xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รับผิดชอบคือผู้ตัดสินใจ ผู้ตัดสินใจคือผู้รับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: “สุจิตรา”

ผมมีหลายเหตุการณ์อยากยกมาเป็นอุทาหรณ์ให้ท่านผู้อ่านพิจารณา

เรื่องแรก - มีเรื่องเล่าทางการเมืองเรื่องหนึ่งความว่า ครั้งหนึ่งในสมัยที่โรนัลด์ เรแกน ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มีเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีเรแกนต้องตัดสินใจว่าจะเลือกดำเนินการในแนวทางใด ประธานาธิบดีเรแกนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาหารือกับคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดี คณะที่ปรึกษาฯ ก็ถกกันหน้าดำคร่ำเครียด สุดท้ายคณะที่ปรึกษาก็มีมติว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรตัดสินใจดำเนินการในแนวทางหนึ่ง แต่เมื่อประธานาธิบดีเรแกนประกาศการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว ประธานาธิบดีเรแกนกลับเลือกดำเนินการในอีกแนวทางหนึ่ง

นักข่าวทุกคนที่ได้ฟังการแถลงข่าวจากประธานาธิบดีก็ฉงน นักข่าวจึงถามท่านประธานาธิบดีว่า ทำไมท่านจึงไม่ดำเนินการตามมติของคณะที่ปรึกษาฯ ท่านประธานาธิบดีตอบว่า “ประชาชนเลือกผมมาเพื่อตัดสินใจ (โดยใช้ข้อมูลทั้งหมด และ วิจารณญาณของผม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศแต่มิใช่เลือกมาเพื่อมาปฏิบัติตามคณะที่ปรึกษาฯ - ผู้เขียน)”

ท่านคิดว่า ระหว่างเรแกนและคณะที่ปรึกษาใครที่ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในการดำเนินการปัญหาดังกล่าว และใครที่ควรจะมีอำนาจในการตัดสินใจ

เรื่องที่สอง - ผมอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ที่ผ่านมาคนในหมู่บ้านก็ช่วยกันในกิจกรรมต่างๆ ด้วยดีและด้วยความราบรื่น จนมาในช่วงที่เริ่มเกิดน้ำท่วมไล่มาจากพิษณุโลก ลงมาเรื่อยๆ ผมก็ดำเนินการป้องกันบ้านของตนแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือน้ำที่อาจจะท่วม ขณะเดียวกันผมในฐานะลูกบ้านก็ถามเพื่อนบ้านที่เป็นกรรมการหมู่บ้านว่า หมู่บ้านจะดำเนินการป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้านหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า ทางหมู่บ้านคงไม่ดำเนินการป้องกันอะไร ผมคิดว่าแม้ผมจะป้องกันบ้านตนเองได้ แต่ก็คงอาศัยอยู่อาศัยหลับนอนไม่ได้เพราะถ้าน้ำท่วมทั้งหมู่บ้านผมก็คงเข้าออกลำบาก คงได้แต่หมกตัวอยู่ภายในบ้านซึ่งโรคประสาทคงถามหาอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อผมป้องกันบ้านตนเองเรียบร้อยทั้งจากน้ำและจากขโมยที่อาจมาเยี่ยมเยียน ผมก็พาครอบครัวอพยพไปต่างจังหวัด

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมก็ได้ยินว่า ประธานหมู่บ้านบ่นน้อยใจว่า ลูกบ้านทิ้งกันไปหมด ไม่อยู่ช่วยเหลือกัน เหลือแต่ประธาน (เพราะมีบ้านสองหลังที่ต้องดูแลเพราะกลัวขโมยขึ้น) และลูกบ้านอีก 2-3 หลัง ประธานบ่นว่าเหนื่อยมากเพราะต้องจัดการเรื่องเอากระสอบมาขวางหน้าหมู่บ้าน (ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด) ต้องหาซื้อเรือท้องแบนพร้อมเครื่อง (ราคาสองหมื่นกว่าบาทโดยใช้เงินหมู่บ้าน) เพื่อให้ยามใช้ส่งคนในหมู่บ้านเข้าออก (รวมทั้งครอบครัวของประธานหมู่บ้าน)

