xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิด 5 เขื่อน มหาชนแซ่ซ้องในพระมหากรุณาธิคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- นับเป็นความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ของปวงชนชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระมหากรุณาธิคุณถึง 2 วาระด้วยกัน หนึ่งคือ ทรงมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ดูแลเส้นทางในการเสด็จพระราชดำเนิน ลดการปิดถนน และรับสั่งให้จัดระเบียบขบวนเสด็จใหม่ เนื่องด้วยทรงห่วงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือถึงกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือคู่มือการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติในการถวายความสะดวก ด้านการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) แจกจ่ายข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนี้จำนวน 25,000 เล่ม เพื่อให้ตำรวจทั่วประเทศมีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกันตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่ง

ทั้งนี้ หนังสือคู่มือมีใจความว่า "ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราช ปรารภกับราชเลขาธิการตั้งแต่ปี 2544 เรื่องปัญหาจราจรในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่มีขบวนเสด็จฯ หากต้องปิดการจราจรเป็นเวลานานจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ราชเลขาธิการได้พิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำแนวทางและคู่มือปฏิบัติไว้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางภาคสนามเกรงกลัวว่าจะถูกตำหนิและถูกลงโทษนั้น บัดนี้ราชเลขาธิการให้น้อมรับพระราชกระแสรับสั่งมาอีกครั้ง จึงได้จัดให้มีการพิจารณาร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมราชองครักษ์ และได้ลงมติเห็นชอบจัดตั้งคณะกรรม การอำนวยการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมหลายครั้ง และเห็นชอบให้วางนโยบายและแนวทางปฏิบัติ โดยคำนึงถึงการถวายความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ให้มีผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนน้อยที่สุด”

กระแสรับสั่งดังกล่าวถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้

นอกจากพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องการจราจรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นห่วงประชาชนคนไทยที่เดือดร้อนจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว กล่าวคือเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคด้วยเรือพระที่นั่งอังสนา จากท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อทอดพระเนตรริมแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ที่เกาะเกร็ด โดยสองฝั่งเจ้าพระยาต่างคลาคล่ำไปด้วย เหล่าพสกนิกรที่มารอรับเสด็จด้วยความปลื้มปีติ และต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” กึกก้องไปทั่วทั่งสองฝั่งแม่น้ำ พร้อมทั้งยังมีการประดับธงชาติ ธงตราสัญลักษณ์ ตลอดเส้นทางอีกด้วย

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังบริเวณหน้ากรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ เพื่อทรงเปิด 5 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพร้อมกัน 5 จังหวัด ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งทางกรมชลประทานใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ถ่ายทอดสดเชื่อมโยงทั้ง 5 โครงการ 5 จังหวัด ขณะที่ประชาชนทั้ง 5 จังหวัด ต่างเฝ้ารออย่างปลาบปลื้มและได้มีการแปรอักษร "ทรงพระเจริญ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

ทั้งนี้ 5 โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1. โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 2.โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก 3.โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช 4.โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ และ5.โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม

ทั้ง 5 โครงการล้วนเป็นโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ได้ใช้สอยประโยชน์ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค และช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นต้น

สำหรับโครงการแรก คือ โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีความหมายว่า "เขื่อนขุนด่านซึ่งเป็นกำแพงน้ำ" มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมืองนครนายก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน เพื่อช่วยให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำใช้ทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายกเป็นประจำทุกปี เพื่อการอุตสาหกรรม และเพื่อการแก้ไขพื้นที่ดินเปรี้ยวอีกด้วย

ส่วนโครงการที่ 2 โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความหมายว่า "เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญขึ้นในเขตพื้นที่" โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนนเรศวร และทรงเยี่ยมราษฎร ณ บริเวณเขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ ต.พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานว่า ควรพิจารณาวางโครงการบริเวณตอนเหนือของทุ่งสาน เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่บ้านต่างๆ นอกเขตชลประทานทุ่งสาน ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณทุ่งสานตอนบน และตอนกลาง สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน- ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี และยังจะช่วยบรรเทาอุทกภัยสำหรับพื้นที่เพาะปลูกบริเวณทุ่งสานอีกด้วย ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อย ในเขต อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก โดยเร่งด่วน โดยกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างในปี 2546-2554 เป็นระยะเวลา 9 ปี

3.โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช มีความหมายว่า "ประตูระบายน้ำที่ให้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำ" อยู่ที่หมู่ 5 ต.หูล่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

โดยลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ จ.นครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา รวมพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ เป็นแหล่งปลูกข้าวของภาคใต้ เป็นที่รู้จักกันของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในนาม "เมืองแห่งอู่ข้าวอู่น้ำ" แต่เมื่อเวลาผ่านไป "ลุ่มน้ำปากพนัง"กลับมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดลงเหลือปีละ 3 เดือน เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำปากพนังมีระดับท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีความลาดชันน้อย เมื่อน้ำจืดทางด้านต้นน้ำมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขา เป็นปัญหาที่ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญ การทำนาไม่ได้ผล ผลผลิตต่ำ ราษฎรมีฐานะยากจน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จึงมีพระราชดำริให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือราษฎร ด้วยการให้แนวทางกรมชลประทานทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นรูปแบบใหม่ตามแนวพระราชดำริจึงเริ่มขึ้นและต่อเนื่อง ตั้งแต่พฤศจิกายน 2537 กระทั่งแล้วเสร็จ สามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปทำลายพื้นที่การเกษตร เก็บกักน้ำจืดไว้ในลำน้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และระบายน้ำช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน

4.โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ มีความหมายว่า "อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อไว้เช่นกัน

เป็นโครงการพระราชดำริตั้งแต่ปี 2537 ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนและระบบส่งน้ำพร้อมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ที่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เพื่อผันน้ำมาเติมให้กับพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ผ่านอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวมากถึง 710 เมตร สร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการเมื่อปี 2550 สามารถช่วยเหลือราษฎรให้ทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทานได้ถึง 16,600 ไร่

5.โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม อันมีความหมายว่า "ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น" โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าวิถีชีวิตของราษฎรบริเวณนี้ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันเป็นประจำทุกปี ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จึงมีพระราชดำริเมื่อปี 2538 ให้พัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่หนองหาน จ.สกลนคร ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม่น้ำโขงที่ ต.น้ำก่ำ จ.นครพนม

เริ่มจากทรงร่างรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำปรากฏภาพลายพระหัตถ์ที่เรียกว่า ตัวยึกยือ ประกอบด้วย ส่วนหัว อันหมายถึงหนองหาน เปรียบเหมือนต้นกำเนิดลำน้ำก่ำ ส่วนกระดูกสันหลัง หมายถึง ลำน้ำก่ำ ข้อที่เป็นปล้องๆ หมายถึง อาคารบังคับน้ำ ขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำ ที่คู่ขนานไปกับลำน้ำก่ำ และส่วนหางคือแม่น้ำโขง โดยกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2538 กระทั่งแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ นับเป็นบุญของปวงชนชาวไทยที่ได้เกิดอยู่ในใต้ร่มบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงห่วงใยอนาประชาราช และทรงทำทุกอย่างให้พสกนิกรของพระองค์อยู่ดีกินดีและมีชีวิตที่เป็นสุข จึงมิแปลกที่ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด เราก็จะได้ยินเสียง “ทรงพระเจริญ” กึกก้องไปทั่ว และที่สำคัญเสียงนี้นั้นถูกกลั่นออกมาจากหัวใจของคนไทยทุกคน ….
กำลังโหลดความคิดเห็น