xs
xsm
sm
md
lg

สยายปีกลูกจ้างชินคอร์ป คุม สื่อ,สัมปทานปิโตรเลียม,ประมูลรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การดำเนินการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาต้องเผชิญหน้ากับศึกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจรอบด้าน

แต่ดูเหมือนความเป็นสัญชาตญาณ “นักธุรกิจ” ของครอบครัวชินวัตร ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ยังต้องจับตาในกรณีที่อดีตลูกจ้างในเครือชินคอร์ป ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้เริ่มต้นด้วยการตั้งอดีตผู้บริหารระดับสูงในเครือชินคอร์ปให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปจนถึงรัฐวิสาหกิจ
เพราะอย่างไรเสียฐานะความเป็นลูกจ้างนั้นน่าจะว่านอนสอนง่ายมากกว่านักการเมืองกลุ่มก๊วนต่างๆ เหตุก็เพราะได้ทดลองฝีมือและการทำงานรับใช้ธุรกิจเครือชินคอร์ปมาเป็นระยะเวลานานหลายปี
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (เดิมชื่อ นิวัฒน์ บุญทรง) อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) รับผิดชอบด้านภาพลักษณ์ และกิจกรรมสัมพันธ์ วันนี้ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

และด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นอดีตกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสื่อในเครือชินคอร์ป จึงทำให้เราเห็นทั้งกรมประชาสัมพันธ์ และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล เต็มตัวไปเรียบร้อยแล้ว จริงหรือไม่?

ไม่ต้องพูดถึงสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 หรือ บางกอก เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ที่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมาก แต่ก็มี “แผล” ในการต่อสัญญาสัมปทานจาก อสมท.ในรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งอย่างไรเสียสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็คงไม่นำเสนอข่าวที่เป็นที่ไม่พอใจต่อรัฐบาลอยู่แล้ว


ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกระทรวงพลังงานที่แม้จะนิ่งเงียบแต่ก็เต็มไปด้วยผลประโยชน์อันมหาศาลทั้งในอดีตและอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น

นั่นก็คือการที่กระทรวงพลังงานเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ที่กำลังจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 มีจำนวน 22 แปลงประกอบไปด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 แปลง ภาคกลาง 6 แปลง และอ่าวไทย 5 แปลง

ทั้งนี้นายทรงภพ พลจันทร์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 ว่า:

“รัฐได้เตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยเน้นที่ภาคอีสาน โดยแย้มว่ามีปริมาณก๊าซสูงถึง 5-10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณในอ่าวไทย ชั้นความหนา 1-2 กิโลเมตร และมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก กินพื้นที่กว่า 1 แสนตารางกิโลเมตร อีกทั้งยังยืนยันศักยภาพว่าสามารถรองรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือผลิตก๊าซเอ็นจีวีป้อนได้ทั้งอีสาน และคาดว่าจะใหญ่กว่าซาอุดีอาระเบีย”

แต่เรื่องที่น่าเคลือบแคลงสงสัยก็คือ พรบ.ปิโตรเลียม นั้นกำหนดอัตราค่าภาคหลวงเอาไว้ที่ 5% - 15% ซึ่งไม่ว่าจะสำรวจพบน้ำมันดิบมากเท่าไรก็ตาม ก็จะจ่ายค่าภาคหลวงซึ่งกำหนดเพดานเอาไว้ว่าไม่เกิน 15% ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 12.5%

ถือเป็นการแข่งขันที่แปลกประหลาดอยู่มากเพราะแทนที่ใครจะให้ผลตอบแทนให้รัฐได้มากที่สุด รัฐกลับกำหนดเพดานค่าภาคหลวงเอาเองว่าให้เอกชนจ่ายให้รัฐได้ไม่เกิน 15% ของปริมาณปิโตรเลียมทุกชนิดที่ขายหรือจำหน่ายได้ !?

ในขณะที่ประเทศโบลิเวียผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้น้อยกว่าไทยนั้นคิดอัตราการจัดเก็บเข้ารัฐ 82% ของรายได้จากก๊าซธรรมชาติ, คาซัคสถานคิดอัตราการจัดเก็บ 80% ของปริมาณน้ำมันที่ขุดเจาะได้, อาบูดาบี แบ่งกำไรให้บริษัทขุดเจาะไม่เกิน 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และรัสเซีย คิดอัตราการจัดเก็บที่ 90% ของรายได้ในส่วนที่ราคาน้ำมันสูงกว่า 25 เหรียญต่อบาร์เรล !?

การเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ยังคงเดินหน้าในการเรียกค่าภาคหลวงต่ำติดดินต่อไปอย่างเงียบๆ ซึ่งบังเอิญว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ก็เป็นอดีตลูกจ้างชินคอร์ปมาอย่างยาวนานเช่นกัน
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันนั้น เริ่มต้นทำงานกับกลุ่มบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมิวนิเคชั่น ตั้งแต่ปี 2533 หรือประมาณ 22 ปีที่แล้ว และเติบโตจนมาทำงานเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS จากนั้นก็ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวชินวัตรเติบโตเรื่อยมาหลายตำแหน่ง เช่น กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, ประธานกรรมการ สายธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจใหม่ของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคปปิตอล โอเค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย แอร์ เอเชีย ฯลฯ

จนเมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ จึงเริ่มต้นให้นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ เข้ามาเป็นกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อปลายปี 2554 ก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ ย่อมแสดงว่าครอบครัวชินวัตรย่อมเห็นความสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. อย่างมากเช่นกัน

และคงคาดเดาได้ว่าการตอบสนองนโยบายรัฐบาลมีมากน้อยเพียงใดไม่ต้องพูดถึง เพราะแม้จะปรากฏคำสัมภาษณ์ของนายอารักษ์อยู่ไม่มาก แต่ก็ปรากฏข้อความที่นายอารักษ์เคยให้สัมภาษณ์กรณีการแปรรูป ปตท.เมื่อเป็นรัฐมนตรีพลังงานว่า:

“ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผม การขายหุ้น ปตท.ในฐานะที่ผมกำกับดูแลกระทรวงพลังงานนั้น ขอย้ำว่านี่เป็นการสมมุติ ถึงจะมีการดำเนินการตามแผนที่วางไว้แล้ว รัฐก็ยังจะถือหุ้นใน ปตท. ถึง 49% อยู่ดี ซึ่งรัฐก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดมีอำนาจในการบริหารอย่างเต็มที่”

และจากการลุกออกจากกรรมการ รฟม. ของนายอารักษ์ เพื่อไปเป็นเจ้ากระทรวงพลังงาน ก็ทำให้ดูเหมือนว่าจะมีลูกจ้างชินคอร์ปกำลังจะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)แทน


การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมดำเนินการประมูลอีกรวมแล้วเป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัย ซึ่งได้อ้างว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งได้ เพราะเคยเป็นอดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานตลาดและขายของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาสมัครเป็นผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ทุกอย่างเป็นไปตามแผนและตามที่คาดการณ์เอาไว้ทุกประการ คณะกรรมการสรรหาฯได้เห็นชอบให้นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัย มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 และคณะกรรมการ รฟม.ได้มีมติเห็นชอบให้นายยงสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการฯตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอ

แต่ดูเหมือนว่ากรณีการเข้ามาของลูกจ้างชินคอร์ปของนายงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัย ไม่ได้ง่ายและไม่สะดวกเหมือนอย่างนิวัฒน์ธำรง และนายอารักษ์ แต่นายยงสิทธิ์กำลังพบอุปสรรคที่จะเข้ามาใน รฟม. และมีความเสี่ยงถึงขั้นอาจทำให้ คณะกรรมการ รฟม.และแม้แต่คณะรัฐมนตรีเสี่ยงคุกตะรางได้เสียด้วยหากคณะรัฐมนตรีความเห็นชอบในวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ รฟม. ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้านั้นได้ระบุคุณสมบัติในข้อ 3.2.1 เอาไว้ว่า:

“3.2.1 ในกรณีที่ผู้สมัครที่เคยเป็นผู้บริหารภาคเอกชน จะต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนั้น และต้องมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารโครงการลงทุนขนาดใหญ่”

ต่อมาปรากฏมีการร้องเรียนว่า ตำแหน่ง “อดีตรองกกรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย” บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่ตำแหน่งรองผู้บริหารสูงสุดของบริษัทดังกล่าว

เหตุเพราะตำแหน่งเหนือจากนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัย อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ใน ชินแซทเทลไทล์ ยังพบคนที่สูงกว่าตำแหน่งดังกล่าวอีกไม่น้อยกว่า 3 ตำแหน่งคือ

1.กรรมการผู้อำนวยการ

เหนือไปกว่ากรรมการผู้อำนวยการคือ 2. “ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร”

และเหนือขึ้นไปกว่าประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารยังมีอีกคือ 3. “ประธานกรรมการบริหาร”

ชินแซทเทลไลท์
ได้แจ้งเคยต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร” คือหัวหน้าและผู้นำคณะผู้บริหารของบริษัทฯ โดยจะต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทในการบริหารจัดการงานของบริษัทฯ

จึงเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัย อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่จะดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดของชินคอร์ปหรือไม่ และจะมีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในข้อ 3.2.1 ได้อย่างไร?

บางที่เรื่องเล็กๆแต่ทำกันมั่วๆใน รฟม. ก็อาจจะกลายเป็นการลากทั้งคณะรัฐมนตรีไปถูกดำเนินคดีอาญาได้ไม่ยาก เพียงเพราะลุแก่อำนาจดันลูกจ้างชินคอร์ป แบบไม่ลืมหูลืมตา!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น