xs
xsm
sm
md
lg

"นพดล"ขู่ศาลรธน.ตัดสินไม่ถูกใจประเทศลุกเป็นไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"มาร์ค" ส่งบันทึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ ยันมีขบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เคลื่อนไหว 3 ประสาน "มวลชน-แม้ว-เพื่อไทย" มุ่งผูกขาดอำนาจ กำจัดระบบตรวจสอบผ่านร่าง รธน.ใหม่ ขณะที่ "นพดล" ลั่น เตรียม 4 ข้อไว้หักล้าง หากผลการตัดสินออกมาไม่ถูกใจ ไฟลุกประเทศแน่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการส่งบันทึกคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการไต่สวนคำร้องว่า การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ ว่า ตนถูกอ้างเป็นพยาน และจะทำบันทึก และไปให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 ก.ค. แต่ยังไม่ทราบว่า เมื่อศาลใช้เวลาไต่สวน 2 วันแล้วจะมีคำวินิจฉัยออกมาเลยหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า มีการเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นพยายานของผู้ยื่นคำร้องด้วยนั้น เท่าที่ทราบ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หนึ่งในผู้ยื่นคำร้อง ได้ออกมาปฏิเสธแล้ว ส่วนตนได้เตรียมประเด็น และทำบันทึกเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (2 ก.ค.) โดยจะชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มีขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นขบวนการใหญ่ โยงถึงการเคลื่อนไหวของมวลชน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และ การนำเสนอเนื้อหาสาระของร่างฉบับนี้ ก็เพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีหลักการหลายอย่าง ที่รัฐบาลปฏิเสธคำแปรญัตติของตน เช่น การคงไว้ ซึ่งความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ อำนาจการตรวจสอบ และจากการตรวจสอบเหตุผลในร่างของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอมา รวมถึงการปราศรัยบนเวทีหลายครั้ง พบว่า มีผลกระทบต่อรูปแบบของการปกครอง เพราะมีขบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และระบบปลายทาง ไม่เหมือนระบบปัจจุบันแน่นอน โดยมีการระบุไว้หลายอย่าง เช่น ความเป็นอิสระของตุลการ จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

" ผมชี้ให้เห็นว่า การออกแบบส.ส.ร.ครั้งนี้ ทำให้คนมีอำนาจสามารถกุมเสียงข้างมากไว้ได้ และร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะอยู่ในมือ หรืออำนาจของรัฐบาลตลอดเวลา เช่น เมื่อร่างเสร็จแล้ว กระทบกระเทือนต่อรูปแบบการปกครองของรัฐหรือไม่ ให้อำนาจประธานสภาเป็นผู้ชี้ขาดเบื้องต้น เมื่อประธานชี้ว่ามีปัญหา ก็ยังให้อำนาจเสียงข้างมากของรัฐสภาชี้ขาดอีก เท่ากับว่า เขาสามารถควบคุมทิศทางการกำหนดรูปแบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับที่จะจัดทำขึ้นใหม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ การผูกขาดอำนาจที่เป็นเป้าหมายชัดเจน แต่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมากน้อยแค่ไหน เท่ากับอยู่ในมือของเสียงข้างมาก ส่วนระหว่างการไต่สวน จะมีการเคลื่อนไหวของของมวลชน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา ผมหวังว่าศาลจะพิจารณาโดยไม่หวั่นไหวต่อการเคลื่อนไหวเหล่านี้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณี ที่คนขับรถของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุว่า ถูกข่มขู่ถึง 2 ครั้งว่า เรื่องเหล่านี้เป็นมาโดยตลอดว่ารัฐบาลปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ปล่อยให้มวลชนของตนเอง ข่มขู่ คุกคาม ก่อกวนบุคคลต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมีจุดยืนแบบนี้ แต่ต้องปรามผู้สนับสนุนตัวเอง หากยังมีการกระทำลักษณะนี้ ก็ต้องเคร่งครัดกับการบังคับใช้กฎหมาย

** หยุดเกมดิสเครดิตศาลฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ โดยมีการเสนอบุคคลเป็นพยานในชั้นการพิจารณาไต่สวน ว่า เป็นเอกสิทธิ์ของคู่กรณี ทั้งสองฝ่าย ที่จะนำเสนอพยานบุคคลขึ้นมาในชั้นนี้ได้ พรรคเพื่อไทย ไม่ควรตั้งข้อรังเกียจ นายอานันท์ ปันยารชุน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม หรือ บุคคลใดก็ตาม ที่ฝ่ายผู้ร้องเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ออกมาโจมตี และพาดพิงศาลรัฐธรรมนูญ ในลักษณะปลุกระดมคน เพราะผู้ถูกร้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ก็สามารถที่จะเสนอตัวบุคคล เพื่อเข้ามาเป็นพยานให้การต่อศาลได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากเห็นว่าบุคคลใดเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีของฝ่ายตัวเอง ก็ควรเสนอชื่อบุคคลนั้นๆ เข้ามา ไม่ใช่มาใช้พฤติกรรมดิสเครดิตฝ่ายตรงกันข้ามเช่นนี้

นายเทพไท กล่าวด้วยว่า อยากให้สังคมไทยจับตาดูขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างเป็นขบวนการ นับตั้งแต่การดิสเครดิสศาล และพยาน หรือการใส่ร้ายโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวในลักษณะตีปลาหน้าไซ ของแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ล้วนแล้วแต่เป็นการปลุกระดมมวลชน และกดดัน ด้วยการชี้นำถึงผลการวินิจฉัยล่วงหน้า โดยกล่าวอ้างว่า เป็นตุลาการภิวัฒน์รอบ 2 บ้าง รวมถึงการยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องในอนาคต ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเคารพการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และ ขอให้ศาลพิจารณาคดีไปตามข้อเท็จจริง และข้อกฏหมาย ไม่ต้องหวั่นเกรงต่อกระแสกดดันใดๆ ทั้งสิ้น

" ผมเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายทำหน้าที่ตามกฏหมาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ก็เชื่อว่าสังคมสามารถที่จะยอมรับได้" นายเทพไท กล่าว

** พท.เตรียม 4 ประเด็นไว้สู้

ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ได้เตรียมแนวทางต่อสู้ไว้ 2 ทางหลัก คือ การให้ข้อมูลกับศาลฯ ไปตามกระบวนการ และ ให้ข้อมูลต่อนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ตีแผ่ให้เห็นว่า สิ่งที่เราทำไปนั้นเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญทุกประการ

สำหรับแนวทางที่จะชี้แจงต่อศาล คือ

1. ชี้ประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องในเรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของอัยการสูงสุด ในอดีต นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ก็เคยยื่นเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ แต่ศาลเป็นผู้บอกเองว่าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน

2. การกระทำของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เขียนระบุไว้ชัดเจน เป็นตัวเซฟตี้คัท อีกทั้งเมื่อร่างเสร็จแล้ว ยังมีกระบวนการส่งมอบให้ประชาชนพิจารณาอีกชั้นหนึ่งด้วย

3. เจตนารมณ์ของ มาตรา 68 ต้องการให้เรื่องผ่านกระบวนการของอัยการสูงสุดก่อน นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ระบุไว้อย่างชัดแจ้ง และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องตีความไปในแนวทางเช่นนั้น

4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของ ส.ส. และส.ว. ในบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นสิทธิที่คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

**ขู่ศาลตัดสินไม่ถูกใจ ไฟลุกแน่

นายนพดล กล่าวว่า ต้องจับตาดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินอย่างไร ซึ่งมันจะมีผลต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน ถ้าตัดสินถูกต้อง บ้านเมืองก็เรียบร้อย แต่ถ้าไม่ยึดตามตัวบทกฎหมาย บ้านเมืองก็จะไม่เรียบร้อย นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม ที่ผ่านมาการตัดสินลงโทษ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ การยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน โดยใช้กฎหมายที่เป็นผลพวงจากรัฐประหาร มีผลย้อนหลัง มันได้สร้างความไม่พอใจ เคลือบแคลงใจให้ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนเสื้อแดง

ฉะนั้น คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรใช้โอกาสนี้ ตัดสินไปตามความถูกต้อง

สำหรับฝ่ายร้องคัดค้าน ที่มีการเปิดตัวพยานออกมานั้น ก็เชื่อว่า พยานทุกคนต้องให้การอย่างตรงไปตรงมา เพราะความผิดฐานให้การเท็จ มันก็มีอยู่ ถ้าเล่นกันตามกติกา ไม่แหกกฎ ก็เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ก็อยากให้พยานทุกท่านลองชั่งใจด้วยว่า อยากให้บ้านเมืองเป็นแบบไหน