มาทราบภายหลังน้ำท่วมว่า การที่ทางหมู่บ้านไม่ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมแต่แรกนั้นคือการตัดสินใจคนเดียวของประธานหมู่บ้านโดยอ้างว่า “เจ้าหน้าที่เขตบอกว่าน้ำจะไม่ท่วม” ไม่ได้มีการปรึกษาหารือในกรรมการอย่างจริงจัง รวมทั้งการซื้อและตั้งกระสอบทราย การซื้อเรือเครื่อง และการขายเรือเครื่องให้แก่ยามในราคาถูกหลังน้ำท่วม (ห้าพันบาท) ก็มิได้มีการประชุมเป็นมติของคณะกรรมการหมู่บ้าน

เรื่องนี้ท่านคิดว่า การดำเนินการในกิจการหมู่บ้านเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการหมู่บ้านหรือประธานหมู่บ้าน และอำนาจการตัดสินใจควรจะอยู่ที่ใคร

เรื่องที่สาม - ผมมีภารกิจต้องรับผิดชอบในการคัดเลือกและส่งรายชื่อบุคคลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนานอกสถานที่ ซึ่งก่อนส่งรายชื่อก็ได้ปรึกษากับลูกทีมคนหนึ่งโดยพิจารณาถึงเนื้อหาการสัมมนาและหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคคลต่างๆ และได้ข้อสรุปร่วมในรายชื่อ

ภายหลังมาทราบว่า ลูกทีมคนดังกล่าวได้นำรายชื่อนั้นไปปรึกษาลูกทีมอีกคนหนึ่ง และด้วยเหตุผลบางประการลูกทีมคนแรกจึงได้เปลี่ยนชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาจากเดิมโดยไม่ปรึกษาหรือแจ้งให้ผมทราบ

ท่านคิดว่า ความรับผิดเป็นของใคร ระหว่างผู้เขียนหรือลูกทีม และใครควรมีอำนาจตัดสินใจ

เรื่องที่สี่ - ท่านผู้อ่านคงเคยมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมการประชุมในฐานะคณะทำงาน หรือกรรมการ หรือประธานคณะทำงาน ประธานกรรมการ ท่านผู้อ่านเคยได้ยินประโยคที่ขัดแย้งกันเองเหล่านี้หรือไม่ “ประธานตัดสินคนเดียวนี่หว่า ไม่ฟังเสียงคนในที่ประชุม” “ทำไมประธานไม่ยอมตัดสินใจ เอะอะอะไรก็อ้างมติที่ประชุม” หรือ “ผมเป็นประธาน ผมก็ต้องมีสิทธิตัดสินใจ” “ผมเป็นแค่ประธาน ผมต้องทำตามมติที่ประชุม”

เรื่องที่ห้า - รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีประเด็นปัญหาต้องตัดสินใจและรับผิดชอบคือเรื่องการที่ทางสหรัฐฯ จะขอเช่าสนามบินอู่ตะเภาเพื่อการสำรวจสภาพอากาศและเพื่อความร่วมมือในการรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนว่า รัฐบาลกำลังชักศึกเข้าบ้านหรือไม่ แต่รัฐบาลก็อ้างความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่จำเป็นต้องเข้าสภาเพื่อพิจารณา ล่าสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าไปอภิปรายในรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179

ทั้ง 5 เรื่องที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์นี้ดูเผินๆ ในมิติต่างๆ เช่น มิติด้านบุคคล ด้านเวลา ด้านเนื้อหา ด้านสถานที่ อาจไม่เกี่ยวพันกัน แต่ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณามิติทางด้าน “ปัญหาร่วม” ซึ่งก็จะพบว่า ทั้ง 5 เรื่องนี้ต่างล้วนมีปัญหาร่วมกันตรงคำว่า “ความรับผิดชอบ (Responsibility)” และ “การตัดสินใจ (Decision Making)” ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งคนในสังคมควรที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่าง ซึ่งเมื่อกระจ่างแล้วจะลดปัญหารอบตัวเราไปมาก อย่างน้อยก็ลดความเครียดในตัวเราลงไป และถ้าสังคมได้เรียนรู้จริงแล้ว สังคมจะได้ประโยชน์อีกมากจากความเข้าใจนี้

