xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็นวิทยาลัยชุมชน (วชช.)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศไทยได้มีความพยายามจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในรูปแบบต่างๆ มานานหลายปี โดยแรกเริ่มมีการจัดตั้งขึ้นในวิทยาลัยครู เมื่อปี พ.ศ.2520 เพื่อเน้นจัดการศึกษาตามความต้องการของท้องถิ่น และสนองความต้องการกำลังคนในระดับกลางในแขนงที่ประเทศมีความต้องการมาก และแก้ปัญหาระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อคนส่วนน้อย และได้หายไปเมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู

กระทั่งเมื่อช่วงปี พ.ศ.2537 วิทยาลัยชุมชนได้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งขึ้นในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาเฉพาะทางทั่วประเทศ โดยให้มีบทบาทในการจัดการศึกษาและบริการชุมชน จนถึงปี พ.ศ.2539 วิทยาลัยชุมชนจึงได้ปิดตัวลงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น

วิทยาลัยชุมชนได้จัดตั้งขึ้นอีกครั้ง ในรูปแบบที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา และได้รับการตอบรับด้วยดีจากภาคประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ด้านการศึกษา ข้อ 4 “จัดให้มีวิทยาลัยชุมชนขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่ขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา” ด้วยเหตุผลเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ที่ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ด้วยสาเหตุต่างๆ และเพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น พัฒนาด้านทักษะอาชีพของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดถึงการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาลงสู่ท้องถิ่น ในอันที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

ดูเหมือนจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่กำลังจะเติบโตแบบมั่นคงและถาวร ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 กฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ.2546 โดยได้เริ่มจัดตั้งนำร่องมาตั้งแต่ปี 2545 จนปัจจุบัน มีวิทยาลัยชุมชน รวม 19 แห่ง

การก่อตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาต่ำกว่าปริญญาในรูปแบบของวิทยาลัยชุมชน โดยมีเงื่อนไขไม่ใช้งบประมาณเพื่อการก่อสร้างอาคาร แต่ให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผู้เรียนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และคุณภาพของวิทยาลัยชุมชน นับเป็นโจทย์ปัญหาข้อใหญ่และเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับวิทยาลัยชุมชนทุกแห่ง

แต่เพราะวิทยาลัยชุมชนเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์คณะบุคคลที่มาจากภาคส่วนต่างๆ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลต่อการศึกษาในท้องถิ่น มีความเสียสละเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้บริหารจัดการ เพราะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชุมชนเป็นเจ้าของ เข้าถึงชุมชน และผู้เรียนเข้าถึงง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำ มีผู้สอนที่ได้รับการคัดสรรมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสถาบันการศึกษาที่รองรับการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้ขาดโอกาส และเป็นสถาบันการศึกษามุ่งแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นตามบริบทของตนเองเป็นสำคัญ จึงทำให้วิทยาลัยชุมชนได้รับการตอบรับด้วยดี ก้าวย่างด้วยความมั่นคงและเติบโตมาอย่างเป็นลำดับ ท่ามกลางหยาดเหงื่อและความมุ่งมั่นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละแห่ง โดยมีชุมชนเป็นรากฐานค้ำจุนที่เข้มแข็ง บทบาทของวิทยาลัยชุมชนตามมิติใหม่ที่ผ่านมา จึงเป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม (Education for Life and Society) อย่างแท้จริง

การจัดการศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยชุมชนกำลังจะก้าวเดินไปด้วยดี ตามปรัชญาและอุดมการณ์ของวิทยาลัยชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นการจัดตั้งเป็นกรณีพิเศษ ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาในเขตพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสเรียนต่อในระดับอนุปริญญาด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และเอกชน ตลอดถึงผู้ว่างงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐต้องเฝ้าระวังแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือเติมเต็มการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอีกด้วย และสิ่งที่เป็นจุดเน้นที่จะกลายเป็นอัตลักษณ์ของวิทยาลัยชุมชน คือการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม การปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การสร้างความตระหนักความรักท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคมสู่สันติสุข จะเป็นเกราะป้องกันภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งวิทยาลัยชุมชนกำลังจะถูกผลกระทบจากการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่ควรจะยกฐานะวิทยาลัยชุมชนให้มีความมั่นคง มีความคล่องตัวและควรขยายการจัดการศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยชุมชนไปทั่วประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการวิจัยการจัดการศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยชุมชน เพื่อหาคำตอบจากผลของการดำเนินการ และทิศทางการพัฒนาที่ควรจะเป็น และมุ่งการกระจายอำนาจไปสู่การบริหารโดยชุมชน เพื่อชุมชนตามปรัชญาวิทยาลัยชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นคำตอบและสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ข้อ 2 ที่ระบุว่า

“สร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย โดยคำนึงถึงการสร้างความเสมอภาค และความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชากรทุกกลุ่ม ลดปัญหาคนออกจากระบบการศึกษา ตลอดถึงการลดข้อจำกัดของการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาชั้นสูง จัดการศึกษาชุมชนเพื่อมุ่งให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ และการศึกษาตลอดชีวิต”

ในขณะที่คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน และสมาคมวิทยาลัยชุมชนอยู่ในระหว่างการร่วมผลักดันเพื่อนำเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอสภาออกเป็นกฎหมายรองรับ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่วิทยาลัยชุมชน กลับมีกระแสข่าวที่จะปรับโครงสร้างให้วิทยาลัยชุมชนไปอยู่ในสังกัดหน่วยงานอื่น
 
ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาในประเทศไทยได้รับความบอบช้ำจากการปรับโครงสร้างมามากแล้ว มีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาเมื่อใด ก็มักจะใช้การปรับโครงสร้างเป็นการแก้ปัญหาทุกครั้ง ในที่สุด สิ่งที่ได้ก็เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบุคลากรเพียงเท่านั้น ปัญหาคุณภาพการศึกษาก็คงยังไม่ได้รับการแก้ไขเช่นเดิม

“กว่าจะมาเป็น วชช.” ที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้ฝ่าฟันอุปสรรคมานานัปการ และได้จัดการศึกษาสนองตอบต่อความต้องการและการยอมรับจากภาคประชาชนและชุมชนเป็นอย่างดี กล่าวได้ว่า วิทยาลัยชุมชนเป็นการจัดการศึกษาที่เดินมาถูกทาง หากภาครัฐคิดจะทำเพื่อประชาชนจริง ขอวิงวอนให้ช่วยกันประคับประคอง สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาลัยชุมชนให้เป็นสถาบันการศึกษาของชุมชนอย่างแท้จริงจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น