ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- กำลังไปได้สวย...สำหรับการดำเนินการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อนักเรียน (One Tablet PC Per Child) เพื่อแจกให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะขณะนี้เครื่องแท็บเล็ตล็อตใหญ่ล็อตแรก 10,000 เครื่อง บรรจุใน 625 กล่อง ๆ ละ 16 เครื่อง ในวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา และล็อตที่ 2 และ 3 ที่จัดส่งมาครั้งละ 12,288 เครื่อง ใน 768 กล่องจากบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ได้ทยอยจัดส่งมาในวันที่ 26 มิถุนายน และ 29 มิถุนายนตามลำดับ โดยทั้งหมดก็ถูกนำมาเก็บรวบรวมไว้ในโกดังเก็บสินค้าของบริษัทพัสดุภัณฑ์ไทย จำกัด ย่านเขตคลองเตย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จ่ายเงินถึง 2-3 แสนบาทเช่าไว้ 3 เดือน แถมด้วยติดกล้องวงจรปิดถึง 16 ตัวและจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสูญหาย
แต่หลังจัดส่งล็อตใหญ่ล็อตแรก 10,000 เครื่องเพียงไม่กี่วัน ก็ปรากฏภาพคำเตือนบนตัวชาร์ตแบตเตอร์รี่ ซึ่งเป็นคำเตือนภาษาไทยแบบผิด ๆ ซึ่งมีผู้นำมาโพสในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก จนเกิดคำถามขึ้นว่าจะปล่อยแท็บเล็ตที่ไม่ได้มาตรฐานไปถึงมือเด็กใช้กันจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งคำเตือนระบุ ระบุว่า "เตือน 1.มือไม่สามารถเข้ามาติดต่อกับสองขาโลหะเมื่อเสียบที่ชาร์จ 2.ที่ดีที่สุดภายใต้การดูแลผู้ใหญ่ของการดำเนินการเมื่อเด็กเสียบที่ชาร์จ" (ที่มา : www.manager.co.th /24 มิ.ย.2555)
ทั้งยังส่อเค้าว่า...ปัญหาจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เหตุเพราะ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อขอหนังสือเกี่ยวกับคำสั่งที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการทุกชุดที่เกี่ยวข้องกับโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) หรือแท็บเล็ต ป.1 เนื่องจากมีรายชื่อของ คณะอนุกรรมการจัดซื้อแท็บเล็ตจำนวน 3 รายชื่อซ้ำอยู่ในคณะกรรมการตรวจ รับแท็บเล็ต งานนี้พูดกันถึงขั้นอาจจะส่งผลให้การจัดส่งแท็บเล็ตต้องชะงัก! ยังไม่รวมถึงกรณีที่เคยมีสมาชิกวุฒิสภา ออกโรงท้วงติงกรณีที่โครงการผิดสเปกถึง 2 ประการ คือ 1.ขาปลั๊กสายไฟ 3 ขา เป็น 2 ขา และ 2.แท็บเล็ตไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์เรื่องการแพร่รังสี
งานนี้...นโยบายแจกแท็บเล็ต คงทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องประสบกับ นโยบาย (น้ำตา) แทบเล็ด ?!?
อย่างไรก็ตาม ภาระหนักของเรื่องนี้คงตกไปอยู่ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องไอที ที่รับภาระมาตั้งแต่ขั้นตอนกำหนดสเปก การลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคปฯ และอีกหลากหลาย ฯลฯ ซึ่งแม้จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาทำงาน มีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สพฐ. สำนักงานปลัด ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เข้ามาเอี่ยวด้วย แต่บอกตรง ๆ ว่างานนี้ ศธ.ค่อนข้างลอยอยู่เหนือปัญหาที่สุด!