อุทาหรณ์เรื่องแรก นั้น ถ้าตัดสินใจผิดพลาด ประชาชนสหรัฐฯ จะต้องก่นว่า วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีเรแกน ดังนั้นประธานาธิบดีเรแกนคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ (Responsible) ต่อผลที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อส่งแม่ทัพลงสู่สนาม ก็ต้องให้อาวุธแก่แม่ทัพเพื่อให้บรรลุภารกิจ อาวุธที่ว่านั้นคือ อำนาจการตัดสินใจ (Decision-Making Authority) ดังนั้นประธานาธิบดีจึงคงไว้ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจ คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีเป็นเพียง “ผู้ให้ข้อมูล” ข้อมูลที่ว่านี้มิใช่ตัวเลขเท่านั้น “ความเห็น” ก็ถือเป็น “ข้อมูล” อย่างหนึ่ง

อุทาหรณ์เรื่องที่สอง ผู้เขียนให้ทัศนะกับเพื่อนบ้านว่า ทุกคนในหมู่บ้าน ล้วนมีสิทธิเท่ากันบ้านละหนึ่งเสียง เสียงนั้นมิได้คำนวณตามพื้นที่บ้าน (บ้านผู้เขียนมีพื้นที่มากกว่าบ้านของประธานหมู่บ้านด้วยซ้ำไป) การมีคณะกรรมการนั้นเพื่อดำเนินกิจการ “ทั่วไป” ของหมู่บ้าน และการที่ต้องมีประธานนั้นก็เพื่อให้การประชุมของคณะกรรมการดำเนินไปได้ด้วยดี ดังนั้น “ผู้รับผิดชอบ” ในกิจการ “ทั่วไป” คือ “คณะกรรมการหมู่บ้าน” มิใช่ “ประธานหมู่บ้าน”

ดังนั้นการตัดสินใจแต่แรกนับแต่การป้องกันน้ำท่วม การซื้อทรายมากองพะเนินหน้าหมู่บ้าน การซื้อเรือเครื่อง การขายเรือเครื่อง ซึ่งเป็นการตัดสินใจของประธานหมู่บ้านตัดสินใจเองทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ต้อง ในเมื่อประธานหมู่บ้านตัดสินใจเอง ประธานหมู่บ้านจึงสมควรที่จะต้องรับผิดชอบเองแต่เพียงผู้เดียว ไม่ควรที่จะต้องมา “บ่น” ว่าไม่มีคนอยู่ช่วย หรือ “บ่น” ว่างานหนัก ถ้าประธานหมู่บ้านต้องการที่จะมีอำนาจตัดสินใจเพิ่มขึ้นจากที่ควรจะเป็นในการที่จะไม่ป้องกันหมู่บ้านจากน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและสง่างาม ประธานต้องประกาศว่า “ผมขอตัดสินใจที่จะไม่ป้องกันหมู่บ้านจากน้ำท่วม ถ้าบ้านไหนเสียหาย ผมจะรับผิดชอบค่าเสียหายเอง” นั่นคือการ “ผูก” ระหว่าง “อำนาจการตัดสินใจ” และ “ความรับผิดชอบ”

ที่จริงแล้ว แม้แต่อำนาจในการตัดสินใจว่าจะป้องกันน้ำท่วมหรือไม่นั้น ก็ยังมิใช่อำนาจของคณะกรรมการหมู่บ้าน เพราะยังไม่มีระบุในธรรมนูญของหมู่บ้าน (Bylaw) เนื่องเพราะธรรมนูญของหมู่บ้านเองก็ยัง “ไม่มี” ดังนั้น คณะกรรมการหมู่บ้านก็คงไม่สามารถที่จะมาชดใช้ความเสียหายได้เมื่อตัดสินใจผิดพลาด นี่คือกรณี “พิเศษ” ที่คณะกรรมการหมู่บ้านควรจะขอประชามติจากสมาชิกของหมู่บ้านทั้งหมดว่า จะป้องกันหมู่บ้านจากน้ำท่วมหรือจะไม่ป้องกัน (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะป้องกันไม่ได้ เพราะไม่คุ้มค่า เพราะสภาพหมู่บ้านเก่า เพราะไม่มีเงินลงขัน ฯลฯ) ซึ่งเมื่อเป็นดังนี้แล้ว ประธานหมู่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านก็จะได้ไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ เพราะอำนาจในการตัดสินใจในกรณีนี้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ “เหล่าสมาชิก” แล้ว

