ยะลา- คณบดีคณะครุศาตร์ ม.ราชภัฏยะลา เผย ไฟใต้ทำการศึกษาด้อยคุณภาพ เป็นห่วงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบถึงเยาวชนในพื้นที่ ชี้ ปัญหา “แปะเจี๊ยะ” สะท้อนปัญหาคุณภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกศรี ลัดเลีย คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มองถึงสถานการณ์ด้านระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ เนื่องจากปัญหาผลกระทบจากการเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ระบบจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีด้วยกัน 4 หน่วยงานหลักที่เข้ามามีส่วนร่วมกันในการจัดระบบการศึกษา ก็คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนท้องถิ่น และสุดท้าย ภาคประชาสังคม หากจะเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ จะมีภาครัฐเข้าไปมีบทบาทดำเนินการเป็นหลัก แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะมีเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการในการจัดระบบการศึกษามากขึ้น
“แต่ขณะเดียวกัน มีการสะท้อนภาพของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเอกชนเป็นผู้จัดระบบการเรียนการสอนเสียเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นภาพที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าสามารถจัดการจัดคุณภาพทางด้านการศึกษาได้ ก็จะเป็นตัวบอกถึงคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็จะต้องมีการจัดระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อคนในพื้นที่ได้อย่างจริงจัง” คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกศรี ลัดเลีย คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนเข้ามาจัดระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องการเรียนรู้ หรือประสานงานกันเป็นระบบเครือข่าย ซึ่งทั้งภาครัฐ และเอกชนก็จำเป็นจะต้องตอบคำถามของสังคมได้ ทั้งคุณภาพ และการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้ดีเพียงใด
นอกจากนี้ คุณภาพของผู้ได้รับการศึกษาทั้งจากสถานศึกษาของภาครัฐ และเอกชน ก็ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยที่ผ่านมา ผู้จบการศึกษาจากสถานบันการศึกษาเอกชน ก็มีความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองไปจนถึงสามารถจะสอบเรียนในต่างประเทศได้ แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยจำนวนของผู้เรียนที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเอกชนที่มีจำนวนมากซึ่งมีจำนวนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีคุณภาพที่ดี แต่อีกส่วนหนึ่งยังรอการพัฒนา จึงทำให้เราจำเป็นต้องมองว่า การจัดระบบการศึกษาของเอกชนมีการจัดระบบได้ดีกว่า
“ที่ผ่านมา ภาครัฐมีประสบการณ์มากในด้านของการจัดระบบ การจัดการหลักสูตรต่างๆ แต่บางหลักสูตรก็ยังต้องพึ่งพิงหลักสูตรแกนกลางอยู่มาก จุดอ่อนของระบบการศึกษาภาครัฐที่เห็นได้ชัดเจน คือ การจัดหลักสูตรสาระท้องถิ่นที่จะตอบสนองวิถีชีวิต วิธีคิด วัฒนธรรม ที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด ซึ่งภาครัฐยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร” คณบดีคณะครุศาสตร์กล่าวเพิ่มเติม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกศรี ระบุว่า ส่วนปัญหา “แปะเจี๊ยะ” ทางด้านการศึกษา เราจะต้องยอมรับว่า มันมีอยู่จริงในสังคม แต่เราละเลยที่จะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาถกปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็มาจากคุณภาพการศึกษาที่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในสถานการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญ และเร่งพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
“ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชน จนน่าเป็นห่วง และการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นระดับการศึกษาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากการศึกษาในระดับดังกล่าวจะเป็นตัวชี้วัดแนวทางของผู้ได้รับการศึกษา ว่า จะเดินไปทางใด จะศึกษาต่อด้านใด ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานมีระยะเวลายาวนาน หากผู้ศึกษาได้รับการศึกษาในคุณภาพต่ำ ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้อย่างแน่นอน ซึ่งปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาดังกล่าวมาโดยตลอด
ทั้งนี้ หากข้ามมาพูดถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัยแล้ว สถานบันการศึกษาในพื้นที่ต้องจับมือกันทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และกลับมาพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกศรี กล่าว