ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- หลายวันก่อน มีข่าว กระทรวงมหาดไทย เตรียมดันร่างกฎหมาย ยกฐานะอบต. ตั้งเทศบาลตำบลพร้อมกันทั่วประเทศ และสั่งให้สรุปการประชาพิจารณ์ ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้
ร่างดังกล่าวชื่อ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล พ.ศ... มีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
เป็นต้นเรื่อง เป็นคำสั่งจากออกจาก กระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าจะยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลทั้งหมด ว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่
เขียนไว้ว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือที่มท 08090.2/ว.2532 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2555
ลงนามโดย นายวัลลภ พริ้งพงษ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด สำรวจความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนว่า จะยกฐานะอบต.เป็นเทศบาลทั้งหมด ท่านเห็นด้วยหรือไม่ และให้รายงานภายในวันดังกล่าว
ตอนนี้ มี อบต.ทั่วประเทศ 4,000 กว่าแห่ง รวมถึงภาคประชาชนในอบต. โดยให้ทำเป็นเวทีเปิดทั่วไป!
เรื่องนี้ นายพนมไพร ปารมี อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จัดรับฟังความคิดเห็นการยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ เป็นเทศบาลตำบล (ทต.) ตามร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล พ.ศ..
อ้างว่า เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวยิ่งขึ้น ที่สำคัญลดจำนวนสมาชิก อบต.ลงจากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือสมาชิกสภาเทศบาลตำบล (ส.ท.) ทุกเขตรวม 6 คน เพื่อประหยัดงบประมาณ จะทำให้การทำงานของท้องถิ่นคล่องตัวในการบริหารงานบุคคลและก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ต้องรอเสนอเรื่องเพื่อยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาล เนื่องจากนายกหรือ ส.อบต.บางพื้นที่ไม่เห็นด้วย
ขณะที่สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย จะนำเรื่องนี้เป็นหัวข้อเสวนาในการประชุมสัมมนาทางวิชาการและการประชุมใหญ่ประจำปี 2555
ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างนายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย ระบุว่า หนังสือของ สถ.ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สั่งการให้ อบต.สำรวจความเห็นตามร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งฯ ซึ่งมี 11 มาตรา และให้ส่งรายงานกลับ สถ.ภายในวันที่ 25 มิถุนายนนี้
แต่ที่สำคัญ อบต.บางแห่งยังไม่ทราบเรื่องและยังไม่เริ่มต้นรับฟังความเห็น เพราะยังไม่ทราบว่าผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงมีขอบข่ายครอบคลุมกลุ่มใด
ประกอบกับ พนักงาน อบต.ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ รวมทั้งหลักการและเหตุผลที่แท้จริงในการยกฐานะ ทั้งที่ภารกิจของเทศบาลตำบลกับ อบต.ไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญหากมีการยกฐานะ รัฐบาลก็ไม่ยืนยันว่าจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้อีกหรือไม่ ซึ่งหากได้รับงบในสัดส่วนเดิมก็ไม่มีประโยชน์
ผมก็ไม่ทราบว่าการเสนอ พ.ร.บ.ยกฐานะครั้งนี้ มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะ สถ.ไม่ได้แจ้งว่าหากยกฐานะแล้วประชาชนจะได้รับโอกาสในการพัฒนาดีขึ้นหรือไม่ และความหมายของผู้เกี่ยวข้องในการทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นก็ไม่ชัดเจนประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต
นอกจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็ยังมีผู้เห็นด้วยกับการยกฐานะ อบต.พร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีเหตุผลว่า เพื่อให้โครงสร้างการบริหารงบประมาณอุดหนุนรายหัว และด้านบุคลากรเท่าเทียมกัน ขณะที่ก่อนหน้านี้มี อบต.จำนวนมากต้องการยกฐานะ แต่การดำเนินการล่าช้า เนื่องจากติดขัดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบางประการ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ทำกันเร็วกว่าปกติ!! เมื่อ 29 ตุลาคม 2552 นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย สมัยนั้น เคยเชิญองคืการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งมาถก ยกฐานะ อบต. เป็น เทศบาลชนบท ไม่ใช้คำว่า เทศาบลตำบล
ครั้งนั้น นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือกับนายบุญจง ระบุว่า เป็นข้อเรียกร้องของสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)แห่งประเทศไทย
ในการประชุมระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับนายก อบต. ทั่วประเทศ กรณีการยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบใหม่
เขาระบุว่า เห็นว่าควรยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล แต่จะเป็นรูปแบบตามที่สมาคม อบต.ฯ เสนอคือเป็นเทศบาลชนบท หรือเป็นแบบที่นายบุญจง เคยเห็นด้วยให้ยึดระเบียบเก่า คือยกเป็นเทศบาลตำบลนั้น
เชื่อว่าประเด็นนี้ ท้ายที่สุดต้องหาข้อยุติได้แน่นอน เบื้องต้นอยากให้เห็นทุกฝ่ายมีความเห็นชอบตรงกันเสียก่อนว่า ในหลักการต้องมีการยกฐานะ อบต.แน่นอน เพื่อพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นระดับตำบล แต่จะเป็นรูปแบบใดต้องจำแนกรายละเอียดและเหตุผลต่างๆ เพื่อหาจุดที่ประชาชนได้ผลประโยชน์มากที่สุด
หากระเบียบระเบียบเก่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดหรือจำใจเพื่อปฏิบัติ โดยระเบียบนั้นแก้ไขได้เพื่อความเหมาะสม หากยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลตำบลแล้วเกิดปัญหาตามมา และความเป็นชนบทจะขาดหายไป
โดยคนในชุมชนยังต้องการรักษาความเป็นชนบทอยู่ ดังนั้นการยกฐานะจาก อบต.เป็นเทศบาลชนบท อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม กับสภาวการณ์ของชุมชนในปัจจุบันได้เช่นกัน นายชาตรีกล่าว
ขณะที่ นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เห็นว่า ผุ้บริหาร อบต.ทั่วประเทศให้ความสนใจและสนับสนุนแนวคิดการยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลชนบท
โดยมีโครงสร้างของสมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 2 คน เหมือนเดิม แต่รัฐบาลต้องเพิ่มงบฯ อุดหนุนทั่วไปให้เทศบาลชนบทเท่ากับเทศบาลตำบล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ อบต. ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเท่าชาวบ้านในเขตเทศบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริการสาธารณะที่เท่าเทียมกัน
ด้าน นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกุล ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากปรับค่าตอบแทนรายหัวในเขตเทศบาลและ อบต.ให้เท่ากัน และกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบค่าตอบแทนใหม่ให้นายก อบต.เท่าเทศบาลตำบล ก็คงไม่มีปัญหา
การยกฐานะก็ไม่ใช่สาระสำคัญยกเว้นบางพื้นที่สมาชิกสภา อบต.ไม่ต้องการเพราะเกรงว่ายกฐานะแล้วจำนวนสมาชิกจะลดลง ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมือง
เรื่องนี้เคยมีคนถามถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในเวปบอร์ด คุยกับอภิสิทธิ์ Abhisit Vejjajiva (Abhisit.Org) ในช่วงยังเป็นนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ ยุบอบต คืนอำนาจให้อบจ. พัฒนาเทศบาล
ผู้ถาม- หากเป็นไปได้ น่าจะมีการวิจัยเรื่องอบต และพัฒนาเขตการปกครองให้เป็นเทศบาล โดยให้อำนาจอบจ ดูแลเขตที่อยู่นอกเขตเทศบาล โดยเทศบาลต้องมีความพร้อม เทศบาลใดไม่มีความพร้อม ควรถูกรวมกับอบจ เพื่อพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น และพัฒนาเมืองให้มีความเจริญ สำหรับข้าราชการ เมื่อมีการรวมอำนาจให้ท้องถิ่นหมดแล้ว ควรยุบสำนักงานกพ. เพราะนักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นจะได้ทำงานได้สะดวก และเป็นอิสระ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน อนามัย ที่ดิน ตำรวจ ฯลฯ ที่เคยเป็นของกพ. ก็ควรโอนภารกิจให้อยู่ในอำนาจของนักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นทั้งหมดภายใน 1-2 ปี
เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำหน้าที่พัฒนาชาติบ้านเมืองเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในการกระจายอำนาจ ส่วนกระทรวง ทบวง กรม ก็ควรทำหน้าที่แค่ การให้ข้อมูล การติดตาม ประเมินผลการทำงาน ของท้องถิ่น ในด้านต่างๆ ต่อสาธารณชนเท่านั้น
อันนี้เป็นมุมมองหนึ่ง หากเป็นจริงได้ ไม่ทราบว่าจะมีผลดีหรือไม่ดีอย่างไรต่อชาติบ้านเมืองบ้างครับ
นายอภิสิทธิ์ - ผมเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจเพิ่มเติมและสนับสนุนให้มีแต่ท้องถิ่นที่เข้มแข็งครับ แต่การยุบอบต.และตัดขาดจากส่วนกลางเลยไม่น่าจะเหมาะสมครับ
กลับมาปัจจุบัน วันนี้อดีตปลัดเทศบาล อย่างนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ มีนโยบายจะยกฐานะ อบต. ขึ้นเป็นเทศบาลทั่วประเทศ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
คิดผิด หรือ คิดถูก กันแน่ หากต่อไปนี้ "นายกเทศมนตรี" จะมากกว่า "นายก อบต."