ทั้งนี้ แม้จะต้องแบกภาระเรื่องแท็บเล็ตจนต้องออกโรงแจงอยู่บ่อย ๆ แต่ไอซีที ก็สามารถออกมาแก้ไขสถานการณ์ได้ อาทิ กรณีของ สตง. ก็ได้รับการชี้แจงว่าเป็นไปตามหน้าที่ของ สตง.ที่จะต้องตรวจสอบการใช้งานของแผ่นดิน ขณะเดียวกันทางไอซีทีก็ได้จัดส่งเอกสารส่งกลับไปยัง สตง.ตามที่ได้รับการร้องขอด้วย
นอกจากนั้นก็มีการยืนยันจาก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีทีว่า “วันนี้เรื่องของแท็บเล็ต ป.1 ถือว่าจบแล้วทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่ส โคปจัดส่งแท็บเล็ตมาให้ไทย กระทรวงศึกษาธิการ ไปรับ จากนั้นก็เป็นคณะกรรมการตรวจรับและคณะกรรมการตรวจสเปกทำหน้าที่ จากนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ก็จะนำไปแจกจ่าย”(ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 27 มิถุนายน 2555)
ในส่วนของ กระทรวงศึกษาฯ แม้จะค่อนข้างลอยอยู่เหนือปัญหา กรณีที่ สตง.มาตรวจสอบเพราะเป็นเรื่องที่ไอซีที ต้องแจงรายละเอียดไป แถมผู้บริหารหลายคนยังแอบดีใจที่ไม่ได้ต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่าง ๆ เหล่านั้น พอใจกับหน้าที่ควักเงินก้อนโตในกระเป๋า ส่งให้ไอซีทีไปดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อตกลง ที่ผ่านมาก็เพียงรับผิดชอบเรื่องของคอนเทนต์ หรือ สาระการเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ที่บรรจุลงแท็บเล็ต หรือการจัดเตรียมอบรมครู ที่มีทั้งการอบรมแกนนำขั้นเทพกว่า 500 คนเพื่อเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกระจายตัวไปอบรมครูผู้สอนในพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่วางแผนไว้โดย สพฐ.ทุ่มเงินถึง 170 ล้านบาทเพื่อการณ์นี้เลยทีเดียว
มาว่าถึง งานสำคัญจากนี้ที่ ศธ.ต้องทำต่อเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบสเปก ทำการตรวจสอบสเปกแท็บเล็ต เรียบร้อยแล้ว คือ การทยอยจัดส่งเครื่องแท็บเล็ต คาดว่าจะเริ่มที่ล็อต 10,000 เครื่อง ซึ่งสพฐ.มีแผนจ้าง บ.พัสดุภัณฑ์ไทย ทำหน้าที่จัดส่งคิดราคาเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 6 บาท และแต่เดิมนั้นมีแผนว่าจะจัดส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ของทุกจังหวัดโดยไล่เรียงตามตัวอักษร เริ่มจากตัวอักษร กอ.ไก่ คือ กระบี่, กรุงเทพฯ, กาฬสินธุ์, กาญจนบุรี ฯลฯ แต่ขณะนี้มีการท้วงถึงเรื่องความคุ้มค่าส่งผลให้ สพฐ.อาจจะทบทวนเรื่องของการจัดส่งว่าระหว่างแผนเดิมที่วางไว้ จัดส่งให้ทั้งจังหวัดก่อน แต่ยังคงเรียงตามลำดับตัวอักษรเหมือนเดิม แผนไหนจะคุ้มค่ายิ่งกว่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สพฐ.ก็จะรอผลสรุปยอดจำนวนแท็บเล็ตและผลการสุ่มตรวจสอบเครื่องก่อนจะตัดสินใจ
สำหรับแผนการจัดส่งเครื่องแท็บเล็ต นั้นเมื่อเข้าเดือนกรกฎาคม บ.เสิ่นเจิ้น สโคปฯ วางแผนการจัดส่งแท็บเล็ตมาในจำนวนเท่าเดิม คือ 12,288 เครื่อง ติดต่อกัน 4 วัน คือ วันอังคารถึงวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3-6 ก.ค.,วันที่ 10-13 ก.ค. ,วันที่ 17-20 ก.ค. ,วันที่ 24-27 ก.ค.,วันที่ 31 ก.ค.-วันที่ 1- 3 ส.ค.,วันที่ 7-10 ส.ค.,วันที่ 14-17 ส.ค. และล็อตสุดท้ายจำนวน 19,360 เครื่องหรือ 1,210 กล่อง จะจัดส่งเสร็จสิ้นในวันที่ 18 ส.ค. ซึ่งเท่ากับว่าการจัดส่งแท็บเล็ตได้ครบ 400,000 เครื่อง
ไม่รู้ว่ากว่าจะครบกำหนดจัดส่งครบ 4 แสนเครื่อง จะเจอปัญหาใดมารุมเร้าอีกหรือไม่ อีกทั้ง ไม่แน่ใจด้วยว่าพ้นจากเวลานี้ที่ ศธ.บอกว่าหายใจโล่งเพราะไม่เกี่ยวกับตัวแล้ว เมื่อถึงคราวที่ตัวเองในเรื่องการจัดส่งและการใช้งานในการเรียนของนักเรียนและครูแล้ว จะต้องประสบปัญหาแทบเล็ด ของเครื่องแท็บเล็ต ตามกระแสแบบไอซีทีรึเปล่า??