xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันพระปกเกล้า-ม.นราธิวาสฯ ทำยุทธศาสตร์การศึกษายื่น ศอ.บต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานและรับผลการจัดทำยุทธศาสตร์มาพิจารณาใช้กับเยาวชนใน 3 จชต. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบ
ปัตตานี - สถาบันพระปกเกล้าเสนอให้จัดทำยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่ที่เหมาะสมเพื่อเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ด้านเลขาฯ ศอ.บต.หนุนแนวคิดจัดการศึกษาใหม่ชี้แก้ปัญหาความไม่สงบได้ในระยะยาว

วันนี้ (8 ก.พ.) สถาบันพระปกเกล้าโดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 3 ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้หัวข้อ “สันติวิธีบนวิถีเยาวชน” ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

โดยมีผู้เข้าร่วมเวที อาทิ เยาวชนในพื้นที่ อุสตาส ครูโรงเรียนใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ และภาคประชาสังคม โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต) เป็นประธานเปิดงาน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวยอมรับว่า ปัญหาความไม่ใช่ชัดเจนในเรื่องยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐบาล และประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งในการแก้ไขปัญหา คือ เรื่องของการศึกษาและเยาวชน และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ตนจะต้องดำเนินการ เปิดโอกาสและมีพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเข้ามาจัดระบบการศึกษา ทั้งนี้ ศอ.บต.ต้องการให้การระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนของสถาบันพระปกเกล้าในครั้งนี้จัดทำเป็นยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาเสนอต่อ ศอ.บต.เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

“หะยีดาโอ๊ ท่าน้ำ ให้ความเห็นผมว่า ในประเทศมาเลเซียเคยมีกลุ่มหัวรุนแรงใช้วัยรุ่นเป็นเครื่องมือ แต่รัฐบาลมาเลย์ได้ดึงเยาวชนกลับมา ดังนั้น ชัยชนะในการต่อสู้กับการก่อความไม่สงบส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจึงเป็นกลุ่มเยาวชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นผู้บริหารโรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนั้น ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม นักศึกษาหลักสูตรฯ กล่าวว่า ความเห็นของตัวแทนจากทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า ระบบการศึกษาในพื้นที่มีความเป็นอัตลักษณ์และวิถีของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

ขณะที่หน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดมีหลายหน่วยงาน และไม่มีการเชื่อมโยกัน ทำให้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นจึงควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่และเยาวชนมาใช้

“การระดมความคิดเห็นจากเยาวชนครู อุสตาซในพื้นที่พบว่ามีความต้องการให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ และมีคุณภาพได้มาตรฐาน จะทำอย่างไรให้เยาวชนได้รับการศึกษามีความเป็นเลิศทั้งในด้านการศึกษาสามัญสามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ” ดร.สุนทรียา กล่าวต่อและว่า

ส่วนการศึกษาด้านศาสนาไปถึงจุดสูงสุดเทียบได้กับระดับสากลในประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงการศึกษาด้านวิชาชีพ หากมียุทธศาสตร์ด้านการศึกษาใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องตรงกับความต้องการของเยาวชนในพื้นที่ ท้ายที่สุดของเยาวชนในพื้นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสันติวิธีได้ ที่เรียกว่า “สันติวิธีบนวิถีเยาวชน”

ดร.สุนทรียา กล่าวว่า หลังจากนี้นักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 3 สถาบันพระปกเกล้าจะมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ศึกษาและเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้อีกครั้งที่กรุงเทพ รวมถึงข้อมูลจากการระดมความคิดเห็นจากเวทีในวันนี้จะถูกรวบรวม และสรุปเพื่อนำเสนอเป็นยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาต่อ ศอ.บต.และรัฐบาลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น