“หมอหทัย” ห่วงจำนวนสิงห์อมควันเพิ่มขึ้นในรอบ 2 ปี โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่อายุเฉลี่ยลดลงเหลือ 14.4 ปี จวกหน่วยงานรัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้มีการขายบุหรี่เกลื่อนเน็ต พบมากกว่า 600 เว็บ แข่งขันขายโปรโมชันล่อใจวัยรุ่น ชี้ ทำลายสุขภาพและเสียรายได้เข้ารัฐ จี้ออกกฎหมายควบคุมเพิ่มเติม
วันนี้ (25 มิ.ย.) นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบโลกขององค์การอนามัยโลก 2550-2551 กล่าวในงานแถลงข่าวการโฆษณาและและการจำหน่ายบุหรี่ทางอินเทอร์เน็ต ว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งที่ในอดีตสามารถลดจำนวนนักสูบลงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2552-2554 พบว่า คนไทยสูบบุหรี่เพิ่มจาก 14.3 ล้านคน เป็น 14.6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้คนที่มีช่วงอายุ 14-24 ปี มีอัตราการสูบเพิ่มจากร้อยละ 14.6 เป็นร้อยละ 14.8 และมีช่วงอายุเริ่มต้นการสูบบุหรี่ลดลงจาก 18.5 ปี เหลือ 14.4 ปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเกิดจากความล้มเหลวในการดำเนินมาตรการควบคุมยาสูบของไทย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย และส่วนหนึ่งคือ การขายบุหรี่ทางอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้กลุ่มเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
นพ.หทัย กล่าวอีกว่า การขายบุหรี่ผ่านทางเว็บไซต์ ถือเป็นการทำงานผิดกฎหมาย เพราะบุหรี่ดังกล่าวไม่มีภาพคำเตือนบนซอง มีราคาต่ำ และไม่เสียภาษี ส่งผลเสียต่อไทยทั้งด้านสาธารณสุขและการคลังของประเทศ ตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา พบว่า การซื้อขายบุหรี่ผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้สหรัฐฯต้องเสียภาษีที่พึงได้ ประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี ดังนั้นการเพิ่มมาตรการป้องกันในการขายบุหรี่ทางอินเทอร์เน็ต จึงถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อปกป้องสุขภาพของเยาวชน
“มาตรการควบคุมที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้ แต่ยังไม่ได้ทำ คือ การมีระบบตรวจสอบเพื่อริบและทำลายบุหรี่ที่ซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต การทำข้อตกลงกับบริษัทบัตรเครดิต ไม่รับการจ่ายเงินทางบัตรเครดิตเพื่อซื้อขายบุหรี่ สั่งไปรษณีย์ไม่รับส่งบุหรี่ และออกกฎหมายควบคุมการขายบุหรี่ผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีองค์กรรัฐออกมาดำเนินการแก้ไข ทั้งที่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากทั้งต่อการควบคุมยาสูบและต่อการเงินการคลังของประเทศ” นพ.หทัย กล่าว
ด้าน ดร.พิจิตรพงศ์ สุนทรพิพิธ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยธุรกิจการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบทางอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า จากผลวิจัยพบว่า เริ่มมีการขายบุหรี่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2555 พบเว็บไซต์ขายบุหรี่จำนวน 630 เว็บไซต์ ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่อยู่ในประเทศไทย โดยสินค้าจะเป็นบุหรี่จากต่างประเทศ แต่งรส แต่งกลิ่น และอุปกรณ์ในการสูบบารากุ โดยแบ่งเว็บไซต์เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์ เว็บไซต์ขายตรง และเว็บไซต์ประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยการขายจะมีการทำโปรโมชันลดราคา แถมสินค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ขายบางคนอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนำสินค้าเข้ามาได้ในราคาถูก
“หลังจากที่ส่งข้อมูลให้แก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พบว่า ปัจจุบันสามารถปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 200 เว็บไซต์ คิดเป็นร้อยละ 27 จากจำนวนเว็บไซต์ที่มีอยู่กว่า 600 เว็บไซต์ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์และเตือนประชาชนให้ทราบว่า การขายบุหรี่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” ดร.พิจิตรพงศ์ กล่าว
ดร.พิจิตรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบเว็บไซต์ขายบุหรี่ สามารถทำได้โดยการสร้างโปรแกรมตรวจสอบเว็บไซต์ขึ้น และประสานให้ไอซีที สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของไอซีที เพื่อนำไปใช้ในการตรวจจับบล็อกไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์นั้นๆ หรือนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายต่อไป