุมวิชาการที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เช้าวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ เสียดายที่ผมอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง เลยไปร่วมถกด้วยไม่ได้

......

น่าวิเคราะห์ต่อไปนะครับว่า ภยันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น หากเราเล็งเห็นว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นนั้น เราควรจะปัดเป่าภยันตรายให้พ้นไปหรือไม่ การอ้างเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยกับหลักการปกครองซึ่งเป็นรูปแบบที่ยึดถือในประเทศนั้นอะไรคือสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองยิ่งหย่อนกว่ากัน

ส่วนประเด็นที่ 4 ที่ว่า หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคหรือไม่นั้น ผมไม่อยากคาดเดานะครับ แต่ก็มีเสียงข่มขู่มาจากฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดงแล้วว่า ถ้าหากการวินิจฉัยของศาลออกมาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองพวกเขาจะไม่ยอมรับการวินิจฉัยนั้น จะก่อจลาจลจับกุมตัวศาลและต่อสู้แบบแตกหัก ราวกับว่าประเทศนี้พวกเขาคือความถูกต้องเพียงฝ่ายเดียว

ไม่ว่าผลการวินิจฉัยในวันนี้จะออกมาอย่างไร ดูเหมือนว่า ประเทศนี้จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะสำหรับคนเสื้อแดงพวกเขาคือฝ่ายชอบธรรมและถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น