ดังนั้น เมื่อผู้เขียนได้รับการร้องขอให้เข้าร่วมเป็นกรรมการหมู่บ้าน จึงแถลงแต่เบื้องต้นในที่ประชุมกรรมการหมู่บ้านด้วยประโยคที่ว่า “ผู้รับผิดชอบคือผู้ตัดสินใจ และ ผู้ตัดสินใจคือผู้รับผิดชอบ” หมู่บ้านจึงได้มีการสำรวจประชามติเป็นครั้งแรกในหัวข้อที่ว่า “ถ้ามีเหตุการณ์น้ำจะท่วมในปีนี้ ชาวหมู่บ้านเห็นว่าหมู่บ้านควรที่จะป้องกันหรือจะไม่ป้องกัน?” ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ตอบว่า “ไม่ป้องกัน” (มีส่วนหนึ่งที่ไม่ตอบในแบบสำรวจซึ่งในแบบสำรวจก็ได้ระบุในเชิงป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาว่า “ถ้าท่านไม่ตอบแบบสำรวจ ถือว่าท่านเห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่”)

อุทาหรณ์เรื่องที่สาม เมื่อผมทราบเรื่องดังกล่าว ผมได้เชิญลูกทีมคนดังกล่าวมาทำความเข้าใจว่า “ผมอาจจะตัดสินใจผิดหรือไม่เหมาะสมในการคัดเลือก แต่ผมคือคนที่ต้องรับผิดชอบ อำนาจในการตัดสินใจจึงต้องอยู่ที่ผม ดังนั้นถ้าคุณ (ลูกทีมคนดังกล่าว) มีข้อมูลใหม่ก็ควรที่จะแจ้งหรือเสนอให้ผมทราบก่อน มิใช่ไปเปลี่ยนชื่อเองโดยพลการ นี่ไม่ใช่ปัญหาด้าน Content ว่าใครเหมาะสม แต่นี่คือปัญหา Concept การทำงานร่วมกัน เว้นเสียแต่ว่า เจ้านายเหนือผมเขาจะเปลี่ยนเองซึ่งผมก็ยินดีและไม่อิดเอื้อน เพราะในเมื่อเขา (เจ้านายของผู้เขียน) เปลี่ยนกลางคัน เขาก็ต้องยืดอกรับผิดชอบ และความรับผิดชอบของผมก็ถูกยกหายไป” สุดท้ายลูกทีมก็หลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจ และเข้าใจในสิ่งที่ผมแนะนำ

อุทาหรณ์เรื่องที่สี่ กรณีเช่นนี้ขึ้นกับว่า คณะทำงานหรือคณะกรรมการนี้กำเนิดเกิดมาจากใคร ถ้าประธานคณะทำงานหรือประธานคณะกรรมการเป็นผู้เลือกทีมเข้ามา ซึ่งประธานก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย เช่นนี้อำนาจการตัดสินใจก็ควรจะอยู่ที่ตัวประธาน เช่น ประธานกรรมการบริษัทที่ประธานเป็น “เจ้าของ” เป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้กรรมการและเป็นผู้เลือกกรรมการมาร่วมทำงาน อำนาจก็ควรอยู่ที่ประธานบริษัท หรือ คณะกรรมการมอบหมายใครคนใดคนหนึ่งไปตั้งคณะทำงาน โดยให้ผู้นั้นรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว อำนาจการตัดสินใจก็ควรอยู่ที่ประธานคณะทำงานผู้นั้น

ต่างกับกรณีที่คณะกรรมการมาด้วยเหตุจำนวนหุ้นที่มี (เช่นในบริษัททั่วไป) หรือ มาด้วยการเป็นตัวแทนหน่วยต่างๆ (เช่นในงานราชการทั่วไป) ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการคือผู้รับผิดชอบ อำนาจในการตัดสินใจจึงอยู่ที่คณะกรรมการ มิใช่อยู่ที่ประธาน ประธานจึงเป็นเพียงผู้ทำให้การประชุมราบรื่นบรรลุตามกรอบภารกิจเท่านั้น หรือตามกำลังหุ้นที่มีเท่านั้น มิได้ตัดสินได้โดยลำพังผู้เดียว

