xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ช่อง 3+แกรมมี่+เวิร์คพอยท์ อันธพาล(บันเทิง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ยิ่งนานวันไป “สมการทางธุรกิจ” ของเครือข่ายผู้ประกอบการโทรทัศน์เมืองไทยก็ยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้นมากทุกขณะว่า ใครเป็นพวกใคร และกลุ่มก๊วนไหนกำลังทรงอิทธิพลคับประเทศจนกลายเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่ใครๆ ก็ต้องไปซูฮก

แน่นอน กลุ่มก๊วนที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้เห็นจะหนีไม่พ้นการผนึกกำลงร่วมกันระหว่าง บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งมีนายประวิทย์ มาลีนนท์เป็นโต้โผใหญ่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของนายปัญญา นิรันดร์กุล

กระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการรวมตัวกันของ 3 มหาอำนาจแห่งวงการโทรทัศน์ไทยเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบันเทิงที่ต้องยอมรับว่า ช่อง 3 นั้นมีเรตติ้งเหนือกว่าคู่แข่งหลายเท่าตัว

ยิ่งล่าสุดเมื่อมี “คุณนายแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ที่ถูกปลดพ้นจากช่อง 7 ได้ตั้งบริษัท จันทร์ 25 จำกัด ผลิตละคร ''ลับ ลวง หลอน'' เพื่อป้อนให้กับช่อง 3 ประเดิมเป็นเรื่องแรกด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้กลุ่มอำนาจใหม่กลุ่มนี้เพิ่มความน่าเกรงขามขึ้นอีกหลายเท่า

ทั้งนี้ สมการธุรกิจดังกล่าวมีช่อง 3 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ หรือฟรีทีวีเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน เพราะต้องยอมรับว่า ช่อง 3 มีอิทธิพลต่อสาธารณชนค่อนข้างสูง ทั้งจากภาคข่าวที่โดดเด่นและผู้ดำเนินรายการตัวชูโรงอย่าง “นายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา” ทั้งจากภาคบันเทิงที่ละครและรายการวาไรตี้ต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมจนมีเรตติ้งเหนือสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ หลายรายการ

โดยเฉพาะรายการเรื่องเล่าเช้านี้และเรื่องเด่นเย็นนี้ที่นายสรยุทธ์เป็นตัวจักรสำคัญในการเคลียร์ทุกข่าว ทุกปัญหาให้โดยที่ไม่มีอิดออด ดังจะเห็นได้จากการที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์สามารถมาออกรายการของนายสรยุทธ์บ่อยครั้งประหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัทเลยทีเดียว เป็นต้น

ขณะที่ทางฟากของอากู๋ แม้ที่ผ่านมาจะมีความสัมพันธ์และการทำธุรกิจร่วมกันอยู่บ้าง แต่การขยับเข้ามาทำธุรกิจร่วมกันที่เห็นเด่นชัดและเป็นรูปธรรมที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นกรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูโร 2012 ที่ช่อง 3 เป็นสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ถ่ายทอดการแข่งขันครั้งนี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่อง 5 และช่อง 9

ที่สำคัญคือเมื่อเกิดปัญหา ช่อง 3 ก็เปิดพื้นที่ให้อากู๋มาเคลียร์ปัญหาอย่างสบายใจเฉิบ โดยที่มิเคยเสนอข้อเท็จจริงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับชมฟรีทีวีอันเป็นทีวีสาธารณะ ไม่ว่าจะรับชมผ่านเสาหนวดกุ้ง เสาก้างปลาหรือจานรับสัญญาณดาวเทียมก็ตาม

เฉกเช่นเดียวกับบริษัท เวิร์คพอยท์ฯ ของนายปัญญาที่หลังจากมีปัญหากับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เสี่ยตาก็หอบหิ้วรายการระดับ 5 ดาวมาซบนายประวิทย์ และนายประวิทย์ก็อ้าแขนรับด้วยความเต็มใจ เช่น รายการชิงร้อยชิงล้าน เป็นต้น

