xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ยหนุนจีดีพี6%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ด กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3% เหตุความเสี่ยงการขยายตัวของเศรษฐกิจกดดันมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ประกาศยืนเป้าหมายจีดีพีไทยอยู่ที่ 6% พร้อมยึดนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย-รับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กนง.วานนี้ (13มิ.ย.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3%ต่อปี เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยปัจจัยหลักเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงของปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป จึงควรดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก
“เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งเราก็ปรับให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัว 0.7% จากเดิมหดตัว 0.5% ในกรณีทั่วไป และอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐและเอเชียที่ลดลงโดยรวม ส่วนเงินเฟ้อขณะนี้ทุเลาลงและคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งเงินเฟ้อทั้งปียังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงติดลบ 0.3% ฉะนั้น ความกังวลการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดก็ไม่มีความจำเป็นและควรสงวนกระสุนนโยบายไว้ใช้ในยามจำเป็นดีกว่า”
ทั้งนี้ ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ บอร์ด กนง.และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) จะประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก เพื่อประเมินสถานการณ์ จุดเสี่ยงหรือส่วนที่ต้องพึ่งระวัง รวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางนโยบายในการดูแล และย้ำว่าขณะนี้สภาพคล่องเงินบาทในประเทศยังเพียงพอต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของประเทศ
อย่างไรก็ตาม กนง.เห็นว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ต่างจากเดิม แม้ช่วงไตรมาสแรกอัตราการขยายตัวสูงขึ้นกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นที่มีผลตรงกันข้าม เช่น เศรษฐกิจโลกชัดเจนว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไม่มากกว่าเดิม การเบิกจ่ายเงินภาครัฐน้อยกว่าคาดการณ์เดิม อุปสงค์ในประเทศภาคเอกชนก็คงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจจะชะลอลงบ้าง แต่โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ คือ 6%
"วิกฤตในยุโรปอาจจะส่งผลต่อไทยหลายช่องทางทั้งทางการเงินที่อาจส่งผลให้สภาพคล่องเงินดอลลาร์ที่กู้ยืมกันอาจเหือดแห้งไปบ้าง ตลาดการเงินให้มีความผันผวนจากเงินทุนไหลเข้าออก หรือเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อช่องทางการค้าระหว่างประเทศ ถือว่าระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงกัน จึงควรใช้เครื่องมือและผสมผสานนโยบาย" นายไพบูลย์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น