อุทาหรณ์เรื่องที่ห้า ในประเด็นปัญหาการขอเช่าใช้สนามบินอู่ตะเภานั้น ถ้ารัฐบาลลงนามในสัญญาฉบับดังกล่าวกับสหรัฐฯ (ซึ่งต้องมีข้อพันธะผูกพันให้ปฏิบัติตามหรือยินยอมให้อีกฝ่ายกระทำ และมีบทลงโทษหรือปรับเมื่อไม่ปฏิบัติตามสัญญา มิเช่นนั้นจะลงนามไปทำไม) โดยไม่ผ่านรัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 ตามความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และบังเอิญมีผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่ ถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเข้าข่ายมาตรา 190 แล้ว เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือกรมสนธิสัญญาและกฎหมายจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือถูกลงโทษในผลแห่งการกระทำดังกล่าวหรือไม่ เช่น เลขาธิการคณะกฤษฎีกาถูกถอดถอนโดยคำสั่งศาล หรือปลดอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย หรืออธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายถูกจำคุก ฯลฯ ถ้าคำตอบคือ “ไม่” นั่นคือทั้งสองหน่วยงานไม่ต้องมีความรับผิดชอบ ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ รัฐบาลจะมาอ้าง “ความเห็น” ของทั้งสองหน่วยงานไม่ได้ รัฐบาลยังคงต้องรับผิดชอบอยู่

ตรรกะที่ยืนยันว่าทั้งสองหน่วยงานไม่มี “อำนาจในการตัดสินใจ” พร้อมกันก็เพราะการตัดสินใจในเรื่องหนึ่งๆ จะต้องมีคนมีอำนาจตัดสินใจเพียงแค่บุคคลเดียว กลุ่มเดียว (ในกรณีที่ระบุให้กรรมการตัดสินใจ) หรือองค์กรเดียว จะมีสองคน สองกลุ่มคน หรือสององค์กรที่ได้รับมอบอำนาจในการตัดสินไม่ได้ ผู้เขียนจะสมมติสถานการณ์ว่า ถ้าทั้งสองหน่วยงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันจริงดังที่เป็นข่าว และถ้าบังเอิญสองหน่วยงานมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งรัฐบาล “ต้อง” ทำตามหน่วยงานหนึ่ง ดังนั้นก็ “ต้อง” ไม่ทำตามอีกหน่วยงานหนึ่ง

คำถามที่ตามมาคือ หน่วยงานที่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานนั้น จะยอมหรือไม่ที่จะให้รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินใจของหน่วยงานตนทั้งที่ตนต้อง “รับผิดชอบ” แค่เพียงในทางตรรกะก็จะเห็นแล้วว่า ผู้ตัดสินใจ หรือผู้รับผิดชอบต้องมีคนเดียว หรือกลุ่มคนกลุ่มเดียว หรือหัวหน้าของหน่วยงานเดียว จะมีผู้รับผิดชอบสองคนสองหน่วยงานพร้อมกันเรื่องเดียวกันนั้นไม่ได้

เช่นเดียวกับการที่ฝ่ายค้านแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ควรที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 แต่รัฐบาลมีมติให้นำเรื่องเข้าสู่การอภิปรายของรัฐสภาโดยไม่ลงมตินั้น ก็ต้องพิจารณาว่า ใครเป็นผู้ตัดสินใจให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสภา? คำตอบคือ รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลมีอำนาจที่จะตัดสินใจไม่ส่งเรื่องเข้าสภา ดังนั้นในเมื่ออำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาล รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น ไม่ว่าผลนั้นจะเป็นบวกหรือลบ มิใช่ให้พรรคฝ่ายค้านรับผิดชอบในสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจ ถ้ารัฐบาลต้องการให้พรรคฝ่ายค้านรับผิดชอบ รัฐบาลก็ต้องให้พรรคฝ่ายค้านมาเป็น “รัฐบาล” เพราะนี่คือภารกิจหรือกิจการของฝ่ายบริหาร คือ “รัฐบาล” มิใช่กิจการหรือภารกิจของ “พรรคฝ่ายค้าน”

ดังภาษิตละตินที่ว่า “Extra territorium jus dicentiimpune non paretur” แปลเป็นไทยว่า “การตัดสินใจของบุคคลในสิ่งที่นอกเหนือปริมณฑลอำนาจของตนย่อมไม่ได้รับการเคารพหรือปฏิบัติตาม”
กำลังโหลดความคิดเห็น