และแน่นอน เมื่อเกิดกรณีลวงโลกในรายการไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ ที่เอเย่นต์ของทางรายการไปว่าจ้าง “น้องปอนด์-ดวงใจ จันทร์เสือน้อย” เปลือยอกกลางรายการแล้วเอาสองเต้าตูมคู่นั้นถูไถไปบนเฟรมผ้าใบโดยอ้างว่าเพื่อสร้างผลงานศิลปะ ช่อง 3 ของเสี่ยประวิทย์ก็เชิญนายปัญญามาฟอกความผิดผ่านรายการของนายสรยุทธ์ให้ ราวกับว่า ความอัปยศและการต้มตุ๋นคนดูที่รายการไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ สามารถจบสิ้นไปได้ง่ายๆ เสียอย่างนั้น

กรณีของช่อง 3 กับแกรมมี่ ทำให้เห็นว่า นี่คือการร่วมมือกันทำธุรกิจและแสวงหาผลประโยชน์โดยที่ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดจัดการได้

นายประวิทย์กล้าออกมาเปิดเผยเงื่อนไขในข้อสัญญาที่ทำกับแกรมมี่หรือไม่ว่า การร่วมกันบล็อกสัญญาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูโร 2012 ไม่ให้รับชมผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมทั้ง 27 นัดนั้น ช่อง 3 ได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทน

ส่วนทางแกรมมี่เองก็ต้องบอกว่าทรงอิทธิพลต่อหน่วยงานของรัฐได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว คงไม่สามารถออกหนังสือไปสั่งการให้องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อสมท.) ตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางแกรมมี่ได้

และถ้าหากยังจำกันได้ สังคมไทยคงไม่ลืมเพลงชาติไทยที่แกรมมี่เป็นผู้ดำเนินการจัดทำถึง 6 เวอร์ชันให้กับกระทรวงกลาโหมในยุครัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตรได้ เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ของแกรมมี่ฯ กับระบอบทักษิณได้เป็นอย่างดี

กรณีของช่อง 3 กับเวิร์คพอยท์ มิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า ช่อง 3 ยินยอมพร้อมใจให้รายการไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชนได้โดยปราศจากความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งค่าปรับอันน้อยนิดจำนวน 500,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ปี 2551 ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีคำสั่งนั้น ถือเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผลตอบรับทางการตลาดที่ช่อง 3 และเวิร์คพอยท์ฯ ได้รับจากเหตุการณ์ฉาวโฉ่ครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของทั้ง 3 บริษัท พบว่า เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ที่แผ่อาณาจักรไปอย่างกว้างขวาง

กล่าวสำหรับ บริษัท เวิร์คพอยท์ฯ นั้น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2532 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 2 ล้านบาท โดยมี ปัญญา นิรันดร์กุล เป็นประธานกรรมการ/กรรมการผู้จัดการ และ ประภาส ชลศรานนท์ เป็นรองประธานกรรมการ/กรรมการรองผู้จัดการ ซึ่งบริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท (ชำระเต็มมูลค่า) มีบริษัทลูกดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ และแอนิเมชัน อาทิ บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด บริษัท บั้งไฟ สตูดิโอ จำกัด บริษัท กำกับการดี จำกัด บริษัท โต๊ะกลมการละคร จำกัด บริษัท เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด บริษัท หัวฟิล์ม ท้ายฟิล์ม จำกัด

แต่จุดที่น่าจับตามองก็คือ การเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเป็นช่องของบริษัทเองในนามว่า "workpointTV" โดยลงทุนในการเปิดสถานีโทรทัศน์กว่า 100 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ของอากู๋นั้น คือ บริษัทแม่ของกิจการบันเทิง ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจดนตรี, สื่อ, ภาพยนตร์, ดิจิตอล, สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม, สถานีวิทยุ, สื่อสิ่งพิมพ์, และ อีเวนต์เมเนจเม้นท์ แบบครบวงจร ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งโดย ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และเรวัต พุทธินันทน์ เมื่อวันที่ 11พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

