เปิดความมั่งคั่งธุรกิจ 2 ค่ายยักษ์ “ทรู วิชั่นส์ VS แกรมมี่” บนสงครามลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเกมฟุตบอล EURO 2012 พบรวยด้วยกันทั้งคู่ 5 ปีย้อนหลัง ทรูวิชั่นส์ฟันทำกำไรสุทธิกว่า 6,600 พันกว่าล้าน ขณะที่ บมจ.แกรมมี่ ทำกำไร 2.6 พันล้าน พร้อมผุดบริษัทใหม่ 7 แห่งรวดช่วงต้นปี 55
สำนักข่าวอิศรา สำรวจความมั่งคั่ง 2 ค่ายยักษ์ ระหว่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ในเครือ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผู้ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2012 (ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม) ทำการล็อกสัญญาณถ่ายทอดสดยูโร 2012 ที่ออกอากาศผ่านทางฟรีทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 โดยไม่ให้ผู้ชมที่ติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียม และสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่เสียค่าบริการรายเดือนรับชม บังคับให้ซื้อเสาอากาศแบบก้างปลาหรือต้องซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมจีเอ็มเอ็มแซทเพื่อรับชมการถ่ายทอดสด กับ บมจ.ทรูวิชั่นส์ และผู้ผลิตจานดำ PSI ในช่วงที่ผ่านมาจะพบข้อมูล ดังนี้
บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 ทุน ปัจจุบัน 2,911,213,539 บาท ที่ตั้งเลขที่ 118/1 อาคารทิปโก้ ถนนพระรามหก แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ กลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ ในนามบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 561,392,238 หุ้น หรือ 74.30%
ผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลัง (2549-2553) รายได้รวม 36,337 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 6,673.3 ล้านบาท เฉพาะ ปี 2553 รายได้ 5,874,868,496 บาท กำไรสุทธิ 1,041,239,585 บาท สินทรัพย์ 13,641,834,057 บาท
ขณะที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ในเครือแกรมมี่ จดทะเบียนวันที่ 2 มีนาคม 2555 ทุน 100 ล้านบาท ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นายบุญคลี ปลั่งศิริ นายธนา เธียรอัจฉริยะ นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา นายปรีย์มน ปิ่นสกุล นายถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นกรรมการ
บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จดทะเบียนวันที่ 25 มีนาคม 2537 ทุนปัจจุบัน 530,556,100 บาท ที่ตั้ง อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส, 50 ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม. นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ถือหุ้นใหญ่ 289,061,630 หุ้น หรือ 54.51% นายทวีฉัตร จุฬางกูร 27,754,800 หุ้น หรือ 5.23% นายณัฐพล จุฬางกูร 9,500,000 หุ้น หรือ 1.79% นายถกลเกียรติ วีรวรรณ 5,775,700 หุ้น หรือ 1.09%
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2550-2554) บมจ.แกรมมี่ มีรายได้รวม 19,058 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 2,659.6 ล้านบาท เฉพาะสินทรัพย์ ปี 2554 จำนวน 4,411,109,289 บาท รายได้ 4,082,040,211 บาท กำไรสุทธิ 532,282,323 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงต้นปี 2555 บมจ.แกรมมี่จัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อผลิตและออกอากาศรายการผ่านระบบเคเบิล 7 แห่งรวด ได้แก่
1. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด จดทะเบียนวันที่ 2 มีนาคม 2555 ทุน 100 ล้านบาท
2. บริษัท จีเอ็มเอ็ม บรอดแคสติ้ง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ทุน 1 ล้านบาท
3. บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 5 มีนาคม 2555 ทุน 1 ล้านบาท
4. บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด จดทะเบียนวันที่ 6 มีนาคม 2555 ทุน 1 ล้านบาท
5. บริษัท แบง แชนแนล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 6 มีนาคม 2555 ทุน 1 ล้านบาท
6. บริษัท แม็กซี่ ทีวี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 6 มีนาคม 2555 ทุน 1 ล้านบาท
7. บริษัท กรีน แชนแนล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 6 มีนาคม 2555 ทุน 1 ล้านบาท
สำหรับ บริษัท โพลี แซทคอม จำกัด ผู้ผลิตจานดำ (PSI) นางบุญฑิกา ธีระโรจนพงษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ในรอบ 5 ปี (2549-2553) มีรายได้รวม 753,960,307 บาท ปี 2549 กับ ปี 2553 มีกำไรสุทธิ 563,326 บาท และ 913,251 บาท ปี 2550-2552 ขาดทุนสุทธิ 6,477,110 บาท 5,868,851 บาท และ 1,265,088 บาท ตามลำดับ ส่วนบริษัท โพลี เทเลคอม จำกัด บริษัทในเครือ ปี 2552 มีรายได้ 914,515,548 บาท ขาดทุนสุทธิ 914,515,548 บาท ปี 2551 รายได้ 677,671,452 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,797,623
สรุปได้ว่า ทรู และ แกรมมี่ มั่งคั่งด้วยกันทั้ง 2 ค่าย รวมทั้งผู้ผลิตจานดำ PSI
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองคอนเนกชันทางการเมือง นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรส น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับนายสุชาติ พุ่งกุมาร นายสุภกิต เจียรวนนท์ นายณรงค์ เจียรวนนท์ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ มาตั้งแต่ปี 2534 ขณะเดียวกัน กลุ่มเจียรวนนท์ก็เป็นผู้บริจาคเงินสิบล้านบาทให้พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้ (โครงการโทรศัพท์ของกลุ่มทรูได้รับอานิสงส์จากกระทรวงไอซีที)
ส่วนฝั่งแกรมมี่เพียงแค่นายบุญคลี ปลั่งศิริ นั่งเป็นกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ไม่ต้องถามว่านายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ใกล้ชิดประชาธิปัตย์ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากกว่ากัน
ถึงกระนั้นไม่ว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติอย่างไร ในทางธุรกิจก็รวยเละด้วยกันทั้งคู่