โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีใช้การและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นสู่ที่สูงโดยลำดับต่อไป...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
นับเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับพสกนิกรปวงชนชาวไทย โดยหนึ่งในรูปธรรมที่เห็นเด่นชัดก็คือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับเมืองไทย
และในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวันมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการ ณ กรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยจะเสด็จฯทางชลมารคด้วยเรือพระที่นั่งอังสนา จากท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อทอดพระเนตร 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังบริเวณหน้ากรมชลประทาน เพื่อทรงเปิด 5 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 5 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดในครั้งนี้ ไล่จากเหนือลงไปจรดใต้ ได้แก่
“โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนนเรศวร และทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 ที่ จ.พิษณุโลก พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำริว่า ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแควน้อย ที่ อ.วัดโบสถ์ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรโดยเร่งด่วนและให้เก็บน้ำอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีอย่างสมบูรณ์
หลังจากนั้นกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนในปี 2546 และแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งเขื่อนแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และช่วยบรรเทาอุทกภัยของชาวบ้านรอบๆบริเวณในช่วงฤดูฝน โดยชื่อของโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีความหมายว่า “เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญในเขตพื้นที่”
ลงมาที่ภาคกลางกับ “โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งชื่อของโครงการนี้มีความหมายว่า “เขื่อนขุนด่านซึ่งเป็นกำแพงน้ำ”
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายก เพื่อให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาอุทกภัย อีกทั้งยังเพื่อการอุตสาหกรรมและเพื่อการแก้ไขเรื่องดินเปรี้ยวอีกด้วย
เขื่อนขุนด่านชลปราการ ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2540-2552 จุน้ำได้ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 285,000 ไร่
นอกจากนี้เขื่อนขุนด่านชลปราการยังเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีทิวทัศน์อันสวยงาม ทำให้ที่นี่ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อแห่งใหม่ของ จ.นครนายก อีกด้วย
ข้ามไปทางอีสานกับ 2 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการแรกคือ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ “โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์” ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
โครงการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พระองค์ท่านทรงเห็นสภาพความลำบากยาแค้นและการขาดแคลนน้ำของราษฎร จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้สร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนขึ้น
โดยในปี 2537 กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนและระบบส่งน้ำ กับอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ เพื่อผันน้ำผ่านอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวถึง 710 เมตร มายังพื้นที่รับประโยชน์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ชลประทานให้ทำการเกษตรได้ถึง 16,600 ไร่
สำหรับโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ มีความหมายว่า “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง”
อีกหนึ่งโครงการในภาคอีสานคือ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ ”โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต” จ.สกลนครและนครพนม
โครงการนี้เกิดขึ้นหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงความยากลำบากของราษฎรในพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สลับกันเรื่อยไป พระองค์ท่านจึงพระราชทางแนวพระราชดำริ ให้พัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเป็นลุ่มน้ำย่อยของแม่น้ำโขง ซึ่งมีหนองหาน(จ.สกล)และลำน้ำก่ำ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่างภาพร่างพระหัตถ์รูปแบบแนวทางการพัฒนาฝีที่เรียกว่า“ตัวยึกยือ”ขึ้น โดย ส่วนหัว หมายถึงหนองหานต้นกำเนิดลำน้ำก่ำ ส่วนกระดูกสันหลัง คือลำน้ำก่ำ และส่วนข้อที่เป็นปล้องๆ หมายถึงอาคารบังคับน้ำ ขณะที่ส่วนขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำ ที่ไหลคู่ขนานไปกับลำน้ำก่ำ โดยที่ส่วนหางหมายถึง ลำน้ำโขง
สำหรับชื่อของโครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต มีความหมายว่า “ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสร้างขึ้น”
จากอีสานลงใต้ไปกับโครงการอันดับสุดท้าย คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ “โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” ที่มีความหมายว่า “ประตูระบายน้ำที่ให้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำ”
โครงการนี้ ตั้งอยู่ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมลุ่มน้ำปากพนังคือ “อู่ข้าวอู่น้ำ” แหล่งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ลุ่มน้ำปากพนังที่เคยอุดมสมบูรณ์ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศไม่สมดุล น้ำเปรี้ยวจากป่าพรุแพร่กระจาย น้ำเค็มรุกน้ำจืด ทำให้น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดเหลือ 3 เดือน นอกจากนี้ยังปราบปัญหาเรื่องน้ำเสียจากการทำนากุ้งของชาวบ้าน รวมถึงปัญหาแหล่งชุมชนสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้มีช่องทางระบายไม่เพียงพอ
จากปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้หาทางทางพิจารณาแก้ปัญหาทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิขึ้น รวมถึงประตูระบายน้ำอื่นๆ รวมถึงระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำอื่นๆ
หลังโครงการพระราชดำริปากพนังเกิดขึ้น เป็นเหมือนการฟื้นชีวิตใหม่ให้กับชาวบ้านที่นี่ เพราะสามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มไม่ให้เข้าไปทำลายพื้นที่เกษตร อีกทั้งยังมีแหล่งเก็บกักน้ำจืดและลำน้ำสาขาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเพาะปลูก และยังช่วยบรรเทาเรื่องอุทกภัยอีกด้วย
และนั่นก็คือ 5 โครงการอันเนืองมาจากพระราชดำริใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงเมตตาและห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แต่พระองค์ท่านยังทรงงานหนักอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งพระองค์ท่านได้รับการเทิดทูนว่าเป็น “พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก”
