ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา พร้อม ผอ.หลักสูตรแก้ขัดแย้ง ส.พระปกเกล้าฯ และ “โคทม” ยื่นหนังสือเปิดผนึก ชี้ ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมจัดการน้ำทุกระดับ แนะทำประชาเสวนาหาคนกลางคุยปรองดอง แก้ รธน.เพิ่มหมวดสมานฉันท์ หนุนผู้นำบริหาร, นิติบัญญัติ ถกร่วมโต๊ะ ชงตั้งคณะกรรมการศึกษาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น.นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา พร้อมด้วย นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรแก้ปัญหาความขัดแย้งสถาบันพระปกเกล้า นายโคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกข้อเสนอ เรื่อง การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดองที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วม ต่อ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย
นายไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เสนอรัฐบาลถึงการจัดการน้ำ โดยเห็นว่า ประชาชนทุกพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม มีความเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับย่อยท้องถิ่นไปจนถึงขนาดกลาง หรือระดับลุ่มน้ำ ระบบขนาดใหญ่ คือ ทั้งประเทศ และระบบใหญ่มาก คือ การเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในระดับข้ามชาติ หรือนานาชาติ และน่าจะมีคณะกรรมการระดับชาติ มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นพ.วันชัย กล่าวว่า เรามายื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพราะอยากเห็นความปรองดองที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดจากกระบวนการที่ถูกต้อง คือ “ประชาเสวนา” โดยมีคนกลางเข้ามา ไม่ใช่เอาแต่มาสุมหัวชี้หน้าด่ากัน โดยรูปแบบนี้เราได้ทำมาแล้วหลายจังหวัดได้ผลเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยความสมานฉันท์ใส่เอาไว้ด้วยดีหรือไม่ เพราะน่าจะเป็นนโยบายที่ใครก็แล้วแต่ขึ้นมาบริหารประเทศได้เรียนรู้ ทุกวันนี้เราพูดกันมากแต่ความเข้าใจต่างกัน เมื่อทำเรื่องใดๆ ขึ้นมาก็จะเอียงไปเอียงมา ดังนั้น ถ้ามีเครื่องมือเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องมือประชาธิปไตยที่ดีกว่าประชาพิจารณ์
“ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกิดจากความไม่เข้าใจ เสนอกันคนละทิศละทาง จึงควรจะมีคณะกรรมการวิจัยค้นคว้าพร้อมงบประมาณสนับสนุนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ถ้ามีตรงนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการเฉพาะกิจใดๆ เวลานี้เอะอะอะไรก็ชุมนุมปิดถนนจนเป็นแฟชั่น ก็ควรให้ผู้มีอำนาจมานั่งฟังปัญหาเสียก่อน” นพ.วันชัย กล่าว
นายโคทม กล่าวว่า การปรองดองหลายฝ่ายต้องแสวงหาจุดร่วม โดยนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ควรแสดงตัวอย่างด้วยการมานั่งพูดคุยกัน สำหรับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ อยากให้มีการเน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ศึกษาหาแนวทางให้คนในจังหวัดจัดการตนเอง และน่าจะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นคณะกรรมการอิสระ และรัฐบาลควรสนับสนุนการพูดคุยกับผู้มีความเห็นต่าง และให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องจริงจัง