แค่ความรู้สึกของคนทั่วไปมองว่า "เทศบาล" จะต้องเป็นพื้นที่เจริญแล้ว
แต่ตัวเลขของกระทรวงมหาดไทย ล่าสุดจะพบว่า อบต.หลายแห่ง ที่พบจากการเก็บภาษีรายได้ท้องถิ่น บางแห่งมีรายได้แห่ง 50-200 ล้านบาทต่อปี แต่ เทศบาลบางแห่งกับก็บภาษีตนเองได้ปีละ 30,000-40,000 บาท ที่เหลือรอเงินจากรัฐจัดเก็บให้ หรือเงินอุดหนุนทั่วไป
ประเด็นดังกล่าวเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการหรือการดำเนินการของท้องถิ่นได้เอง
ด้านกฎหมายทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีสภาพอันสมควรยกฐานะ เป็นเทศบาลให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลได้โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย ทำให้คำว่า ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องเปลี่ยนเป็น ปลัดเทศบาล
ในมุมมองของบุคคลทั่วไปคิดว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นการเจริญในหน้าที่การงาน โดยตำแหน่งสูงขึ้นและอยู่ในองค์กรที่สูงขึ้น แต่ในมุมกลับกันในมุมของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล อาจไม่มองเช่นนั้น
การบริหารงานบุคคล อย่างกรณี ที่อบต.ขนาดเล็ก รายได้ 6 ล้านบาท ขึ้นไป สามารถประเมินปลัด อบต.ขึ้นในระดับ 8 ได้ แต่ขณะเดียวกันในกฎเกณฑ์ของเทศบาลนั้น จะต้องให้เทศบาลมีรายได้ถึง 20 ล้านก่อนจึงจะสามารถ ประเมินเป็นระดับ 8 ได้
หากปลัด อบต. จะเป็นเลขานุการสภาฯอบต. ก็ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 5-6 พันบาทต่อเดือน แต่พอปลัดเทศบาล เป็นเลขานุการสภาฯ ทำงานฟรี แถมคำด่าทอจากสภาฯ
ขณะที่ เทศบาลที่ยกฐานะใหม่ ในปี 2552 เป็นต้นมา ก็ถูกลดเงินอุดหนุนทั่วไป ลงมาอีก 10 เปอร์เซนต์
ถามว่า ในอนาคต ไม่เกิน 5 ปี ปลัดอบต.เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงหรือยัง กับบทบาท ปลัด อบต. สู่ ปลัดเทศบาล"
หลายคนทั้งหนุนทั้งค้าน ก็ต้องถามใจ ท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ว่าหากได้ผลสรุปในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ว่าคนต่างจังหวัดเขาคิดอย่างไรแล้ว จะยังเดินหน้านโยบายนี้ต่อหรือไม่
ดูแล้ว อบต.หลายแห่งก็น่ายกฐานะไปเป็นเทศบาล แต่เทศบาลบางแห่งก็น่าจะเป็นกลายเป็นแค่ อบต.ก็พอ แต่ที่แน่ๆ เชื่อว่าวาระซ้อนเร้นแน่นอน
ทำให้คิดถึงข้อเสนอของ นต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อคราวปาฐกถา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2552
ให้มีการยุบทิ้ง อบต. ทั้งหมดเพื่อทำให้เกิดการเมืองใหม่
เห็นควรยุบ อบต. แล้วรวมเป็นท้องถิ่นให้ใหญ่เป็นท้องถิ่นระดับอำเภอ ยกเลิก อบจ. เนื่องจากจะทำให้การบริหารงานซ้ำซ้อน ส่วนเทศบาลควรให้รับผิดชอบในเขตเมือง โดยนอกเมืองให้ท้องถิ่นระดับอำเภอดรับผิดชอบ