" เราได้ทำการประเมินเหตุการณ์ทุกทาง ตั้งแต่แง่ดีที่สุด ถึงร้ายที่สุด แต่ด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง ก็คิดว่าศาลก็คงเป็นห่วงบ้านเมืองเหมือนเรา ประเทศเราบอบช้ำมาเยอะ ประชาชนถูกกระบวนการยุติธรรมย่ำยีมาก็มาก ความอดทนก็คงจะมีขีดจำกัดเหมือนกัน" นายนพดล กล่าว

** พท.ส่ง"ยงยุทธ" แจง ศาลรธน.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมตัวชี้แจงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ ว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นไปตามเจตนารมย์ที่ได้จดแจ้งทะเบียนพรรค ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเชื่อว่าพรรคสามารถชี้แจงได้ และการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นตามปกติของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามเอกสิทธิ์ ซึ่งไม่สามารถก้าวล่วงกันได้

ส่วนกรณีที่จะให้นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นพยาน ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของฝ่ายผู้ร้อง แต่ตนรู้สึกแปลกใจที่ นายอานันท์ ลงมาเป็นนพยานในภาวะที่ยังมีความขัดแย้ง ซึ่งเรื่องนี้มองว่า มีความผิดปกติ จึงอยากให้ นายอานันท์ พิจารณาให้รอบคอบ และอย่าทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขา โดยส่วนตัวอยากให้นายอานันท์ ถอนตัวจากการเป็นพยาน เพราะวันนี้อาจจะถูกเชื่อมโยงได้ว่า มีนัยยะอะไรแอบแฝงหรือเปล่า เนื่องจากถูกเสนอชื่อโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา อดีตสภานิติบัญญัติ ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 สาย คมช.

** ปชป.ยันไม่ฟอกผิดให้คนโกง

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากวาระการประชุมสภาไปก่อน ว่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้การสนับสนุน และทำเรื่องนี้ให้มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกความขัดแย้งในสังคมไทยได้ดีกว่าข้อเสนอของ นายสามารถ แก้วมีชัย กมธ.ปรองดอง ที่เสนอให้ฝ่ายค้าน เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาประกบ เพื่อใช้ในการพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ได้เสนอไปแล้ว 4 ฉบับนั้น

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า เป็นการเปล่าประโยชน์ ที่จะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกบ เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจ ให้ความสำคัญกับ ร่างของพรรคฝ่ายค้าน เพียงแต่ต้องการสร้างภาพ ให้เกิดความชอบธรรมในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของรัฐบาลเท่านั้น

" เรารู้เท่าทันกลเกมทางการเมืองหมากนี้ของรัฐบาลดี และจะไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความชอบธรรมในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แน่นอน เพราะรัฐบาลนี้มีธงตั้งแต่ต้นที่จะเอา พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน มาเป็นร่างหลักอยู่แล้ว เหมือนกับกรณีการเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลแพ้ มติพรรคฝ่ายค้าน ในชั้นกรรมาธิการ แต่กลับใช้เสียงข้างมาก พลิกมติใหม่ โดยการเสนอโหวตลงมติใหม่อีกอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ถ้าพรรคฝ่ายค้านได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาประกบแล้ว จะได้รับการพิจารณา และให้ความสำคัญ เพราะพฤติกรรมในอดีตของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เสียงมากลากไป สามารถให้คำตอบกับพฤติกรรมในปัจจุบัน และอนาคตได้ จึงยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นเครื่องมือฟอกผิด ให้ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้แน่นอน" นายเทพไท กล่าว

** อ้างเป็นเรื่องสภา รบ.ไม่มีสิทธิถอน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้รัฐบาลถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ว่า เป็นเกมการเมืองของประชาธิปัตย์ หลังหมดเรื่องนาซา ซึ่งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี จะไปบังคับสมาชิกรัฐสภาไม่ได้ การจะถอน หรือไม่ ต้องขอให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบ

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สไกป์มาตำหนิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ออกจากการพิจารณาของสภานั้น ไม่เป็นความจริง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่เคยเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด คาดว่าเป็นการปล่อยข่าวจากฝ่ายค้าน เพื่อโยนบาปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า โดยนำเอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มารวมกัน เพื่อสร้างชนวนให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่

ส่วนผลสำรวจความเห็นประชาชน ของสวนดุสิตโพล ที่ต้องการให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นความเห็นของประชาชน ที่อยากให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งเรื่องนี้เป็นตัวส่งสัญญาณให้ฝ่ายตรงข้าม ให้เลิกค้านรัฐบาล ทั้งใต้ดิน และบนดิน เพราะประชาชนอยากให้รัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ควรรับฟัง และเคารพกติกาด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น