xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองแบบการเคลื่อนไหว

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

Jame Madison รัฐบุรุษอเมริกันเขียนไว้ใน Federalist Paper No. 10 ว่า ธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น มักชอบแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย คือ มีการตั้งกลุ่ม มีความคิดเห็น มีผลประโยชน์ต่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ควรขจัดกลุ่มหรือฝักฝ่ายให้หมดไป วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ พยายามควบคุม และที่ดีที่สุดก็คือให้กลุ่มควบคุมตรวจสอบกันเอง

นี่เป็นที่มาของแนวคิด “พหุนิยม” ที่เห็นว่าการมีกลุ่มหลายกลุ่มโดยที่มีการถ่วงดุลกันเองนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย รัฐและรัฐบาลมีหน้าที่ในการออกกติกา และดูแลให้กลุ่มเหล่านี้ทำการแข่งขันกันได้ โดยเปิดช่องทางให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้

สมมติฐานสำคัญก็คือ รัฐจะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่แทรกแซงปิดกั้นโอกาสของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย จึงเป็นระบบการเมืองที่มีกลุ่มเป็นพื้นฐานสำคัญ พรรคการเมืองทำหน้าที่รวบรวมผลประโยชน์เหล่านี้ในรูปของนโยบาย

กลุ่มผลประโยชน์ผลักดันนโยบายด้วยวิธีการต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มผลประโยชน์ใช้วิธีการ Lobby คือเข้าหา ส.ส.และเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้นก็ให้สมาชิกของกลุ่มติดต่อ ส.ส.ประจำเขตเลือกตั้งของตนโดยตรง หรือไม่ก็เขียนจดหมาย โทรศัพท์ และส่ง E-mail ในปีหนึ่งๆ สมาชิกสภาคองเกรสได้รับ E-mail ประมาณ 100 ล้านฉบับ

การที่คนชอบรวมกลุ่ม และทำการเรียกร้องผลประโยชน์ผ่านกลุ่มนั้น ทำให้การเมืองเป็นระบบ และมีระเบียบ เพราะกลุ่มต่างทำการเรียกร้องผลประโยชน์ภายใต้กติกา นอกจากกลุ่มผลประโยชน์ เช่น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มธุรกิจต่างๆ แล้ว ก็ยังมีกลุ่มอิทธิพลที่ไม่ได้ทำการเรียกร้องผลประโยชน์โดยตรง แต่ก็กดดันให้รัฐบาลและพรรคการเมืองดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นการเรียกร้องประโยชน์ของสาธารณะ กลุ่มอิทธิพลเหล่านี้มักจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนผิวดำเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ต่อมามีกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี กลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภค และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมเกษตร ชาวนาส่วนใหญ่ในสมัยก่อนปลูกข้าวเพื่อยังชีพ และอยู่กระจัดกระจายกัน การรวมกลุ่มจึงไม่เกิดขึ้นเพราะชาวนาประกอบอาชีพเพื่อครอบครัว คนในสังคมไทยจึงมีความสัมพันธ์ต่อบุคคลมากกว่าต่อกลุ่ม การมีระบบไพร่ มีมูลนาย ทำให้การสังกัดมูลนายเป็นการพึ่งพากันแบบตัวต่อตัวมากกว่า และเมื่อเกิดพาณิชยกรรมขึ้น พ่อค้าส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่ต้องอาศัยการพึ่งพาเจ้านาย และข้าราชการ จึงอาจกล่าวได้ว่า พื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่สิ่งที่เอื้ออำนวยต่อระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นพรรคที่มีเจ้าของ และเป็นพรรคเพื่อการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ใช่พรรคที่มีสมาชิก

ส่วนผู้มีผลประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่ม เพราะสามารถเข้าหาผู้มีอำนาจโดยตรงได้ นอกจากนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องกดดันในขั้นตอนของการออกนโยบายหรือกฎหมาย เพราะสามารถ “ซื้อ” นโยบาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ นอกจากนั้นวิธีการที่รัฐจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นหลังการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือ การยอมรับว่ามีกลุ่มที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ และให้ตัวแทนเหล่านั้นเข้ามาเป็นกรรมการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น สมาคมอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และสภาหอการค้า เป็นต้น กลุ่มผลประโยชน์หลักๆ จึงทำงานร่วมกับรัฐบาลภายใต้กรอบกติกาของการประชุมปรึกษาหารือ

กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ทั้งภายในและภายนอกสภาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่มเหล่านี้หลายส่วนเป็นองค์กรอาสาสมัครของเอกชนที่เป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน บางกลุ่มก็เป็นองค์กรชุมชน และองค์กรประชาชนซึ่งต้องการการรับรองสถานภาพทางกฎหมายเพื่อแสวงหาการสนับสนุนทางงบประมาณจากภาครัฐ องค์กรที่เข้มแข็งมักมีการจัดตั้งเป็นเครือข่าย บางกลุ่มก็เป็นพันธมิตรระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เช่น แพทย์ชนบท) นักวิชาการ และองค์กรประชาชน

กลุ่มผลประโยชน์นอกเหนือไปจากสภาหอการค้าที่มีบทบาทในการ Lobby มักจะเป็นกลุ่มที่รับสัมปทานหรือรับจ้างทำโครงการขนาดใหญ่ กลุ่มเหล่านี้มักให้สินบนแก่นักการเมืองและข้าราชการ

ประชาชนคนไทยไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์หรือผลักดันนโยบาย เพราะพรรคการเมืองเป็นผู้หยิบยื่นประโยชน์ และนโยบายให้แก่ประชาชนเสียเอง ในรูปของนโยบายประชานิยม ประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนผู้นำทางการเมืองที่ให้ผลประโยชน์แก่พวกเขา และเคลื่อนไหวกดดันเพื่อผลประโยชน์ของผู้นำเอง แทนที่จะเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่กลุ่ม ดังเช่น กรณีของการรวมกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น

การเมืองไทย จึงเป็นการเมืองของการเคลื่อนไหวภายนอกกระบวนการทางประชาธิปไตย และนำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งไม่ใช่ระหว่างผลประโยชน์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันช่วงชิงอำนาจมากกว่าอย่างอื่น การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ก็เป็นวิธีการต่อสู้อย่างหนึ่งระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่เราเลียนแบบมาจากระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยพหุนิยม จึงขัดแย้งกับเนื้อแท้ของการเมืองไทย ที่กลุ่มผลประโยชน์สำคัญๆ กับรัฐทำงานร่วมกัน ส่วนการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเป็นการเมืองแบบการเคลื่อนไหว (Movement Politics) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง และไร้เสถียรภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น