ทั้งนี้ กิจการในเครือของแกรมมี่นั้นถือว่า มีจำนวนมากจนแทบนับกันไม่หวาดไม่ไหวทีเดียว อาทิ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โกลบอล มิวสิค แอนด์ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท คลีน คาราโอเกะ จำกัด (แกรมมี่คาราโอเกะ) บริษัท เอไทม์ โชว์บิซ จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด (GTH) บริษัท หับ โห หิ้น ฟิล์ม จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอไทม์ มีเดีย จำกัด บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด บริษัท ซีเนริโอ จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม พับบลิชชิ่ง เฮ้าส์ จำกัด บริษัท อิมเมจ พับบลิชชิ่ง จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์ พับบลิชชิ่ง จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไทมส์ จำกัด
สำนักพิมพ์ บลิส พับบลิชชิ่งบริษัท อิน พับบลิชชิ่ง จำกัด ฯลฯ

เฉกเช่นเดียวกับ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นซึ่ง บริษัทแม่ ของ กลุ่มบริษัทในเครือ บีอีซี เวิลด์ โดยได้รวบรวม บริษัทในกลุ่ม "มาลีนนท์" ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับ การออกอากาศสื่อการผลิตสื่อโฆษณา การผลิตรายการโทรทัศน์ และ การจัดหารายการโทรทัศน์ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ โดยมีบริษัทที่อยู่ในเครือของกลุ่ม บีอีซี เวิลด์ มากมาย ได้แก่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด บริษัท ยูแอนด์ไอ คอร์โปเรชั่น จำกัด -บริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รังสิโรตม์วนิช จำกัด บริษัท บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น จำกัดบริษัท ทีวีบี ทรี เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท บางกอก เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท บีอีซี - เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ จำกัด - บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลที่ทั้ง 3 บริษัทรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ผลประกอบการของทั้ง 3 บริษัทจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ทำกำไรอู้ฟู่กันอยู่ไม่น้อย

กล่าวสำหรับ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) นั้น ตัวเลขกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 บีอีซีฯ มีกำไรทั้งสิ้น 2,634.67 ล้านบาท ถัดมาในปี 2553 มีกำไรสุทธิ 3,302.29 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมาคือปี 2554 มีรายได้รวมทั้งหมด 12,970.34 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,530.35 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2555 บีอีซีมีมีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,432.92 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิไปแล้ว 1,104.02 ล้านบาท

ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ของอากู๋ ในปี 2552 มีกำไรสุทธิ 510.79 ล้านบาท ถัดมาในปี 2553 มีกำไรสุทธิ 523.31 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมาคือปี 2554 จีเอ็มเอ็มฯ มีรายได้รวม 9,445.17 โดยมีกำไรสุทธิ 625.54 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2555 มีรายได้เข้ามาแล้ว 2,864.06 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 145.79 ล้านบาท

ด้านบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) ของเสี่ยตา ปี 252 มีกำไรสุทธิ 73.13 ล้านบาท ถัดมาในปี 2553 มีกำไรสุทธิ 186.87 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมาคือปี 2554 เวิร์คพอยท์มีรายได้ทั้งสิ้น 1865.36 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 327.35 บ้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2555 มีรายได้รวม 429.26 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 76.97 ล้านบาท

เห็นตัวเลขผลประกอบการของ 3 บิ๊กทรีแห่งวงการโทรทัศน์ไทยแล้วต้องบอกว่า อู้ฟู่กันไม่น้อยทีเดียว ยิ่งเมื่อทั้ง 3 บริษัทผนึกกำลังทำธุรกิจร่วมกันด้วยแล้ว เชื่อขนมกินได้ว่า ลีลาการตลาดที่พลิ้วไหวของผู้บริหารสูงสุดของทั้ง 3 ค่ายจะช่วยทำให้เม็ดเงินในบัญชีของพวกเขาเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าทีเดียว
สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา
ประวิทย์ มาลีนนท์
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ปัญญา นิรันดร์กุล
กำลังโหลดความคิดเห็น