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีใช้การและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นสู่ที่สูงโดยลำดับต่อไป...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
นับเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับพสกนิกรปวงชนชาวไทย โดยหนึ่งในรูปธรรมที่เห็นเด่นชัดก็คือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับเมืองไทย
และในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวันมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการ ณ กรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยจะเสด็จฯทางชลมารคด้วยเรือพระที่นั่งอังสนา จากท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อทอดพระเนตร 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังบริเวณหน้ากรมชลประทาน เพื่อทรงเปิด 5 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 5 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดในครั้งนี้ ไล่จากเหนือลงไปจรดใต้ ได้แก่
“โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนนเรศวร และทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 ที่ จ.พิษณุโลก พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำริว่า ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแควน้อย ที่ อ.วัดโบสถ์ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรโดยเร่งด่วนและให้เก็บน้ำอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีอย่างสมบูรณ์
หลังจากนั้นกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนในปี 2546 และแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งเขื่อนแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และช่วยบรรเทาอุทกภัยของชาวบ้านรอบๆบริเวณในช่วงฤดูฝน โดยชื่อของโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีความหมายว่า “เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญในเขตพื้นที่”
ลงมาที่ภาคกลางกับ “โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งชื่อของโครงการนี้มีความหมายว่า “เขื่อนขุนด่านซึ่งเป็นกำแพงน้ำ”
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายก เพื่อให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาอุทกภัย อีกทั้งยังเพื่อการอุตสาหกรรมและเพื่อการแก้ไขเรื่องดินเปรี้ยวอีกด้วย
เขื่อนขุนด่านชลปราการ ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2540-2552 จุน้ำได้ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 285,000 ไร่
นอกจากนี้เขื่อนขุนด่านชลปราการยังเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีทิวทัศน์อันสวยงาม ทำให้ที่นี่ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อแห่งใหม่ของ จ.นครนายก อีกด้วย
ข้ามไปทางอีสานกับ 2 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการแรกคือ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ “โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์” ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
โครงการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พระองค์ท่านทรงเห็นสภาพความลำบากยาแค้นและการขาดแคลนน้ำของราษฎร จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้สร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนขึ้น
โดยในปี 2537 กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนและระบบส่งน้ำ กับอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ เพื่อผันน้ำผ่านอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวถึง 710 เมตร มายังพื้นที่รับประโยชน์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ชลประทานให้ทำการเกษตรได้ถึง 16,600 ไร่
สำหรับโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ มีความหมายว่า “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง”
อีกหนึ่งโครงการในภาคอีสานคือ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ ”โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต” จ.สกลนครและนครพนม
โครงการนี้เกิดขึ้นหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงความยากลำบากของราษฎรในพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สลับกันเรื่อยไป พระองค์ท่านจึงพระราชทางแนวพระราชดำริ ให้พัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเป็นลุ่มน้ำย่อยของแม่น้ำโขง ซึ่งมีหนองหาน(จ.สกล)และลำน้ำก่ำ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่างภาพร่างพระหัตถ์รูปแบบแนวทางการพัฒนาฝีที่เรียกว่า“ตัวยึกยือ”ขึ้น โดย ส่วนหัว หมายถึงหนองหานต้นกำเนิดลำน้ำก่ำ ส่วนกระดูกสันหลัง คือลำน้ำก่ำ และส่วนข้อที่เป็นปล้องๆ หมายถึงอาคารบังคับน้ำ ขณะที่ส่วนขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำ ที่ไหลคู่ขนานไปกับลำน้ำก่ำ โดยที่ส่วนหางหมายถึง ลำน้ำโขง
สำหรับชื่อของโครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต มีความหมายว่า “ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสร้างขึ้น”
จากอีสานลงใต้ไปกับโครงการอันดับสุดท้าย คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ “โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” ที่มีความหมายว่า “ประตูระบายน้ำที่ให้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำ”
โครงการนี้ ตั้งอยู่ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมลุ่มน้ำปากพนังคือ “อู่ข้าวอู่น้ำ” แหล่งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ลุ่มน้ำปากพนังที่เคยอุดมสมบูรณ์ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศไม่สมดุล น้ำเปรี้ยวจากป่าพรุแพร่กระจาย น้ำเค็มรุกน้ำจืด ทำให้น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดเหลือ 3 เดือน นอกจากนี้ยังปราบปัญหาเรื่องน้ำเสียจากการทำนากุ้งของชาวบ้าน รวมถึงปัญหาแหล่งชุมชนสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้มีช่องทางระบายไม่เพียงพอ
จากปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้หาทางทางพิจารณาแก้ปัญหาทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิขึ้น รวมถึงประตูระบายน้ำอื่นๆ รวมถึงระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำอื่นๆ
หลังโครงการพระราชดำริปากพนังเกิดขึ้น เป็นเหมือนการฟื้นชีวิตใหม่ให้กับชาวบ้านที่นี่ เพราะสามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มไม่ให้เข้าไปทำลายพื้นที่เกษตร อีกทั้งยังมีแหล่งเก็บกักน้ำจืดและลำน้ำสาขาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเพาะปลูก และยังช่วยบรรเทาเรื่องอุทกภัยอีกด้วย
และนั่นก็คือ 5 โครงการอันเนืองมาจากพระราชดำริใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงเมตตาและห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แต่พระองค์ท่านยังทรงงานหนักอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งพระองค์ท่านได้รับการเทิดทูนว่าเป็น “พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก”
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน